- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Thursday, 23 March 2017 12:20
- Hits: 4686
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่ง Sideway up รอความชัดเจนนโยบายภาษีของทรัมป์,ต่างชาติซื้อ 4 วันซ้อนหนุนตลาด
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่ง Sideway up โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เพื่อรอดูความชัดเจนหลายอย่าง อย่างเรื่องนโยบายด้านภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งขณะนี้คนก็เริ่มไม่แน่ใจแล้ว ทำให้เริ่มมีการ take profit ออกมา
นอกจากนี้ ยังต้องรอดูการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ด้วย ว่าจะมีการส่งสัญญาณในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติได้กลับมาซื้อติดต่อกันถึง 4 วันแล้ว ทำให้ช่วยหนุนหุ้นขนาดใหญ่ไม่ปรับตัวลงแรง ดังนั้นตลาดฯก็คงจะปรับฐานไม่แรง ขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็ยืนได้แถว 48 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเริ่มมีการสร้างฐาน ดังนั้นอาจเห็นการกลับตัวก็ได้
อีกทั้ง สัปดาห์หน้ายังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 มี.ค.ที่จะต้องติดตาม โดยดูว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย หรือลดอัตราดอกเบี้ย เพราะขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากไป อีกทั้งยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในสัปดาห์หน้าด้วย
พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,560-1,573 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (22 มี.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,661.30 จุด ลดลง 6.71 จุด (-0.03%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,821.64 จุด เพิ่มขึ้น 27.81 จุด (+0.48%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,348.45 จุด เพิ่มขึ้น 4.43 จุด (+0.19%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 7.46 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 0.59 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 60.63 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ ลดลง 0.69 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 5.79 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 6.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 2.36 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (22 มี.ค.60) 1,566.66 จุด ลดลง 2.12 จุด (-0.14%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 66.41 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (22 มี.ค.60) ปิดที่ 48.04 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.4%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (22 มี.ค.60) ที่ 6.28 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.59 มองกรอบ 34.55-34.65 จับตาสุนทรพจน์ปธ.เฟด-"อเมริกันเฮลธ์แคร์"
- คมนาคม ทบทวนแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูง "กรุงเทพ-ระยอง" แอร์พอร์ตลิงก์ "พญาไท-ดอนเมือง" เผย EEC เคาะให้เป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน เพื่อบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงสุด เชื่อม 3 สนามบินไร้รอยต่อ ด้าน "พิชิต" สรุปปรับแบบรถไฟทางคู่ "จิระ-ขอนแก่น" ยกระดับช่วงสถานีบ้านไผ่ ค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 896 ล้านบาท ด้านซูเปอร์บอร์ดฯ แบ่งทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 สาย เป็น 13 สัญญา หวังเปิดทางรายกลางลงสนามประมูลได้มากขึ้น
- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.พ. 2560 มีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.76% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากรวมการส่งออก 2 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) ยังเพิ่มขึ้น 2.49% มูลค่า 3.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความเห็นร่วมกันให้แก้สัญญาทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 สาย โดยจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบต่อไป เพื่อรฟท.จะได้ทำร่างทีโออาร์ใหม่และยกเลิกทีโออาร์ของเดิม
- ธปท.ยอมรับแบงก์ส่วนใหญ่ยังมีนโยบายปิดสาขามากกว่าตั้งแต่ปีก่อนรองรับไลฟ์สไตล์ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและบริหารต้นทุนดีขึ้น พบปรับขนาดสาขาและหมุนพนักงานทำงานหลากหลายขึ้น ย้ำมีการติดตามการปรับตัวแบงก์ การดูแลลูกค้า-พนักงานอย่างใกล้ชิด
*หุ้นเด่นวันนี้
- MTLS (เคจีไอ) เป้า 40 บาท ประเมินกำไรปี 2560–61 โตเด่นเฉลี่ยปีละ 45% CAGR จากการขยายสาขาเชิงรุกปีละ 600 สาขา จนถึงเป้าหมาย 4 พันสาขาในปี 2563 พร้อมประเมินการหมดภาระผ่อนชำระหนี้รถคันแรกจะเป็น Catalyst ที่หนุนการเติบโตของสินเชื่อทะเบียนรถ สำหรับประเด็นเรื่องต้นทุนการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ในประมาณการฯแล้ว (คาด Credit cost ปี 2560 – 61 = 180bps และ 200bps ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 145bps ในปี 2559) แต่การเติบโตที่โดดเด่นของรายได้ที่โดดเด่นกว่า ทำให้คาดกำไรยังโตเด่นถึง 45% CAGR (2559 – 61)
- TPCH (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 23 บาท เป็นหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนที่มีกำไรโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม โดยคาดกำไรปีนี้ +72% Y-Y ปีหน้า +76% Y-Y จากโรงไฟฟ้าที่ทยอย COD ส่วนแนวโน้มกำไร 1Q60 จะ new high จากโรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน (9.2MW, TPCH ถือ 65%) ที่ผลิตเต็มไตรมาส ส่วนโรงไฟฟ้าพัทลุงกรีนพาวเวอร์ จะเริ่ม COD กลาง เม.ย.
- GPSC (ธนชาต) เป้า 42 บาท แม้คาดการณ์กำไรปี 2560 จะขยายตัวต่ำ +2.2% จากราคาก๊าซปรับสูงขึ้น, ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทลูกลดลง แต่สะท้อนไปในราคาหุ้นที่ปรับลดลงไปแล้ว มองเป็นโอกาส “ซื้อ" จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มึ้นระหว่าง 2560-2561 รวม 580MW หนุนกำไรกลับมาขยายตัว 21-12% ในปี 2561-2562
- TRC (โกลเบล็ก) "ซื้อ"เป้า 1.75 บาท ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้ปี 60 ที่ 8 พันล้านบาท เติบโต 114%YoY (รับรู้รายได้จาก Backlog 3 พันล้านบาทและ APOT 5 พันล้านบาท) หากสามารถลงนามสัญญาก่อสร้าง APOT ได้ทันในไตรมาส 3/60 ฝ่ายวิจัยมีมุมมองว่าบริษัทจะสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างกับ APOT ได้ในไตรมาส 3/60 เนื่องจากกระทรวงการคลังกำลังเพิ่มทุนเข้ามาที่ APOT ซึ่งเป็นการปลดล็อกการทำธุรกรรมกับธนาคาร โดยคาดว่าปี 60 กำไรจะเติบโต 75%YoY สู่ระดับ 529 ล้านบาท แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มปรับตัวลงสู่ 12-15% เนื่องจากงาน APOT มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่างานในปัจจุบัน
ตลาดหุ้นเอเชียบวกเพียงเล็กน้อย เหตุวิตกนโยบาย ทรัมป์ ล่าช้า
ตลาดหุ้นเอเชียบวกเพียงเล็กน้อยในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจล่าช้าออกไป หลังจากที่เขาประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงสนับสนุนของสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสในการยกเลิกโครงการ "โอบามา แคร์"
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,048.84 จุด เพิ่มขึ้น 7.46 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,245.81 จุด เพิ่มขึ้น 0.59 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,381.04 จุด เพิ่มขึ้น 60.63 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,921.97 จุด ลดลง 0.69 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,174.09 จุด เพิ่มขึ้น 5.79 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,125.18 จุด เพิ่มขึ้น 6.99 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,750.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.36 จุด
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเตรียมลงมติต่อร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" แทน "โอบามาแคร์" ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่ตลาดกังวลว่าความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" จะส่งผลกระทบทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ทรัมป์ เช่น การปฏิรูปภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบ และการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค ต้องล่าช้าออกไป
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: แรงเทขายหุ้นแบงก์ฉุดฟุตซี่ปิดร่วง 53.62 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) จากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลงกันถ้วนหน้า เนื่องจากนักลงทุนเกิดความวิตกว่า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจประสบความล่าช้า
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 53.62 จุด, -0.73% ปิดที่ 7,324.72 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้ได้รับแรงกดดันจากการเทขายของนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนเกิดความวิตกในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการปฏิรูปของปธน.ทรัมป์ หลังจากที่เขาประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงสนับสนุนของสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสในการยกเลิกโครงการ "โอบามา แคร์"
นอกจากนี้ นักลงทุนยังหันมาประเมินภาพรวมของนโยบายการเงินของอังกฤษใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานว่า เงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งขึ้นสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ BoE
ขณะที่นักวิเคราะห์ตลาดมองว่า เหตุการณ์โจมตีใกล้กับอาคารรัฐสภาอังกฤษในช่วงบ่ายวานนี้ ไม่ได้สร้างปฏิกิริยาตื่นตระหนกในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงลอนดอนยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 40 ราย จากเหตุการณ์ที่มีผู้ขับรถยนต์พุ่งเข้าใส่ฝูงชนบนสะพานเวสต์มินสเตอร์เมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ได้เกิดเหตุกราดยิงด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน
หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลง โดยหุ้นบาร์เคลย์ส ร่วงลง 2.4% หุ้นเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ลดลง 1.2% หุ้นลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ลดลง 1.6% หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ลดลง 1.3% และหุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ขยับลง 0.9%
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ เหตุหุ้นแบงก์ร่วง,วิตกนโยบายทรัมป์
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) จากความวิตกกังวลที่ว่า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจประสบความล่าช้า นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.4% ปิดที่ 374.03 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,994.70 จุด ลดลง 7.73 จุด หรือ -0.15% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,904.12 จุด ลดลง 58.01 จุด หรือ -0.48% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,324.72 จุด ลดลง 53.62 จุด หรือ -0.73%
นักลงทุนวิตกกังวลว่าการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลของปธน.ทรัมป์อาจล่าช้าออกไป หลังจากที่เขาประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงสนับสนุนของสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสในการยกเลิกโครงการ"โอบามา แคร์"
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเตรียมลงมติต่อร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" แทน "โอบามาแคร์" ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่ตลาดกังวลว่าความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" จะส่งผลกระทบทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ทรัมป์ เช่น การปฏิรูปภาษี, การผ่อนคลายกฎระเบียบ และการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค ต้องล่าช้าออกไป
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง โดยหุ้นดอยซ์แบงก์ ดิ่งลง 1.7% หุ้นเครดิต อากริโคล ปรับตัวลง 0.7% และหุ้นบาร์เคลย์ส ร่วงลง 2.7% ส่วนหุ้นไอเอ็นจี กรุ๊ป ร่วงลง 4% หลังจากมีรายงานว่า ไอเอ็นจีกำลังถูกทางการเยอรมนีตรวจสอบในคดีอาญาและข้อหาการติดสินบน
หุ้นเฟียต ไครส์เลอร์ ปรับตัวลง 0.6% หลังจากอัยการฝรั่งเศสเริ่มเปิดฉากการตรวจสอบกรณีการโกงค่าตรวจสอบไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 6.71 จุด วิตกนโยบายทรัมป์ล่าช้า
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจประสบความล่าช้าในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเขาเคยให้สัญญาไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐซึ่งปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ดัชนี NASDAQ ดีดตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,661.30 จุด ลดลง 6.71 จุด หรือ -0.03% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,821.64 จุด เพิ่มขึ้น 27.81 จุด หรือ +0.48% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,348.45 จุด เพิ่มขึ้น 4.43 จุด หรือ +0.19%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดอ่อนแรงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลของปธน.ทรัมป์อาจล่าช้าออกไป หลังจากที่เขาประสบปัญหาในการรวบรวมเสียงสนับสนุนของสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสในการยกเลิกโครงการ"โอบามา แคร์"
นักลงทุนจับตาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเตรียมลงมติต่อร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" แทน "โอบามาแคร์" ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่ตลาดกังวลว่าความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" จะส่งผลกระทบทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ทรัมป์ เช่น การปฏิรูปภาษี, การผ่อนคลายกฎระเบียบ และการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค ต้องล่าช้าออกไป
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ.ร่วงลง 3.7% สู่ระดับ 5.48 ล้านยูนิต ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลงเพียง 2% สู่ระดับ 5.57 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งสูง และสต็อกบ้านที่ลดต่ำลงเป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกัน
หุ้นไนกี้ ร่วงลง 7.1% หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ยอดขายในปีนี้ ขณะที่หุ้นเซียร์ โฮลดิ้งส์ ร่วงลง 12% หลังจากบริษัทปรับลดแนวโน้มผลประกอบการลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ดัชนี NASDAQ ปิดตลาดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นแอปเปิล และหุ้นไมโครซอฟท์ ปรับตัวขึ้นกว่า 1% หุ้นอะโดบี ซิสเต็มส์ เพิ่มขึ้น 1%
นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลา ในการประชุมภายใต้หัวข้อ "Strong Foundations: The Economic Futures of Kids and Communities" เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในปีนี้ หลังจากที่เฟดได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต
อินโฟเควสท์