WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET39ภาวะตลาดหุ้นไทย :  แนวโน้มดัชนีเช้านี้ลุ้นรีบาวด์ตามตลาดภูมิภาค แต่คงไม่ไปไกล เหตุหุ้นหลักยังถูกขาย

      นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ยังมีโอกาสที่จะรีบาวด์ได้ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคที่เช้านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนบวกเล็กน้อย แต่การรีบาวด์ก็คงจะไม่ไกลเนื่องจากหุ้นหลักยังถูกขายอยู่ โดยเมื่อวานนี้ทั้งนักลงทุนต่างชาติ และกองทุน ต่างก็ขาย และทำ Short กันมาก

     อย่างไรก็ดี ให้ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ว่าจะมีการส่งสัญญาณอะไรออกมาหรือไม่ และให้ติดตามนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนในประเทศก็ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการในปี 59ของบริษัทจดทะเบียนต่อไป โดยตลาดฯช่วงนี้ไม่ค่อยมีปัจจัยใหม่เข้ามา

       ทั้งนี้ นักลงทุนต่างรอดูจุดซื้อสำหรับการเล่นรีบาวด์ ซึ่งก็คงจะอาศัยตามสัญญาณทางเทคนิคเป็นหลัก พร้อมให้แนวรับ 1,571-1,558 จุด หากหลุดจะไปแนวรับที่ 1,546 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,586 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

                - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (31 ม.ค.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 19,864.09 จุด ร่วงลง 107.04 จุด (-0.54%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,614.79 จุด เพิ่มขึ้น 1.08 จุด (+0.02%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,278.87 จุด ลดลง 2.03 จุด (-0.09%)

                - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ ลดลง 114.37 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ ลดลง 148.90 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 7.74 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ ลดลง 0.86 จุด

                สำหรับตลาดหุ้นจีน, ตลาดหุ้นไต้หวัน ปิดทำการวันนี้เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ส่วนตลาดหุ้นมาเลเซีย ปิดทำการวันนี้เนื่องในวันประกาศอิสรภาพ (Federal Territory Day)

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (31 ม.ค.60) 1,577.31 จุด ลดลง 13.25 จุด (-0.83%)

                - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,191.52 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ม.ค.60

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (31 ม.ค.60) ปิดที่ 52.81 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 18 เซนต์ หรือ 0.3%

      - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (31 ม.ค.60) ที่ 6.52 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

        - เงินบาทเปิด 35.14 แข็งค่าตามภูมิภาคหลังดอลล์อ่อน กังวลนโยบาย"ทรัมป์"-จับตาผลประชุมเฟด

       - ธปท.เผยข้อมูลเศรษฐกิจ เดือน ธ.ค. และไตรมาส 4 ปี 2559 ออกมาดี มีการโตกระจายไปหลายภาคส่วน จากเดิมที่การใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แสดงถึงสัญญาณเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้น และน่าจะมีแรงขับเคลื่อนส่งมาถึงปีนี้ได้ด้วย ขณะที่ปี 59 ไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดประวัติการณ์ จับตาการลงทุน-บริโภคเอกชน รวมถึงท่องเที่ยว พบคนไทยหันถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่ม ทำให้มีเงินไหลออก 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

        - ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยจะปรับตัวอ่อนแอลงในปี 2560 หลังจากที่ผลการดำเนินงานในปี 2559 มีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (impaired loans) และอัตรากำไรที่ปรับตัวด้อยลงเล็กน้อย ทั้งนี้ การปรับตัวด้อยลง ดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมเป็นลบของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยที่ฟิทช์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า  แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกองทุนและอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญยังคงปรับตัวเข็งแกร่งขึ้นและน่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงอ่อนแอได้

         - กสทช.เตรียมแจกคูปองทีวีดิจิทัลล็อตใหม่ 3.9 ล้านใบ ตั้งแต่ 31 ม.ค.- 1 มี.ค. ให้สิทธิเฉพาะ 4 กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมทะเบียนบ้านชั่วคราวด้วย พร้อมเปลี่ยนระบบแลกเหลือใช้เพียงบัตรประชาชน

      - แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย( รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการว่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ติดตั้งระบบการเดินรถ 1 สถานี ระหว่างสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ว่า กระทรวงคมนาคมจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อลงนามในสัญญากับ BEM วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พร้อมกันนี้ รฟม.จะลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับเหมาที่ชนะการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) รวม 6 สัญญาด้วย

       - โตโยต้าฯเผย แนวโน้มตลาดรถยนต์ในไทยปี 60 คาดว่าจะมียอดขาย 800,000 คัน  หรือเพิ่มขึ้น 4.1% โดยมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากการครบกำหนด 5 ปี โครงการรถยนต์คันแรก รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ และการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากหลายค่ายรถยนต์ ส่วนยอดขายรถยนต์รวมในปี 59 อยู่ที่ 768,788 คัน ลดลง 3.9%

*หุ้นเด่นวันนี้

        - BIG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"ปรับราคาพื้นฐานขึ้นเป็น 6.90 บาทจากเดิม 5.55 บาท จากการ re-rate PE ขึ้นเป็น 25 เท่า ใกล้เคียงกลุ่มค้าปลีกสินค้า IT และเมื่อคิดเป็น PEG ยังอยู่ที่ 1 เท่า ไม่แพงเกินไป สำหรับแนวโน้มกำไร 4Q59 คาด +99% Q-Q, +26% Y-Y ทำให้ทั้งปีโตถึง 58% Y-Y และคาดกำไรปีนี้โตต่อเนื่อง 35% Y-Y

      - BBL (ฟินันเซีย ไซรัส) จาก Valuation ที่น่าสนใจ ราคาหุ้นต่ำกว่า Book value สิ้นปีนี้เกือบ 20% ขณะที่คาด Dividend yield 2.6% งวด 2H59 (4.50 บาท/หุ้น) งบดุลแข็งแกร่งมาก LTD ratio 90% เงินกองทุน 19% สูงสุดในกลุ่มแบงก์ใหญ่ ปรับกำไรปีนี้ขึ้น 4% เป็นโต 8% Y-Y ปรับราคาพื้นฐานขึ้นเป็น 210 บาท จาก 200 บาท

        - PTTGC (ไอร่า) เป้า 72.50 บาท คาดผลการดำเนินงานในช่วง 4Q/59 จะออกมาโดดเด่น จากค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับสูง โดยค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ในช่วง 4Q/59 อยู่ที่ 6.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นถึง 31% qoq รวมถึงราคาน้ำมันดิบในช่วง 4Q/59 เพิ่มสูงขึ้น 17% qoq มาอยู่ที่ 54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จาก 46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ณ ต้น 4Q/59 คาดส่งผลดีต่อ PTTGC ระยะสั้น คาดมีกำไรจากสต็อกน้ำมันประมาณ 2-3 พันล้านบาท แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคา HDPE ปรับขึ้นตาม ซึ่ง Spread ของ PTTGC จะดีขึ้นตามราคา HDPE ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสูตรที่รับซื้อก๊าซจาก PTT  อัตราการจ่ายเงินปันผลน่าสนใจอยู่ที่ 4.2%

      - COM7 (เคทีบี) "ซื้อ"เป้า 13.50 บาท คาดกำไรสุทธิช่วง 4Q59 ที่ประมาณ 119 ล้านบาท ทำ New High จากแรงหนุนการเปิดตัว iPhone 7 และมาตรการช็อปช่วยชาติ ส่งผลให้คาดกำไรสุทธิทั้งปี 2559 ที่ 379 ล้านบาท (+41.2% YoY) พร้อมคาดปี 2560 ยังคงเติบโตได้ดีจากการขยายสาขา นอกจากนี้ COM7 ยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นพาร์ทเนอร์กับทรู และการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ บางกอก เทเลคอม 999 ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิขึ้นเป็น 548 ล้านบาท จากเดิม 521 ล้านบาท และด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์จากบางกอกเทเลคอม 999 ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ครอบคลุมในทุกระดับ อีกทั้งเพิ่มความสามารถการต่อรองกับ supplier อีกด้วย จึงมองว่า COM7 ยังสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว

       - KBS (ยูโอบี เคย์เฮียน) คาดผลประกอบการปี 2560 พลิกฟื้นกลับมากำไรอย่างโดดเด่น จากขาดทุนในปี 58-59 เนื่องจากราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น 30%, การกลับมาดำเนินงานได้เต็มที่หลัง boiler ระเบิดไปในปีก่อน, กำไรจากเงินชดเชยการดำเนินงาน, กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าเติบโตดี และมี upside risk จากโรงหีบใหม่ปี 2561

       - หุ้นบมจ.สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง (SGF) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อระยะสั้นในรูปแบบเงินให้กู้ยืม และสินเชื่อแฟคเตอริ่ง จะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันนี้เป็นวันแรก หลังจากที่ถูกขึ้น SP ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.50 ขณะที่บริษัทได้พ้นเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของ SGF ในวันนี้ไม่มีราคาสูงสุดและต่ำสุด ขณะที่ราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 ส.ค.50 ที่ราคา 0.26 บาท/หุ้น

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ เหตุวิตกข้อมูลศก.สหรัฐ-นโยบาย ทรัมป์

      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามในคำสั่งเพื่อระงับการเข้าสหรัฐของพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิม

       ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 18,926.97 จุด ลดลง 114.37 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,211.88 จุด ลดลง 148.90 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,075.31 จุด เพิ่มขึ้น 7.74 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,045.94 จุด ลดลง 0.86 จุด

        สำหรับ ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นไต้หวันยังคงปิดทำการวันนี้เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ส่วนตลาดหุ้นมาเลเซียปิดทำการวันนี้เนื่องในวันประกาศอิสรภาพ (Federal Territory Day)

        นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 111.8 ในเดือนม.ค. หลังจากพุ่งแตะระดับ 113.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะแตะระดับ 113.0 ในเดือนม.ค.

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: เงินปอนด์แข็งค่าฉุดฟุตซี่ปิดลบ 19.33 จุด

         ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (31 ม.ค.) จากปัจจัยที่ค่าเงินปอนด์ทะยานขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นได้แรงหนุนบางส่วนจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ดัชนี FTSE 100 ปิดขยับลงเพียงเล็กน้อย

      ดัชนี FTSE 100 ลดลง 19.33 จุด หรือ 0.27% ปิดที่ 7,099.15 จุด

        ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อวานนี้มีปัจจัยลบจากการที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.1034% สู่ระดับ 1.2581 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2486 ดอลลาร์ในช่วงเย็นวันจันทร์ หลังจากที่ปรีกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลใหม่ของทรัมป์จะให้ความสำคัญในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้าที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ

       การที่เงินปอนด์แข็งค่าทำให้นักลงทุนเกิดความวิตก เนื่องจากได้ฉุดผลกำไรในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน

         หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากอานิสงส์การอ่อนค่าของดอลลาร์ โดยหุ้นแรนด์โกลด์ รีซอส พุ่ง 1.8% หุ้นเฟรสนิลโล ผู้ผลิตแร่มีค่า พุ่งขึ้น 2.8% และหุ้นแอนโตฟากาสตา พุ่งขึ้น 2.6%

        นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสแห่งลอนดอน แคปิตอล กรุ๊ป ระบุว่า "ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง"

        หุ้นกลุ่มพลังงานที่น่าจับตา หุ้นรอยัล ดัชท์ เชลล์ ลดลง 0.4% หลังบริษัทเปิดเผยว่าจะขายสินทรัพย์ส่วนหนึ่งในทะเลเหนือของอังกฤษให้แก่บริษัทไครรเซเออร์รวมมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกยูโรแข็งกระทบกำไรบริษัทส่งออก

       ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (31 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทส่งออกในยุโรป หลังจากสกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากที่ปรึกษาด้านการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาเยอรมนีว่ากำลังใช้ยูโรที่อ่อนค่าเกินความเป็นจริง เพื่อสร้างความได้เปรียบต่อสหรัฐ

       ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดลบ 0.7% แตะที่ 360.12 จุด

       ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,748.90 จุด ลดลง 35.74 จุด หรือ -0.75% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,535.31 จุด ร่วงลง 146.58 จุด หรือ -1.25% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,099.15 จุด ลดลง 19.33 จุด หรือ -0.27%

      ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทส่งออกในยุโรป โดยยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหัวหน้าสภาการค้าแห่งชาติสหรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สว่า  เยอรมนีกำลังใช้ยูโรที่อ่อนค่าเกินความเป็นจริง เพื่อสร้างความได้เปรียบต่อสหรัฐ และคู่ค้าในสหภาพยุโรป

     นายนาวาร์โรยังกล่าวด้วยว่า สกุลเงินยูโรมีบทบาทเหมือนสกุลเงินดอยช์มาร์คโดยปริยาย ซึ่งการมีมูลค่าต่ำได้ทำให้เยอรมนีมีความได้เปรียบเหนือคู่ค้าอื่นๆ พร้อมกับระบุว่า เยอรมนีคืออุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้การเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (TTIP) ต้องประสบความล้มเหลว

      หุ้นดอยซ์แบงก์ ร่วงลง 1.2% หลังจากสำนักงานกำกับสถาบันการเงินของอังกฤษ (FCA) ประกาศปรับธนาคารดอยซ์แบงก์เป็นเงินจำนวน 163 ล้านปอนด์ (204 ล้านดอลลาร์) ในข้อหาหละหลวมในการป้องกันการฟอกเงิน โดยค่าปรับดังกล่าวถือเป็นค่าปรับสถาบันการเงินของ FCA ที่มีวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์

        FCA ระบุว่า ดอยซ์แบงก์ทำให้ระบบการเงินของสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมทางการเงินในระหว่างเดือนม.ค.2012-เดือนธ.ค.2015 โดยลูกค้าของดอยซ์แบงก์หลายราย ซึ่งรวมถึง ธนาคารดีบี มอสโก ซึ่งเป็นธนาคารในเครือของดอยซ์แบงก์ในรัสเซีย ได้ทำการโอนเงินมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ออกจากรัสเซียไปยังบัญชีในต่างประเทศ ผ่านทางธนาคารดอยซ์แบงก์ในสหราชอาณาจักร

         หุ้นยูนิเครดิตร่วงลง 4% หลังจากธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการตลอดปี 2560

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 107.04 จุด วิตกนโยบายทรัมป์,ผลประกอบการอ่อนแอ

      ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (31 ม.ค.) โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งเพื่อระงับการเข้าสหรัฐของพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในเดือนม.ค.

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 19,864.09 จุด ร่วงลง 107.04 จุด หรือ -0.54% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,614.79 จุด เพิ่มขึ้น 1.08 จุด หรือ +0.02% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,278.87 จุด ลดลง 2.03 จุด หรือ -0.09%

     บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดในแดนลบติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อระงับการผ่านเข้าประเทศสหรัฐของพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิม ซึ่งได้แก่ ซีเรีย เยเมน ซูดาน โซมาเลีย อิรัก อิหร่าน และลิเบีย เป็นเวลา 90 วัน และห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐ เป็นเวลา 120 วัน

    คำสั่งดังกล่าวได้นำไปสู่การต่อต้านเป็นวงกว้าง ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐที่รวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะใช้ในการคัดค้านคำสั่งของทรัมป์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรมากความสามารถจากทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรของชาติที่ถูกแบนในครั้งนี้ด้วย

       นักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งให้ปลดนางซัลลี เยตส์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่นางเยตส์ได้ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของทรัมป์ และยังระบุว่าคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมผ่านมาเข้าประเทศสหรัฐนั้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

      นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ โดยบริษัทเอ็กซอน โมบิล คอร์ป เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 41 เซนต์/หุ้นในไตรมาส 4/2559 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 70 เซนต์/หุ้น ขณะที่รายได้อยู่ที่ 6.102 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.228 หมื่นล้านดอลลาร์

       ทางด้านยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส (ยูพีเอส) ซึ่งบริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยว่าบริษัทมีรายได้ 1.693 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.63 ดอลลาร์ ในไตรมาส 4/2559 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จะอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และกำไรต่อหุ้นจะอยู่ที่ 1.69 ดอลลาร์

      ทั้งนี้ หุ้นเอ็กซอน โมบิล ปิดตลาดร่วงลง 1.1%  และหุ้นยูพีเอส ดิ่งลง 6.8%

        หุ้นอันเดอร์ อาร์เมอร์ ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของสหรัฐ ทรุดฮวบลง 26% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่หุ้นฮาร์เลย์ เดวิดสัน ปรับตัวลง 1.5% เนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอเช่นกัน

      ส่วนหุ้นไฟเซอร์ อิงค์ ดีดตัวขึ้น 1.34% หลังจากบริษัทสามารถพลิกกลับมากำไรสุทธิ 775 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 หลังจากที่ขาดทุน 172 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปี 2015

     นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 111.8 ในเดือนม.ค. หลังจากพุ่งแตะระดับ 113.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะแตะระดับ 113.0 ในเดือนม.ค.

       นักลงทุนจับตาการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี

     ขณะเดียวกันนักลงทุนรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย ด้านนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นราว 165,000 - 170,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะเคลื่อนไหวที่ระดับต่ำกว่า 5%

       สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนม.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนธ.ค.

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!