WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET22ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งตัวกรอบจำกัด จับตาประชุมเฟด-งบการเงินบจ.-ทิศทางลงทุนต่างชาติ

      นักวิเคราะห์ฯคาดดัชนีหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวในกรอบจำกัด หลังหลายปัจจัยยังไม่นิ่งและยังต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันอังคารและวันพุธนี้ โดยคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ รวมถึงยังต้องจับตาการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/60 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย และทิศทางการลงทุนของต่างชาติ แม้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจะมียอดซื้อสุทธิค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการทำรายการบิ๊กล็อตของหุ้นบมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ขณะที่ต่างชาติยังเปิดสถานะ short ในฟิวเจอร์ส โดยมองดัชนีมีแนวรับบริเวณ 1,558 และ 1,553 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,570 จุด

     นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยวันนี้ จะแกว่งตัวทั้งแดนบวกและลบในกรอบจำกัด หลังปัจจัยต่างประเทศยังไม่นิ่งและนักลงทุนต่างรอดูการประชุมเฟดในวันอังคารและวันพุธนี้(2-3 พ.ค.) ซึ่งคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ ขณะที่ทางฝั่งยุโรปนั้น เศรษฐกิจของอังกฤษในไตรมาส 1/60 ขยายตัว 0.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และทางฝรั่งเศส ยังต้องรอดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.นี้

      สำหรับ ภายในประเทศก็ยังต้องติดตามเรื่องการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/60 ของบจ.ที่เริ่มออกมาในช่วงนี้ แม้ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่จะประกาศผลประกอบการออกมาดีแต่ก็ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาเฉพาะตัวเท่านั้น รวมถึงยังต้องติดตามทิศทางการลงทุนของต่างชาติ หลังเมื่อวันศุกร์ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมากถึง 3.7 พันล้านบาท แต่ส่วนหนึ่งมาจากการทำบิ๊กล็อตของหุ้น BH ด้วย ขณะที่ต่างชาติยังเปิดสถานะ short ในฟิวเจอร์ส

      ทั้งนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ยังไม่นิ่งทำให้ภาพการเคลื่อนไหวของดัชนีน่าจะยังแกว่งตัวทั้งแดนบวกและลบ รอดูปัจจัยที่จะเข้ามา ทำให้นักลงทุนอาจจะรอการย่อตัวของตลาดหรือเข้าซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยมองแนวรับบริเวณ 1,558 และ 1,553 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,570 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

        - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (1 พ.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,913.46 จุด ลดลง 27.05 จุด (-0.13%),  ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,091.60 จุด เพิ่มขึ้น 44.00 จุด (+0.73%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,388.33 จุด เพิ่มขึ้น 4.13 จุด (+0.17%)

       - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 25.20 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 7.43 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 158.67 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 54.44 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 8.17 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 7.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 1.10 จุด

       - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (28 เม.ย.60) 1,566.32 จุด ลดลง 0.45 จุด (-0.03%)

       - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,701.93 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 เม.ย.60

       - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (1 พ.ค.60) ปิดที่ 48.84 ดอลลาร์/บาร์เรล  ลดลง 49 เซนต์ หรือ 1%

       - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 พ.ค.60) ที่ 6.48 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

       - เงินบาทเปิด 34.56/60 จับตาตัวเลขเศรษฐกิจยุโรป-ประชุมเฟด-Non Farm Payroll

        คมนาคมเตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า ของบเพิ่ม 3.4 แสนล้านบาท ขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ปี 61 เดินหน้ามอเตอร์เวย์ 2 สาย ปรับปรุงสนามบินภูมิภาค 4 แห่ง รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม เล็งพัฒนา 28 ท่าอากาศยานภูมิภาคด้วย

       - พาณิชย์เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย. เท่ากับ 100.49 สูงขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับ เม.ย.ปี 59 นับเป็นการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ตั้งแต่เดือน เม.ย.59 ที่เริ่มเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ 0.07% หลังจากติดลบ 15 เดือน แต่อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง จากที่เคยขึ้นสูงถึง 1.55% เมื่อ ม.ค.60 แล้วลดลงมาอยู่ที่ 1.44% ในเดือน ก.พ. และ 0.76% ในเดือน มี.ค.

       - แบงก์ชาติชี้ธุรกิจไทยแห่ลงทุนต่างประเทศ เพิ่มเผยปี 59 มูลค่าลงทุนพุ่ง 6.4 แสนล้านบาท โต 24% ส่วนใหญ่เน้นไปสหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน ด้านตลาดหลักทรัพย์ เผยบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มลงทุนนอกต่อเนื่อง ดันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศพุ่ง 46% ขณะ "ไทยพาณิชย์" ระบุมูลค่าลงทุนเอกชนไทยที่ไปต่างประเทศแซงหน้าการลงทุนในประเทศแล้ว มองแนวโน้มยังออกไปลงทุนต่อเนื่อง

        - ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เดินหน้าตุนที่ดิน แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประเมิน 2 ปี ราคาพุ่ง 2 เท่า ระบุ "ดีมานด์-ซัพพลาย" ไม่ชัดเจน หวั่นซ้ำรอยสายสีม่วง รอจังหวะลงทุน ชี้เทรนด์ "คอนโดโลว์ไรส์" มาแรง

        - รมว.คลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวมีการขยายตัวเพิ่ม ผลักดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังคาดว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโต 3.6% แต่การเติบโตกระจุกตัว ทางด้านฐานรากยังไม่ดีนัก ซึ่งรัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือหลังจากลงทะเบียนคนจนแล้วเสร็จ

      - กบง.เคาะราคาแอลพีจีงวด พ.ค.60 ลด 0.47 บาท/กก. ส่งผลราคาค้าปลีกถูกลง 7 บาทต่อถัง 15 กก. สะท้อนราคาตลาดโลกยังต่ำ 72.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มองเดือนหน้ายังลดต่อเนื่อง

*หุ้นเด่นวันนี้

      - GGC เข้าซื้อขายใน SET วันแรก  หลังจากขายหุ้น IPO จำนวน 246,666,700 หุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกินซึ่งยืมจาก บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จำนวน 37,000,000 หุ้น รวม 283,666,700 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 11.20 บาท โดย GGC เป็นบริษัทย่อยของ PTTGC ทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ คือ เมทิลเอสเทอร์ (ไบโอดีเซล) แฟตตี้แอลกอฮอล์  กลีเซอรีนบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้หลายประเภท ปัจจุบัน GGC มีรายได้หลักราว 60% มาจากธุรกิจไบโอดีเซล และ 40% มาจากแฟตตี้แอลกอฮอล์

     - IVL (ทรีนีตี้) แนะ"ซื้อ"ราคาเป้าหมาย 47.50 บาท แม้คาด Q1/60 กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,655 ล้านบาท -2% qoq, -35% yoy แต่ถ้าไม่นับรวมกำไรพิเศษ กำไรปกติ -10% qoq, +217% yoy โดย Core EBITDA อยู่ที่ 85.6 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจ PET ที่มีต้นทุนจาก PTA ที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ Feedstock ยังคงมีอัตรากำไรที่ดี แต่ยังแนะนำซื้อด้วยธุรกิจ Polyester กลับเข้าสู่ขาขึ้นอย่างชัดเจน ,ส่วนต่าง PTA-Px ทำจุดสูงสุดในรอบ 17 ปี ,Vertical Integration  และ HVA ช่วยลดความผันผวนของอัตรากำไร และยังมี Upside 4.10 บาท/หุ้น จากสมมติฐานปรับลดภาษีนิติบุคคลในสหรัฐ

      - MC (ธนชาต) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 22 บาท ผลโรดโชว์สิงคโปร์ 24-25 เม.ย.นักลงทุนให้ความสนใจจำนวนมาก สนใจกลยุทธ์ทางธุรกิจและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยหนุนกำไร โดยมองว่ากำลังเข้าสู่รอบการเติบโตใหม่ แม้ใน Q1/60 การบริโภคจะอ่อนแอ แต่ MC คาดกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัว เนื่องจากการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกแคมเปญการตลาด โปรโมชั่นการขาย และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ โดย MC ตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายปี 60 ที่ 12-15%  มีสาขาใหม่ 25 สาขา อัตรากำไรขึ้นต้นที่ 54-55% และอัตราส่วน SG&A/Sales ที่ 35% ซึ่งคาดว่า EPS จะเติบโตเฉลี่ยที่ 15% ในปี 60-62

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นเช้านี้ ขานรับดัชนี NASDAQ ทำนิวไฮ

      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ ขานรับดัชนี NASDAQ ทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อคืน โดยได้ปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ตลาดยังขานรับรายงานข่าวที่ว่า แกนนำในสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณบริหารประเทศจนสิ้นสุดปีงบประมาณปัจจุบันในวันที่ 30 ก.ย. โดยคาดว่าทางสภาคองเกรสจะลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวในสัปดาห์นี้

       ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,335.72 จุด เพิ่มขึ้น 25.20 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,773.80 จุด เพิ่มขึ้น 158.67 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,926.44 จุด เพิ่มขึ้น 54.44 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,213.61 จุด เพิ่มขึ้น 8.17 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,183.43 จุด เพิ่มขึ้น 7.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,769.16 จุด เพิ่มขึ้น 1.10 จุด

      นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : หุ้นบาร์เคลย์ร่วงหนัก ฉุดฟุตซี่ปิดลบ 33.23 จุด

        ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลดลงในวันศุกร์ (28 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนเม.ย. โดยหุ้นบาร์เคลย์ร่วงลงอย่างหนัก แม้ธนาคารเปิดเผยผลกำไรที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าก็ตาม ด้านรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ พุ่ง หลังรายงานผลประกอบการ ซึ่งธนาคารสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ในรอบกว่าหนึ่งปี

       ดัชนี FTSE 100 ลดลง 33.23 จุด หรือ -0.46% ปิดที่ 7,203.94 จุด ขณะที่ปรับตัวขึ้น 1.3% ตลอดสัปดาห์ และปรับตัวลง 1.6% ในเดือนเม.ย.

      บาร์เคลย์ เปิดเผยว่าผลกำไรก่อนหักภาษีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พุ่งขึ้นแตะ 1.682 พันล้านปอนด์ จาก 793 ล้านปอนด์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์ผิดหวังกับผลการดำเนินงานในส่วนของวาณิชธนกิจของบาร์เคลย์ ส่งผลให้หุ้นของธนาคารดิ่งลงถึง 5.22%

      ด้านหุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ (RBS) พุ่ง 4.74% หลังธนาคารรายงานกำไรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสามของปี 2558 โดยอาร์บีเอสเผยว่ามีกำไร 259 ล้านปอนด์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2560 เทียบกับที่ขาดทุน 968 ล้านปอนด์ในปีที่แล้ว

      ขณะเดียวกันปัจจัยหนึ่งที่ถ่วงให้ดัชนีหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงในวันศุกร์คือ การแข็งค่าของเงินปอนด์ โดยเงินปอนด์ทรงตัวอยู่ได้แม้หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่ขยายตัวช้ากว่าคาดก็ตาม

     สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 0.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 หรือในรอบหนึ่งปี

     สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงนั้น เป็นเพราะภาคบริการที่อ่อนแรงลง โดยขยายตัวเพียง 0.3% ในช่วงสามเดือนแรกปีนี้ จาก 0.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

     อย่างไรก็ดี เงินปอนด์ยังสามารถพยุงตัวแข็งค่าอยู่ได้ แม้ตัวเลขจีดีพีออกมาอ่อนแรง โดยเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แตะที่ 1.2945 ดอลลาร์ และทรงตัวเมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.1876 ยูโร

      เงินปอนด์ที่ทะยานขึ้นกว่า 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงเดือนนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงในเดือนเม.ย. เนื่องจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอังกฤษ

      ทั้งนี้ เงินยูโรได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุด โดยยูโรสแตทเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนดีดตัวสู่ระดับ 1.9% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.8% และนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่กำหนดให้เงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2%

     ก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนร่วงลงแตะ 1.5% ในเดือนมี.ค. จาก 2.0% ในเดือนก.พ.

      สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน แตะระดับ 1.2% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.7% ในเดือนที่แล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย. เป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2556

     ขณะที่ราคาทองแดงที่ปรับตัวขึ้นได้ช่วยหนุนหุ้นบริษัทเหมืองแร่ โดยอันโตฟากัสตาบวก 2.38% และ บีเอชพี บิลลิตัน บวก 1.86%

      ด้านหุ้นตัวอื่นๆนั้น หุ้นวิลเลียม มอร์ริสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต บวก 2.35% หุ้นอินเตอร์เนชั่นแนล คอนโซลิเดเต็ด แอร์ไลน์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของบริติช แอร์เวย์ บวก 2.10%

    หุ้นเมดิคลินิก อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วง 4.42% หุ้นรอยัล เมล ร่วงลง 3.92% หุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลดลง 2.71% และหุ้นฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ ลบ 1.99%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ ขณะยูโรแข็งค่าหลังเงินเฟ้อยูโรโซนพุ่งเกินคาด

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นวันที่สองในวันศุกร์ (28 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการซื้อขายในเดือนเม.ย. โดยภาวะการซื้อขายได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินยูโรและเงินปอนด์ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซนและอังกฤษ

       ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.70 จุด หรือ -0.18% ปิดที่ 387.09 จุด

       ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,267.33 จุด ลดลง 4.37 จุด หรือ -0.08% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,438.01 จุด ลดลง 5.78 จุด หรือ -0.05% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,203.94 จุด ลดลง 33.23 จุด หรือ -0.46%

      สำหรับ ทั้งสัปดาห์ ดัชนีหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น 2.4% โดยได้แรงหนุนจากผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรก ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลที่ว่าฝรั่งเศสจะเจริญรอยตามสหราชอาณาจักรในการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า Frexit

       ขณะที่ในรอบเดือนเม.ย.นั้น ดัชนีหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น 1.6%

       ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปวันศุกร์ได้รับแรงกดดันจากค่าเงินยูโรที่ปรับตัวขึ้น 0.2% แตะ 1.0949 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น 0.3% แตะที่ 1.2945 ดอลลาร์

       เงินยูโรแข็งค่าขึ้น หลังสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในยูโรโซนพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนเม.ย.

       ยูโรสแตทเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนดีดตัวสู่ระดับ 1.9% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.8% และนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่กำหนดให้เงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2%

       ก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนร่วงลงแตะ 1.5% ในเดือนมี.ค. จาก 2.0% ในเดือนก.พ.

       ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน แตะระดับ 1.2% ในเดือนเม.ย. จากระดับ 0.7% ในเดือนที่แล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย. เป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2556

       ด้านเงินปอนด์ยังสามารถพยุงตัวแข็งค่าอยู่ได้ แม้ตัวเลขจีดีพีออกมาอ่อนแรง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากที่ขยายตัว 0.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 หรือในรอบหนึ่งปี

      สำหรับ สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงนั้น เป็นเพราะภาคบริการที่อ่อนแรงลง โดยขยายตัวเพียง 0.3% ในช่วงสามเดือนแรกปีนี้ จาก 0.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

       ทั้งนี้ เงินยูโรและเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรในต่างประเทศของบรรดาบริษัทข้ามชาติของยุโรปและอังกฤษ

       นอกจากนี้ ในวันศุกร์ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆของประเทศในยุโรป ได้แก่ สำนักงานสถิติฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 0.4%

       การที่เศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่การขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำนั้นเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ทำความร้อนลดลง ขณะที่ตัวเลขภาคการส่งออกก็ปรับตัวลงเช่นกัน

       นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของฝรั่งเศสชะลอตัวกว่าคาดการณ์นั้น ยังมีผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจากขณะนี้ฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สอง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.นี้

       ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือนมี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า

      อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว ยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% เนื่องจากเดือนมี.ค.ปีนี้มีวันจับจ่ายใช้สอยมากกว่าเดือนมี.ค. 2559

      ในส่วนของความเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจ ธนาคารบาร์เคลย์ ของอังกฤษ เปิดเผยว่าผลกำไรก่อนหักภาษีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พุ่งขึ้นแตะ 1.682 พันล้านปอนด์ จาก 793 ล้านปอนด์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์ผิดหวังกับผลการดำเนินงานในส่วนของวาณิชธนกิจของบาร์เคลย์ ส่งผลให้หุ้นของธนาคารดิ่งลงถึง 5.2%

      ด้านหุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ (RBS) พุ่ง 4.7% หลังธนาคารรายงานกำไรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสามของปี 2558 โดยอาร์บีเอสเผยว่ามีกำไร 259 ล้านปอนด์ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2560 เทียบกับที่ขาดทุน 968 ล้านปอนด์ในปีที่แล้ว

     หุ้นยูบีเอส บวก 2.1% หลังธนาคารสัญชาติสวิสรายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาดการณ์ จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจวาณิชธนกิจและการบริหารความมั่งคั่ง

      ทั้งนี้ ตลาดหุ้นของประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจะปิดทำการในวันจันทร์นี้ เนื่องในวันแรงงานสากล ขณะที่ตลาดหุ้นลอนดอนปิดทำการซื้อขายวันจันทร์ เนื่องในวันหยุดธนาคาร

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 27.05 จุด หลังสหรัฐเผยข้อมูลศก.ซบเซา

      ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (1 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างที่หดตัวลงในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน จากข่าวที่ว่าบรรดาแกนนำในสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณบริหารประเทศจนสิ้นสุดปีงบประมาณปัจจุบันในวันที่ 30 ก.ย. ขณะที่ดัชนี NASDAQ ทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงหุ้นแอปเปิล อิงค์ที่ทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ก่อนที่ทางบริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,913.46 จุด ลดลง 27.05 จุด หรือ -0.13% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,388.33 จุด เพิ่มขึ้น 4.13 จุด หรือ +0.17% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 6,091.60 จุด เพิ่มขึ้น 44.00 จุด หรือ +0.73%

      ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดในแดนลบ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐ ลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค. สู่ระดับ 1.218 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากผลกระทบจากการปรับตัวลงของการก่อสร้างโครงการที่ไม่ใช่เพื่อที่อยู่อาศัย และโครงการก่อสร้างของรัฐบาล

      ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.2016  และเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2015

      ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรก และดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2011 หลังจากขยับขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ.

      ด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.8 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 57.2 ในเดือนมี.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 56.4

      หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 1.3% ขณะที่หุ้นโฮม ดีโปท์ ดิ่งลง 1.2% โดยการปรับตัวลงของหุ้นทั้งสองตัวนี้ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนลบ

       อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน จากรายงานข่าวที่ว่า แกนนำในสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณบริหารประเทศจนสิ้นสุดปีงบประมาณปัจจุบันในวันที่ 30 ก.ย. โดยคาดว่าทางสภาคองเกรสจะลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวในสัปดาห์นี้

      ดัชนี NASDAQ ทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นแอปเปิลปิดตลาดพุ่งขึ้น 2.1% หลังจากที่ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ระดับ 147.20 ดอลลาร์ในระหว่างวัน โดยนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นแอปเปิลอย่างคึกคักก่อนที่ทางบริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

     ส่วนหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มเทคโนโลยีนั้น หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 1.4% หุ้นเฟซบุ๊ก ดีดตัวขึ้น 1.3% ก่อนที่เฟซบุ๊กจะเปิดเผยผลประกอบการในวันพรุ่งนี้

      หุ้นเน็ตฟลิกซ์ พุ่งขึ้น 2.1% ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 155.35 ดอลลาร์ ขณะที่หุ้นอเมซอน พุ่งขึ้น 2.5% และปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 948.43 ดอลลาร์

       นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันอังคารและวันพุธนี้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ พร้อมกับจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมเฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

       นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!