WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

35ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงไร้ปัจจัยหนุน,คาดหวังโอเปกยืดเวลาลดผลิตน้ำมันสะท้อนราคาแล้ว

     นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับลดลง ไร้ปัจจัยบวกหนุนเพิ่ม ขณะที่ความคาดหวังกลุ่มโอเปกจะขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกนั้น ได้สะท้อนในราคาน้ำมันไปแล้ว ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐก็คงจะมีแนวโน้มปรับขึ้น หลังจากเมื่อวานนี้การเปิดเผยรายงานประชุมประจำเดือนพ.ค.ของเฟด ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายประเทศในขณะนี้ยังสร้าง Sentiment เชิงลบต่อตลาดด้วย พร้อมมองแนวรับที่บริเวณ 1,550 จุด และแนวต้านที่ 1,570 จุด

     นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะปรับลดลง เพราะปัจจัยแวดล้อมส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้งความคาดหวังว่าที่ประชุมของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปกในวันนี้จะขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกนั้นก็ได้สะท้อนในราคาน้ำมันไปแล้ว ทำให้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันอยู่ในอัตราที่ช้าลง ท่ามกลางภาวะที่ตลาดยังกังวลว่าสหรัฐฯจะนำน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ออกมาขายนั้น จะเป็นการสกัดกั้นการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน

      นอกจากนี้ แนวโน้มสหรัฐฯคงจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังเมื่อวานนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC)ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค. ซึ่งกรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ขณะนี้ ยังทำให้ตลาดตีความในเชิงลบต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

พร้อมให้แนวรับบริเวณ 1,550 จุด และแนวต้านที่ 1,570 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

    - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (24 พ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,012.42 จุด เพิ่มขึ้น 74.51 จุด (+0.36%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,163.02 จุด เพิ่มขึ้น 24.31 จุด (+0.40%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,404.39 จุด เพิ่มขึ้น 5.97 จุด (+0.25%)

    - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 5.77 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 8.74 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 82.96 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 15.49 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 8.15 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 0.06 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 3.29 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 7.99 จุด

      - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (24 พ.ค.60) 1,566.15 จุด เพิ่มขึ้น 1.46 จุด (+0.09%)

     - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 104.18 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 พ.ค.60

      - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (24 พ.ค.60) ปิดที่ 51.36 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 11 เซนต์ หรือ 0.2%

      - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (24 พ.ค.60) ที่ 5.95 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

      - เงินบาทเปิด 34.29 เหตุดอลลาร์อ่อนค่า หลัง FOMC ส่งสัญญานขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาด

      - รมว.คมนาคม เผยผลการหารือรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 18 เมื่อวานนี้ ได้ข้อสรุปถึงแนวทางเดินหน้าโครงการแล้ว เหลือเพียงรายละเอียดด้านเทคนิคที่ต้องหารือต่อไป โดยฝ่ายจีนอยากให้เร่งรัดเสนอโครงการต่อรัฐบาล คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอโครงการรถไฟไทย-จีน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

     - กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

     - ธปท.ชี้กรณีที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับลดเครดิตเงินหยวนของจีนว่า ในส่วนของผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ในประมาณการเดิม ธปท.ได้คำนึงถึงปัจจัยนี้ไว้แล้ว โดยปี 2560 ได้ประมาณการเศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.5% และในปี 2561 ขยายตัวลดลงเหลือ 6.2% คือมีการคำนึงถึงความเสี่ยงนี้ไว้แล้ว คิดว่าไม่ต้องปรับอะไรเพิ่มเติม เพราะ ธปท.มองไปในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยที่พิจารณาคือความล่าช้าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการจัดการปัญหาหนี้ของจีน

    - เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ปลดล็อกกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทุนจะทำให้มีภาคเอกชนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีประมาณ 30 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561

*หุ้นเด่นวันนี้

      - DTAC (ทรีนีตี้) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 50 บาท มองนำคลื่นความถี่ของ TOT มาใช้งานได้ 60% ของความจุคิดเป็น Bandwidth ประมาณ 35 MHz ช่วยลดความกังวลเรื่องขาดแคลนคลื่น ทำให้หลังจากหมดสัญญาสัมปทานในปีหน้าบริษัทจะยังคงมี Bandwidth ให้บริการได้ถึง 50 MHz ใกล้เคียงคู่แข่งอย่าง ADVANC และ TRUE ที่มีคลื่นอยู่ 55 MHz ดังนั้น น่าจะเห็นประสิทธิภาพบริการเพิ่มขึ้น และช่วยลดแรงกดดันแข่งขันประมูลคลื่นปีหน้า ทำให้ราคาแข่งขันปีหน้าไม่น่ารุนแรงเท่ากับครั้งที่ผ่านมา

      สำหรับราคาต้นทุน 4,510 ล้านบาทนั้น จะส่งผลกดดันต่อผลประกอบการในปี 61 เนื่องจากสัญญาสัมปทานนั้นจะหมดอายุลง ก.ย.61 ดังนั้นบริษัทยังคงมีภาระของต้นทุนสัมปทานในช่วง 9 เดือนแรกปี 61 แต่หลังจากหมดสัมปทานแล้วบริษัทจะลดภาระค่าตัดจำหน่ายปีละ 10,000 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้ที่จะลดลงอีกกว่า 7,000 ล้านบาท คาดผลงานจะ Turnaround ในปี 62

     - LIT (ไอร่า) ให้ราคาเป้าหมาย 15.30 บาท คาดกำไรสุทธิปี 60 ที่ 144 ล้านบาท โต 43% จากโครงการลงทุนภาครัฐกระตุ้นความต้องการสินเชื่อ การเข้มงวดของธนาคารโดยเฉพาะ SME ลูกค้าเป้าหมายของ LIT รวมถึงการประมูลงานภาครัฐที่เปลี่ยนจาก E-Auction เป็น E-Bidding ช่วย SME มีโอกาสได้งานรัฐมากขึ้น การปรับ Product MIX หันไปเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อกลางน้ำ เช่น Project Finance ให้ Yield เฉลี่ย 16-18% ต่อปี สูงกว่าสินเชื่อต้นน้ำ เช่น Factoring ให้ Yield เฉลี่ยเพียง 10-14% และ ต้นทุนการเงิน (CoF) ลดลงหลังออก LIT-W1 ช่วยลดแรงกดดันจากดอกเบี้ยขาขึ้น

    - STA (ธนชาต) แนะ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 25 บาท คาดกำไรจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 288 ล้านบาทในปี 60 จากที่มีผลขาดทุน 758 ล้านบาทในปี 59 ปัจจัยผลักดันสำคัญคือปริมาณขายโต 3% และราคาขายเพิ่มขึ้น 14% (ราคา SICOM เฉลี่ยอยู่ที่ US$1,380 ในปี 59 และ US$1,900 ในช่วง YTD) คาดกำไรจะเติบโตก้าวกระโดดมาที่ 1.4 พันล้านบาทในปี 61 จากปริมาณขายโต 16% จากการขยายกำลังผลิต ราคาขายเพิ่มขึ้น 9% และกำไร 600 ล้านบาทจากถือหุ้นธุรกิจถุงมือยางมากขึ้น (90% จาก 40%)

ตลาดหุ้นเอเชียบวกเช้านี้ ขานรับรายงานการประชุมเฟด

      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในเช้าวันนี้ ตามทิศทางของตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังจากรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟด

     ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 25,511.46 จุด เพิ่มขึ้น 82.96 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,059.91 จุด เพิ่มขึ้น 15.49 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,325.49 จุด เพิ่มขึ้น 8.15 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,231.30 จุด เพิ่มขึ้น 0.06 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,774.30 จุด เพิ่มขึ้น 3.29 จุด ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,737.21 จุด ลดลง 5.77 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,055.34 จุด ลดลง 8.74 จุด,

    ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

     รายงานการประชุมระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเมื่อเร็วๆนี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว และการชะลอตัวของตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคก็เกิดจากปัจจัยชั่วคราวเช่นกัน ทั้งนี้ เฟดคาดว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคจะฟื้นตัวขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ตัวเลขการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รายได้และความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

     นอกจากนี้ รายงานการประชุมในครั้งนี้ยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ กรรมการเฟดเกือบทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่า เฟดควรจะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ในปีนี้

     นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า รายงานการประชุมครั้งล่าสุดของเฟดนับเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 29.61 จุด หลังตลาดซึมซับข้อมูลผลประกอบการบริษัทหลายแห่ง

      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนบวกเมื่อคืนนี้ (24 พ.ค.) สวนทางกับตลาดหุ้นหลายแห่งในยุโรปที่ปรับตัวลงเป็นส่วนใหญ่ โดยนักลงทุนได้คลายความผิดหวังจากข้อมูลผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง รวมถึงการที่มูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ได้ประกาศหั่นเครดิตของจีนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี

     ดัชนี FTSE 100 เพิ่มขึ้น 29.61 จุด หรือ +0.40% ปิดที่ 7,514.90 จุด

    นักวิเคราะห์ตลาดจากลอนดอน แคปิตอล กรุ๊ป ระบุว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากการที่สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มบริษัทข้ามชาติปรับตัวขึ้น และสกัดปัจจัยลบจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ และคิงฟิชเชอร์

   ทั้งนี้ ค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.2932 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2961 ดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ก่อนหน้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน

     หุ้นมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ผู้ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ปิดขยับขึ้น 1.5% หลังจากร่วงลงอย่างหนักในช่วงแรก หลังบริษัทเผยผลกำไรตลอดทั้งปีร่วงลงสู่ระดับ 117.1 ล้านปอนด์ จากระดับ 406.9 ล้านปอนด์ ในปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากยอดขายที่ซบเซาของเสื้อผ้าและสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร

     หุ้นคิงฟิชเชอร์ ร่วง 7% หลังบริษัทเผยยอดขายในไตรมาสแรก หดตัวลง 0.6% สืบเนื่องจากยอดขายที่อ่อนแอในฝรั่งเศส

     นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังกล่าวเสริมด้วยว่า "ความตื่นตระหนกของนักลงทุนเกี่ยวกับข่าวที่จีนถูกมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ลดอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของจีน ลง 1 ขั้น สู่ระดับ A1 จากระดับ Aa3 นั้น ได้คลี่คลายลงในระหว่างวัน โดยที่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อข้อมูลเศรษฐกิจของจีน ดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา

     หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ขยับขึ้น 0.9% หุ้นแอนโตฟากาสต้า ปรับตัวขึ้น 0.4% และหุ้นแองโกล อเมริกัน เพิ่มขึ้น 0.8%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อย ก่อนเฟดเผยรายงานการประชุม

     ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (24 พ.ค.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะทราบรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบาย (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยรายงานการประชุมภายหลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการไปแล้ว

     ดัชนี Stoxx Europe 600 ขยับขึ้น 0.1% ปิดที่ 392.37 จุด

      ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,514.90 จุด เพิ่มขึ้น 29.61 จุด หรือ +0.40% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,642.87 จุด ลดลง 16.28 จุด หรือ -0.13% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,341.34 จุด ลดลง 6.82 จุด หรือ -0.13%

     ตลาดหุ้ยุโรปได้รับแรงหนุนหลังจากนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า เศรษฐกิจในระดับมหภาคของยุโรปกำลังปรับตัวดีขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่เฟดจะเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค. โดยตลาดมีการคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า เฟดอาจจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและอาจจะระบุถึงแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟด

     นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศของจีนลงสู่ระดับ A1 จากระดับ Aa3 โดยระบุว่า ตัวเลขหนี้สินของจีนจะปรับตัวขึ้นอีกในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนนำมาใช้อย่างต่อเนื่องนั้น จะส่งผลให้หนี้สินของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ

      หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลง โดยหุ้นเฟรสนิลโล ลดลง 0.4% หุ้นริโอทินโต ลดลง 0.5% หุ้นโบลิเดน ลดลง 0.3% และหุ้นนอร์ค ไฮโดร ปรับตัวลง 0.2%

     หุ้นกลุ่มรถยนต์ปรับตัวลงเช่นกัน โดยหุ้นเฟียต ไครส์เลอร์ ออโตโมบิล ร่วงลง 0.6% และหุ้นเดมเลอร์ เอจี ดิ่งลง 1.6%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดบวก 74.51 จุด ขานรับรายงานประชุมเฟด

     ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 พ.ค.) หลังจากรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟด

     ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,012.42 จุด เพิ่มขึ้น 74.51 จุด หรือ +0.36% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,404.39 จุด เพิ่มขึ้น 5.97 จุด หรือ +0.25% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,163.02 จุด เพิ่มขึ้น 24.31 จุด หรือ +0.40%

    ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ หากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

     รายงานการประชุมระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเมื่อเร็วๆนี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว และการชะลอตัวของตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคก็เกิดจากปัจจัยชั่วคราวเช่นกัน ทั้งนี้ เฟดคาดว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคจะฟื้นตัวขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ตัวเลขการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รายได้และความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

     นอกจากนี้ รายงานการประชุมในครั้งนี้ยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ กรรมการเฟดเกือบทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่า เฟดควรจะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ในปีนี้

    นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า รายงานการประชุมครั้งล่าสุดของเฟดนับเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.

   อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน หลังจากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของจีนลงสู่ระดับ A1 จากระดับ Aa3 รวมทั้งปัจจัยลบจากรายงานของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ซึ่งระบุว่า ยอดขายบ้านมือสองร่วงลง 2.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 5.57 ล้านยูนิต มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.1%

   หุ้นโลว์ ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์สำหรับบ้าน ร่วงลง 3% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรกที่ระดับ 1.03 ดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.06 ดอลลาร์ ส่วนรายได้ 1.686 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.696 หมื่นล้านดอลลาร์

     หุ้นทิฟฟานี แอนด์ โค ผู้จำหน่ายเครื่องประดับรายใหญ่ ร่วงลง 8.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายที่ลดลงมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ในไตรมาสแรก

    หุ้น Nvidia ดีดตัวขึ้น 1.1% หลังจากบริษัทซอฟต์แบงค์ของญี่ปุ่นได้เข้าซื้อหุ้นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ใน Nvidia

     นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดุลการค้าเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1 (ประมาณการครั้งที่ 2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

 อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!