WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET44ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงตามตลาดตปท. เหตุวิตกนโยบายทรัมป์อาจไม่เป็นไปตามคาด

     นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้าตามดัชนีดาวโจนส์ที่เมื่อคืนที่ผ่านมาปิดร่วงไปกว่า 200 จุด เป็นผลจากวิตกว่าแผนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะไม่เป็นไปตามที่คาด โดยให้จับตาเรื่องแผนดูแลสุขภาพ (Health care) ซึ่งนักลงทุนกังวลว่านโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และจะมีส่วนผลักดันให้หุ้นขึ้นได้ทั้งหมดนั้น จะเป็นไปตามที่คาดหรือไม่

      นอกจากนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกปิดเมื่อคืนนี้ก็ปรับตัวลงด้วย ส่วนปัจจัยในประเทศก็ไม่ได้มีอะไร พร้อมให้แนวรับ 1,550-1,557 จุด ส่วนแนวต้าน 1,571 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

      - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (21 มี.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,668.01 จุด ร่วงลง 237.85 จุด (-1.14%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,793.83 จุด ลดลง 107.70 จุด (-1.82%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,344.02 จุด ลดลง 29.45 จุด (-1.24%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ ลดลง 309.26 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ ลดลง 15.39 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ ลดลง 256.79 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ ลดลง 60.53 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ ลดลง 18.41 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ ลดลง 30.31 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ ลดลง 6.92 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ ลดลง 22.85 จุด

     - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (21 มี.ค.60) 1,568.78 จุด เพิ่มขึ้น 5.24 จุด (+0.34%)

     - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,584.10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 มี.ค.60

     - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (21 มี.ค.60) ปิดที่ 47.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 88 เซนต์ หรือ 1.8%

      - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (21 มี.ค.60) ที่ 5.71 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

      - เงินบาทเปิด 34.77 แนวโน้มอ่อนค่าตามทิศทางภูมิภาค นักลงทุนกังวลนโยบายเศรษฐกิจ"ทรัมป์"

      - ครม.ไฟเขียวแก้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฤษฎีกาปรับแก้อัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า เริ่มเก็บที่ 2% เพิ่ม 0.5% ทุก 3 ปี มีเพดานสูงสุด 5% ชี้รัฐ-เอกชน พบกันครึ่งทาง เปิดโอกาสครอบครองที่ดินพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้อำนาจ รมว.คลังออกพ.ร.ฎ.บรรเทาภาษีได้สูงสุด 90% นายกฯเร่งกฎหมาย หวังแก้เหลื่อมล้ำ คาดเริ่มเก็บภาษีปี 2562

                - กกพ.ยอมรับค่าไฟงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.60) ขึ้นแน่ แม้มีหลายปัจจัยทำให้ต้นทุนลดทั้งค่าบาทแข็ง ใช้ไฟเพิ่ม แต่ต้นทุนหลักก๊าซฯขึ้น ส่วนพลังงานทดแทนทั้งปีดันค่าไฟขยับมากกว่า 21 สต./หน่วยหลังเข้าระบบเพิ่ม"สนพ."จับมือทุกส่วนรับมือ 9 วันอันตราย ก๊าซฯเมียนมาหยุดจ่าย 25 มีนาคม-2 เมษายน 2560 แนะประชาชนลดใช้ไฟ

                - ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย.นี้ คาดว่านักท่องเที่ยวคนไทยจะเดินทางประมาณ 2.47 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 9.6% สร้างรายได้ 8,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 7,920 ล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางมาไทย 4.7 แสนคน เพิ่มขึ้น 10% สร้างรายได้ 8,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีที่ผ่านมา มีรายได้ 6,900 ล้านบาท โดยรวม 5 วัน การท่องเที่ยวมีเงินรายได้สะพัด 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

                - ครม.ไฟเขียวสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว วงเงิน 1,660 ล้านบาท ระยะเวลาเช่า 50 ปี คาดนักลงทุนเช่าหมดภายใน 5 ปี พาณิชย์เดินหน้า "แม่สอดโมเดล" จัดงานมหกรรมการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ผลักดันการค้า-ลงทุนเพิ่ม

*หุ้นเด่นวันนี้

                - ROBINS (ธนชาต) "ซื้อ"เป้า 76 บาท การขยายสาขาเป็น 56 สาขาภายในปี 2563 จากสิ้นปี 2559 ที่ 44สาขา, เพิ่มสินค้ามาร์จิ้นสูง และสัดส่วนยอดขาย house + international brand ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังมีมุมมองบวกต่อการเติบโตกำไร 18-20% ปี 2560-2561 โดย PE60 23.9x ต่ำกว่ากลุ่ม

                - TPCH (โกลเบล็ก) "ซื้อ"เป้า 23.40 บาท ปี 60 คาดกำไรโตขึ้นสู่ระดับ 363 ล้านบาท +80%YoY เนื่องจากรับรู้โรงไฟฟ้า MGP และ TSG เต็มปี นอกจากนี้คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง (PGP SGP กำลังการผลิตรวม 20 MW) ที่จะ COD ในไตรมาส 2/60 และไตรมาส 3/60 ตามลำดับเข้ามาช่วยหนุนผลประกอบการเพิ่มเติม ทั้งนี้ สามารถเติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง โดยคาดว่าจะ COD โรงไฟฟ้าเพิ่มในปี 61 อีก 4 แห่งกำลังการผลิตรวม 48 MW และในปี 62 คาดว่าจะ COD เพิ่มอีก 2 แห่งกำลังการผลิตรวม 33 MW อีกทั้งมีศักยภาพการในการเติบโตจากการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้า SPP HYBRID FIRM และ VSPP+SEMI FIRM รวม 589 MW บริษัทตั้งเป้าหมายชนะการประมูลราว 50 MW เข้ามาหนุนผลประกอบการในอนาคต

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ หลังดาวโจนส์ร่วงกว่า 200 จุด

   ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการบังคับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แผนการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ แผนปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชนชั้นกลาง และแผนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับภาคธุรกิจ

      ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 19,146.62 จุด ลดลง 309.26 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,246.22 จุด ลดลง 15.39 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,336.33 จุด ลดลง 256.79 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,911.96 จุด ลดลง 60.53 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,159.97 จุด ลดลง 18.41 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,128.26 จุด ลดลง 30.31 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,747.75 จุด ลดลง 6.92 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,300.46 จุด ลดลง 22.85 จุด

    นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดจะกล่าวสุนทรพจน์ในวันพรุ่งนี้ตามเวลาสหรัฐ ในการประชุมภายใต้หัวข้อ "Strong Foundations: The Economic Futures of Kids and Communities" เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในปีนี้

     ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค., ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ค่าเงินปอนด์พุ่งจากตัวเลขเงินเฟ้อฉุดฟุตซี่ปิดลบ 51.47 จุด

    ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (21 มี.ค.) จากแรงฉุดของค่าเงินปอนด์ที่ทะยานขึ้นเป็นอย่างมาก หลังรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)

    ดัชนี FTSE 100 ลดลง 51.47 จุด หรือ -0.69% ปิดที่ 7,378.34 จุด

     ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้ ได้รับปัจจัยลบจากการที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก โดยสกุลเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ที่ระดับ 1.2471 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อคืนนี้ ภายหลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้นแตะ 2.3% ในเดือนก.พ. จากระดับ 1.8% ในเดือนม.ค. โดยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว นับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2556 และสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษที่ 2% นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2556 ที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษอาจจะใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน

     นักวิเคราะห์ตลาดจากอินเตอร์เทรดเดอร์ กล่าวว่า "ตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับ 3% ภายในสิ้นปีนี้ และเราก็ไม่ควรนิ่งเฉยหรือไม่ดำเนินการอะไรเลย โดยรอจนกว่ากระบวนการเจรจา Brexit จะผ่านพ้นไปก่อนไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลเพื่อรับมือกับผลกระทบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น"

      ทั้งนี้ การที่ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ได้ก่อให้เกิดการคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อาจพิจารณาเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมจะเพิ่มสูงขึ้น

      อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารส่วนใหญ่ปรับตัวลงในช่วงบ่ายก่อนจะปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ขยับลง 0.7% หุ้นลอยด์ส แบงกิ้ง กรุ๊ป ขยับลง 0.8% หุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ลดลง 0.1% และหุ้นเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ ลดลง 0.6%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นแบงก์ร่วง ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ

     ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (21 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวลงในกรอบจำกัด เนื่องจากนักลงทุนขานรับผลสำรวจที่ระบุว่า นายเอมมานูเอล มาครอง ได้รับชัยชนะเหนือนางมารีน เลอเปน จากพรรค National Front (FN) ในการโต้วาทีเพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อวานนี้

      ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.5% ปิดที่ 375.67 จุด

      ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,002.43 จุด ลดลง 9.73 จุด หรือ -0.19% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,962.13 จุด ลดลง 90.77 จุด หรือ -0.75% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,378.34 จุด ลดลง 51.47 จุด หรือ -0.69%

       หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง นำโดยหุ้นดอยซ์แบงก์ซึ่งปรับตัวลง 6.9% หลังจากหดอยซ์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ประกาศเพิ่มทุน 8 พันล้านยูโร (8.5 พันล้านดอลลาร์) โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนของธนาคาร หลังจากที่ธนาคารได้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อยุติคดีความกับทางการสหรัฐและอังกฤษ

      อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน จากผลสำรวจซึ่งระบุว่า นายเอมมานูเอล มาครอง ได้รับชัยชนะเหนือนางมารีน เลอเปน ในการดีเบตเมื่อวานนี้

       การดีเบตเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้จัดขึ้นโดยมีการถ่ายถอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ โดยนางมารีน เลอเปน จากพรรค National Front (FN) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชูนโยบายประชานิยมขวาจัดและสนับสนุนให้ฝรั่งเศสแยกตัวจากสหภาพยุโรป ได้เน้นย้ำว่า เธอต้องการยุติปัญหาผู้อพยพในประเทศ พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากการขยายตัวของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และระบุด้วยว่า สถานการณ์ความมั่นคงในฝรั่งเศสขณะนี้อาจระเบิดได้ทุกเมื่อ

       ขณะที่นายมาครองได้กล่าวโจมตีว่า นางเลอเปนกำลังโกหกต่อบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงด้วยการบิดเบือนความจริง และระบุว่านางเลอเปนกำลังสร้างความแตกแยกขึ้นในประเทศ

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 237.85 จุด วิตกนโยบาย ทรัมป์ ไม่แน่นอน

    ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (21 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการบังคับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการปรับลดภาษี และการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ขณะที่นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป

     ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,668.01 จุด ร่วงลง 237.85 จุด หรือ -1.14% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,793.83 จุด ลดลง 107.70 จุด หรือ -1.82% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,344.02 จุด ลดลง 29.45 จุด หรือ -1.24%

       ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบติดต่อกัน 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการบังคับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แผนการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ แผนปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชนชั้นกลาง และแผนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับภาคธุรกิจ

     ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันกำลังผลักดันให้ร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์" นั้น ผ่านความเห็นชอบต่อรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ให้คำมั่นสัญญาในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งว่า จะยกเลิกกฎหมายโอบามาแคร์ และแทนที่ด้วยกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายกฎข้อบังคับจากกฎหมายโอบามาแคร์ พร้อมกรุยทางสู่ระบบบริการสุขภาพแห่งศตวรรษที่ 21

      ด้านสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) ออกรายงานเตือนว่า หากร่างกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์ถูกนำมาบังคับใช้แทนกฎหมายโอบามาแคร์ จะส่งผลให้ชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 24 ล้านคน

      กฎหมายโอบามาแคร์ได้กลายเป็นข้อถกเถียงในสหรัฐนับตั้งแต่ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลของโอบามาระบุว่า กฎหมายโอบามาแคร์ช่วยขยายการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมพลเมืองเพิ่มขึ้นกว่าหลายล้านคน ในขณะที่หลายฝ่ายได้แสดงมุมมองในด้านลบเนื่องจากเบี้ยประกันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีการใช้กฎหมายโอบามาแคร์

      หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลง หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐร่วงลงเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 5.8% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ดิ่งลง 2.9% หุ้นคีย์คอร์ป ดิ่งลง 6.5% และหุ้นฮันติงตัน แบงก์แชร์ส ร่วงลง 6.1%

      หุ้นแอปเปิลร่วงลง 1.15% หลังจากแอปเปิลประกาศเปิดตัว iPad เวอร์ชั่นใหม่ขนาด 9.7 นิ้ว และฟีเจอร์ใหม่สำหรับ iPhone 7 และ iPhone 7plus

       นักลงทุนจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดจะกล่าวสุนทรพจน์ในวันพรุ่งนี้ตามเวลาสหรัฐ ในการประชุมภายใต้หัวข้อ Strong Foundations: The Economic Futures of Kids and Communities’เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในปีนี้

      นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค., ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต

          อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!