WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET14 copyภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ซึมตัวปรับฐานต่อ,จับตาเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยหลังดอลลาร์ฯอ่อนค่า

     นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ซึมๆ อาจไม่ลงรุนแรงเพราะเมื่อวานเป็นการปรับฐานตาม Sell on Fact พอควรแล้ว แต่ก็คงไม่เห็นการปรับเพิ่มขึ้นรุนแรงเช่นกัน ปัจจัยที่ต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพราะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะขึ้นดอกเบี้ย

     ส่วนคืนนี้ที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะมีการเปิดเผยรายงานการประชุมของวันที่ 26-27 ก.ค. คาดว่าคงไม่มีอะไรมากเพราะแค่เป็นการรายงานผลการประชุมเฟดเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แต่จะมีความเห็นของประธานเฟด แต่จะสาขา เกี่ยวกับการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเปิดช่องให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าดอลลาร์อ่อนค่าแล้วขึ้นดอกเบี้ยจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

พร้อมให้กรอบแนวรับวันนี้ 1,532 และ 1,530 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

     - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (16 ส.ค.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 18,552.02 จุด ลดลง 84.03 จุด (-0.45%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,227.11 จุด ลดลง 34.91 จุด (-0.66%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,178.15 จุด ลดลง 12.00 จุด (-0.55%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 0.25 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 3.05 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 84.67 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 10.82 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 3.23 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 4.32 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 16.43 จุด ,ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 2.39 จุด

    - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (16 ส.ค.59) 1,546.43 จุด ลดลง 2.68 จุด (-0.17%)

     - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 911.44 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ส.ค.59

    - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (16 ส.ค.59) ปิดที่ 46.58 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 84 เซนต์ หรือ 1.8%

     - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (16 ส.ค.59) ที่ 3.28 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

     - เงินบาทเปิด 34.64/66 กลับมาอ่อนค่า หลังเฟดหลังส่งสัญญาณขึ้นดบ.ในก.ย.

     - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดูแลค่าบาท หวั่นแข็งค่าเร็วเกินไป กระทบภาคธุรกิจ-เศรษฐกิจ แนะบริหารความเสี่ยง ค่าเงิน ชี้มีโอกาสปรับทิศทางได้รวดเร็วตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

     - รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ หารือกระทรวงการคลังวางกรอบงบประมาณสมดุล สร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะ 7-8 ปี ส่งต่อเป็นแนวนโยบายบริหารเศรษฐกิจรัฐบาล ขณะที่ทีดีอาร์ไอหนุนวางกรอบการคลัง สร้าง ธรรมาภิบาล แนะทำแผนควบคู่ลดรายจ่าย 1,552.76 เพิ่มรายได้ ชี้ควรขึ้นแวตเป็น 10% ตัดลดรายจ่ายภาครัฐ สกัดการเมืองใช้ประชานิยม

     - จีนติด "ท็อป 25" ชาตินวัตกรรมชั้นนำโลกครั้งแรก หลังรัฐบาลทุ่มลงทุนด้านการศึกษา อาร์แอนด์ดี ขณะไทยอยู่อันดับ 52 จากทั้งหมด 128 ประเทศ  อินเดียพุ่ง 15 อันดับ สะท้อนตลาดเกิดใหม่มาแรงด้านนวัตกรรม ขณะที่เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม จัดอันดับ ความพร้อมด้านไอซีที ไทยสูงขึ้นจากอันดับ 67 เป็น 62 ขยับขึ้น 5 อันดับ

    - ธนารักษ์เสนอนายกฯใช้ม.44 ปลดล็อกเปิดเอกชน นำที่ดินนิคมฯ เขตเศรษฐกิจพิเศษแบ่งพื้นที่เช่าต่อได้ ขอยืดเวลายื่นซองประมูลจาก 60 เป็น 90 วัน เตรียมเสนอชื่อผู้ผ่านคัดเลือกพัฒนาพื้นที่จ.ตราด เข้าบอร์ดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

*หุ้นเด่นวันนี้

    - BDMS (ซีไอเอ็มบี)"ซื้อ" BDMS เป้า 25.50 บาท รายงานกำไรปกติ 2Q16 สอดคล้องกับประมาณการ(กำไรปกติ +9% yoy, -33% qoq) โดยรายได้ค่ารักษาพยาบาลเติบโต 5.3% yoy ซึ่งรายได้ที่เติบโต 4% yoy มาจากโรงพยาบาลเดิม ส่วนอีก 1% มาจากโรงพยาบาลใหม่ แต่หากแบ่งตามพื้นที่ เราพบว่ารายได้จากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้น 5% yoy และรายได้จากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 10% yoy ขณะเดียวกัน รายได้จากผู้ป่วยไทยเพิ่มขึ้น 6% และรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้น 4% yoy ทั้งนี้รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 29% ของรายได้รวมใน 2Q16 เทียบกับ 28% ใน 2Q15 เราเชื่อว่า BDMS มี downside จำกัดหลังราคาหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนผลกำไรที่ปรับลดลง qoq ไปแล้วดังนั้น เชื่อว่าราคาหุ้นจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงนี้ที่ตลาดเริ่มมีการปรับฐานลงและมาพักเงินในหุ้นปลอดภัยมากขึ้น

    - ERW (เออีซี)"ซื้อ"TP 6.60 บาท ช่วง 3Q59 คาดกำไรพลิกเป็นบวกหนุนด้วยจำนวนห้องพักและ OCC Rate ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วง 4Q59 คาดโตต่อหลังเข้าสู่ High Season และมีแผนเปิดโรงแรม 3 แห่ง หนุนปี 59 คาดกำไรปกติโต 78.1%YoY + Upside 37%

     - BJC(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ" เป้า 54 บาท กำไรสุทธิผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 2Q16 และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ 3Q16 เพราะค่าใช้จ่ายดีลซื้อ BIGC ลดลง ส่วนกำไรของ BIGC (BJC ถือ 98%) กลบภาระดอกเบี้ยจ่ายจนหมด และจะมีกำไรอัตราแลกเปลี่ยนราว 1 พันล้านบาท คาดกำไรสุทธิปีนี้ +43% Y-Y แต่ EPS -50% Y-Y จากการเพิ่มทุน แต่ EPS ปี 2017 จะโตก้าวกระโดด 105% Y-Y จาก Synergies ที่ได้จาก BIGC ทำให้ PE ปีหน้าเหลือ 25 เท่า ต่ำสุดในกลุ่ม Modern trade ราคาพื้นฐานปีหน้า 54 บาท มี upside มากสุดในกลุ่มเช่นกัน

ตลาดหุ้นเอเชียขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเช้านี้ หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดบ.เดือนหน้า

   ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในเช้าวันนี้ เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้า

   ดัชนี MSCI Asia Pacific บวก 0.1% แตะที่ 139.69 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.10 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,596.26 จุด ลดลง 0.25 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,106.99 จุด ลดลง 3.05 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 22,995.51 จุด เพิ่มขึ้น 84.67 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,121.18 จุด เพิ่มขึ้น 10.82 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,045.37 จุด ลดลง 2.39 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,855.57 จุด ลดลง 3.23 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,695.57 จุด ลดลง 4.32 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,999.81 จุด เพิ่มขึ้น 16.43 จุด

    ทั้งนี้ นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้

      ขณะที่นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่การจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางที่เหมาะสม

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 47.27 จุด หลังตัวเลขเงินเฟ้ออังกฤษพุ่ง

    ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 วันเมื่อคืนนี้ (16 ส.ค.) หลังข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ

    ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลง 47.27 จุด หรือ 0.68% แตะที่ 6,893.92 จุด

    ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินสกุลปอนด์ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยวานนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหราชอาณาจักรพุ่งขึ้น 0.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2014

  นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายปี

   นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับแรงกดดันจากการแสดงความเห็นของนายสก็อต คอร์เฟ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของอังกฤษ ที่ระบุว่า การทรุดตัวของค่าเงินปอนด์นับตั้งแต่ที่อังกฤษทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าพุ่งขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นสูงกว่า 2.5% ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

      หุ้นมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ กรุ๊ป และหุ้นอีซีเจ็ท ต่างก็ร่วงลงมากกว่า 2% และมีสัดส่วนสูงสุดในการฉุดดัชนี FTSE 100 ปรับตัวลงเมื่อคืนนี้

     หุ้นอันโตฟากัสตาพุ่งขึ้น 8.7% หลังรายงานว่า บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีปริมาณผลผลิตทองแดงเพิ่มขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : แรงขายหุ้นกลุ่มรถยนต์ ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (16 ส.ค.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงอย่างหนัก หลังจากมีรายงานว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐเตรียมดำเนินคดีอาญากับบริษัทโฟล์คสวาเกน อันเนื่องมาจากการโกงผลทดสอบการปล่อยมลพิษในรถยนต์ดีเซล

     ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.8% ปิดที่ 343.32 จุด

     ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,460.44 จุด ลดลง 37.42 จุด หรือ -0.83% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,676.65 จุด ลดลง 62.56 จุด หรือ -0.58% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,893.92 จุด ลดลง 47.27 จุด หรือ -0.68%

      หุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลง หลังจากมีรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเตรียมสืบสวนความผิดทางอาญากับบริษัทโฟล์คสวาเกน หลังพบหลักฐานการโกงผลทดสอบการปล่อยมลพิษในรถยนต์ดีเซล

     อัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐได้หารือเบื้องต้นกับทนายความของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติเยอรมนี และกำลังดำเนินการสืบสวนเพิ่มเติม โดยคาดว่าผลการสืบสวนครั้งนี้จะส่งผลให้โฟล์คสวาเกนต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์

     ทั้งนี้ หุ้นโฟล์คสวาเกนร่วงลง 1.7% หุ้นเรโนลท์ ดิ่งลง 3.2% หุ้นเปอร์โยต์ ร่วงลง 2.2% และหุ้นเฟี๊ยต ไคร์สเลอร์ ปรับตัวลง 1.7%

     นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป หรือ ZEW ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 7.3 จุด สู่ระดับ +0.5 จุด แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ +24.2 ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยในระยะยาว

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 84.03 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดบ.เดือนหน้า

    ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (16 ส.ค.) หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า นอกจากนี้ ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ได้ออกมาส่งสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน

    ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 18,552.02 จุด ลดลง 84.03 จุด หรือ -0.45% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,227.11 จุด ลดลง 34.91 จุด หรือ -0.66% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,178.15 จุด ลดลง 12.00 จุด หรือ -0.55%

    ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงหลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้

    นายดัดลีย์กล่าวว่า" เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงมีการสร้างงานเพิ่มมากขึ้น เรากำลังเข้าใกล้ถึงจุดที่มีความเหมาะสมที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย."

    ขณะที่นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่การจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางที่เหมาะสม

      หุ้นแอปเปิลได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า กองทุนโซรอส ฟันด์ เมเนจเมนท์ ของนายจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังได้ลดการถือครองหุ้นบริษัทแอปเปิล อิงค์ ซึ่งข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นแอปเปิลร่วงลงอย่างหนักในช่วงแรก

      อย่างไรก็ตาม หุ้นแอปเปิลปิดตลาดขยับลงเพียง 0.1% เพราะได้รับแรงหนุนในระหว่างวันจากข่าวที่ว่า บริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐ ได้ทุ่มซื้อหุ้นแอปเปิลจำนวนมากไว้ในพอร์ทในเดือนมิ.ย.

       หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ปรับตัวขึ้น 1% เนื่องจากแรงช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด หลังจากที่ราคาหุ้นบีเอชพีดิ่งลงในช่วงแรก อันเนื่องมาจากข่าวที่ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิ 6.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.

     หุ้นโฮม ดีโปท์ ปรับตัวลง 0.4% หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายเพิ่มขึ้น 5.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาด

     สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

     ขณะที่รายงานของเฟดระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2014 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3%

   นักลงทุนจับตารายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 26-27 ก.ค. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

  นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ ซึ่งนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด จะขึ้นกล่าวในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในปีที่แล้ว โดยอาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

       อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!