- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Monday, 06 June 2016 10:04
- Hits: 1402
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับขึ้นตามภูมิภาค เล็งกระแสเงินทุนไหลเข้าหลังคาดเฟดไม่รีบขึ้นดบ.
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวขึ้นได้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนบวก ภายหลังจากที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯออกมาค่อนข้างแย่ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง สวนทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงมีความคาดหวังว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามา
อย่างไรก็ดีให้ติดตามการปาฐกถาพิเศษของประธานเฟดในคืนนี้ เพื่อรอดูสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง พร้อมให้แนวรับ 1,430 จุด ส่วนแนวต้าน 1,440-1,450 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (3 มิ.ย.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,807.06 จุด ลดลง 31.50 จุด (-0.18%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,942.52 จุด ลดลง 28.84 จุด (-0.58%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,099.13 จุด ลดลง 6.13 จุด (-0.29%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ ลดลง 268.91 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 2.31 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 23.89 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 13.58 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ เพิ่มขึ้น 9.84 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ ลดลง 3.08 จุด
ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันรำลึกถึงวีรชนแห่งชาติ
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (3 มิ.ย.59) 1,436.43 จุด เพิ่มขึ้น 12.37 จุด (+0.87%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5,579.42 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (3 มิ.ย.59) ปิดที่ 48.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับตัวลง 55 เซนต์ หรือ 1.1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (3 มิ.ย.59) ที่ 5.03 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 35.38 คาดแข็งค่าหลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯกดดอลล์อ่อน
- นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาหลังจากกระทรวงการคลังได้เสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว
- วีซ่าเผยผลสำรวจการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรดันจีดีพีไทยเพิ่มขึ้น 1.13 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในทวีปเอเชีย หนุนนโยบายรัฐช่วยพัฒนาระบบให้เปิดกว้าง
- กกพ.จับตาบาทอ่อน-น้ำมันโลกขึ้น-เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แห่งที่จะหมดอายุสัมปทานจะทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง จนต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ดันค่าไฟพุ่ง
- รฟม.เปิดขายซองประกวดราคารถไฟฟ้า 3 สี ชมพู-เหลือง-ส้ม เดือน มิ.ย.นี้ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท มั่นใจสิ้นปีได้ตัวผู้รับเหมา เผยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแหล่งเงินกู้ ด้านแอร์พอร์ตลิงก์เดินหน้าปรับปรุงบริการ โละทิ้งรถเอ็กซ์เพรสไลน์ หันใช้รถธรรมดาแทน หวังรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
- นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยว่าปัจจุบันการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ดังนั้นมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) ได้ศึกษาผลกระทบการท่องเที่ยวที่มีต่อความต้องการใช้พลังงานทั้งด้านการใช้จ่ายและการใช้พลังงานของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาพักค้างในไทย พบว่าปี 58 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย 29.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20.4% เมื่อเทียบกับปี 57 และมีการใช้จ่าย 1,447,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4% เป็นการใช้จ่ายค่าโรงแรมที่พัก 26.2% ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 22.5% ค่ารถโดยสารและการเดินทาง 5.3% เป็นต้น
*หุ้นเด่นวันนี้
- VTE-W2 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE)) เทรดวันนี้วันแรก มีจำนวน 103,742,477 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ : 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาการใช้สิทธิ 8.00 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 3 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วันที่ 13 พฤษภาคม 2559) ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.00 บาทต่อหน่วย กำหนดวันใช้สิทธิครั้งแรก 31 ก.ค. 2561 ส่วนวันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 12 พ.ค. 2562
- TASCO (เคจีไอ) เป้า 46.2 บาท ยังคงประเมินแนวโน้มอัตรากำไรในไตรมาสที่เหลือของปียังเด่น แม้ราคาน้ำมันขณะนี้ปรับสูงขึ้น แต่ด้วยสัญญาซื้อขายน้ำมันในราคาพิเศษกับคู่ค้า ในขณะที่ราคาขายสินค้า (โดยเฉพาะสินค้าเกรดพรี่เมี่ยม) ที่ยังยืนสูงตามราคาน้ำมัน และ PE ปีนี้ต่ำเพียง 7.5 เท่า พร้อมประเมินรูปแบบราคา Sideway บีบกรอบแคบมีโอกาสรีบาวด์หากดีดพ้นแนวต้าน 25 บาทได้ ประเมินมีโอกาสทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 26.5 บาท และ 27.5 บาท (Stop loss 24 บาท) และรูปแบบราคารายสัปดาห์ MACD Bullish divergence
- KBANK (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อลงทุน"เป้า 194 บาท ยังเป็นธนาคารที่ชอบที่สุดในกลุ่ม แต่ต้องฝากความหวังไว้ที่การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในครึ่งปีหลังที่จะกระตุ้นสินเชื่อ ส่วนกำไร 2Q59 จะลดลงทั้ง Q-Q, Y-Y จาก NIM ที่ลดลงและการตั้งสำรองสูง เป็นผลกระทบทั้งอุตสาหกรรม แต่จุดเด่นของ KBANK คือ NIM, ROE ที่สูงสุดในกลุ่มแบงก์ใหญ่
- CK (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 40 บาท การได้งานเพิ่มในโครงการไซยะบุรีอีก 1.9 หมื่นล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ Backlog ของ CK เพิ่มเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท และยังมีการกลับรายการดอกเบี้ยจ่ายจากไซยะบุรีเข้ามาในงบฯไตรมาสละ 200 ล้านบาท เป็นบวกต่อกำไรถึงแม้จะเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดก็ตาม
- KCE (โกลเบล็ก) เป้า 91 บาท ปี 59 คาดกำไรก้าวกระโดดเป็น 2,792 ล้านบาท +24%YoY จากการเปิดใช้โรงงานใหม่เฟส 2 ตั้งแต่ 1Q59 ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและสามารถผลิตสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ประโยชน์จาก PCB ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตและ Demand สูง เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ระบบ Electronic แทนระดับ Mechanic ทั้งนี้ KCE มีลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ราว 70% พร้อมเตรียมลงทุน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เดินเครื่องโรงงานเฟส 3 ในช่วง 3Q59 รวมทั้งคาดเข้าคำนวณ SET50 รอบใหม่กลางเดือนมิ.ย.
ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ เหตุผิดหวังตัวเลขจ้างงานสหรัฐ
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ หลังสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะเดียวกันตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ได้รับแรงกดดันจากเงินเยนที่แข็งค่า
ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.5% แตะที่ 129.12 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.05 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,373.32 จุด ลดลง 268.91 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,940.99 จุด เพิ่มขึ้น 2.31 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,971.13 จุด เพิ่มขึ้น 23.89 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,605.15 จุด เพิ่มขึ้น 13.58 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,819.07 จุด เพิ่มขึ้น 9.84 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,633.38 จุด ลดลง 3.08 จุด ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันรำลึกถึงวีรชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.3% สู่ระดับ 4.7% หลังจากอยู่ที่ 5.0% ในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 162,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.9%
รายงานตัวเลขจ้างงานล่าสุดนี้ทำให้กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้นั้นอ่อนแรงลง และนักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้ตามที่มีการคาดการณ์กันไว้
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดบวก 24.02 จุด จากแรงซื้อหุ้นเหมือง
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีลดช่วงบวกลง หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์มากในเดือนที่แล้ว
ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวขึ้น 24.02 จุด หรือ 0.39% แตะที่ 6,209.63 จุด ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ดัชนีร่วงลง 0.98% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์
หุ้นน้ำมันและเหมืองแร่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งในวันนี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและธนาคารร่วงลง
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นลอนดอนแกว่งตัวระหว่างแดนบวกและลบ โดยพุ่งขึ้นไปถึง 1.1% ในช่วงแรกของการซื้อขาย ก่อนลดช่วงบวกลงมาเมื่อปิดตลาด หลังจากที่สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ค.ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์กันมาก
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.3% สู่ระดับ 4.7% หลังจากอยู่ที่ 5.0% ในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 162,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.9%
รายงานล่าสุดนี้ทำให้กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.อ่อนแรงลง และทำให้เกิดคำถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้นในเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานนี้ผิดคาดมาก แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปเลยเสียทีเดียว เพียงแต่ทำให้เกิดความกังวลอีกครั้งเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ
ในส่วนของข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษที่มีการเปิดเผยวานนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของอังกฤษโดยมาร์กิต/CIPS ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 53.5 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 52.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 38 เดือน
หุ้นเฟรสนิลโลพุ่ง 7.57% เป็นแกนนำหุ้นบวก ตามด้วยแรนโกลด์ รีซอร์สเซส ที่พุ่งขึ้น 6.84% เกลนคอร์ 5.52% แองโกล อเมริกัน 5.17% และเมอร์ลิน เอนเตอร์เทนเมนท์ บวก 3.63%
หุ้นรอยัล ดัตช์ เชล บวก 1.05% ด้านหุ้นบีพีบวก 1.3% หลังบริษัทตกลงที่จะจ่ายเงิน 175 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าเสียหายจากกรณีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งรุนแรงในอ่าวเม็กซิโกเมื่อปี 2553
ขณะที่หุ้นลบนำโดย เทสโก้ ที่ร่วงลง 4.42% เจ เซนส์บิวรี ลบ 4.17% วิลเลียม มอร์ริสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต ลดลง 3.82% สแตนดาร์ด ไลฟ์ ลบ 1.92% และจอห์นสัน แมทธีย์ ลดลง 1.77%
หุ้นรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ลบ 1.08% หุ้นบาร์เคลย์ลดลง 0.42%
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ หลังสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงานอ่อนแอ
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) เนื่องจากตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ออกมาอ่อนแอกว่าคาดการณ์อย่างมากนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 3.06 จุด หรือ -0.89% ปิดที่ 341.29 จุด และตลอดสัปดาห์ ดัชนีร่วงลง 2.4% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันมา 3 สัปดาห์
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,421.78 จุด ลดลง 44.22 จุด หรือ -0.99% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,103.26 จุด ลดลง 104.74 จุด หรือ -1.03% ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,209.63 จุด เพิ่มขึ้น 24.02 จุด หรือ +0.39%
ตลาดหุ้นยุโรปพลิกกลับมาปิดในแดนลบ หลังจากที่ปรับตัวขึ้นไปถึง 0.7% ในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานสหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.3% สู่ระดับ 4.7% หลังจากอยู่ที่ 5.0% ในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 162,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.9%
รายงานล่าสุดนี้ทำให้กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.อ่อนแรงลง และทำให้เกิดคำถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้นในเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานนี้ผิดคาดมาก โดยถึงแม้ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปเลยเสียทีเดียว แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลอีกครั้งเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก
หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง จากมุมมองที่ว่าเฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน โดยหุ้นดอยช์แบงก์ร่วง 3.92% หุ้นเครดิต อากริโคล ลดลง 2.58% และหุ้นเอชเอสบีซีลบ 1.3%
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเหมืองปรับตัวขึ้น ซึ่งช่วยหนุนให้ดัชนีหุ้นลอนดอนปิดในแดนบวกได้ แม้จะลดช่วงบวกลงมาก็ตาม โดยหุ้นเหมืองได้อานิสงส์จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งส่งให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ ตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ขณะที่ยูโรที่แข็งค่าขึ้นทำให้สินค้าจากบริษัทส่งออกของยุโรปมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่น
หุ้นเฟรสนิลโลพุ่ง 7.57% เป็นแกนนำหุ้นบวก ตามด้วยแรนโกลด์ รีซอร์สเซส ที่พุ่งขึ้น 6.84% เกรนคอร์ 5.52% แองโกล อเมริกัน 5.17%
สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปที่มีการเปิดเผยวานนี้ มาร์กิตเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนอยู่ที่ 53.1 ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับตัวเลขเบื้องต้นที่ 52.9 และตัวเลขเดือนเม.ย.ที่ 53.0
สำหรับ ดัชนี PMI ภาคบริการเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 53.3 เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 53.1 และตัวเลขเดือนเม.ย.ที่ 53.1 เช่นกัน
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 31.50 จุด เหตุผิดหวังตัวเลขจ้างงาน
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (3 มิ.ย.) หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้มาก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ดี ดัชนีกระเตื้องขึ้นจากที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงแรก เนื่องจากนักลงทุนมองว่าตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออาจทำให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดการณ์กันไว้ในเดือนมิ.ย.
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,807.06 จุด ลดลง 31.50 จุด หรือ -0.18% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,099.13 จุด ลดลง 6.13 จุด หรือ -0.29% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,942.52 จุด ลดลง 28.84 จุด หรือ -0.58%
สำหรับตลอดสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.4% ดัชนี S&P แทบจะทรงตัว ขณะที่ Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.2%
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.3% สู่ระดับ 4.7% หลังจากอยู่ที่ 5.0% ในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 162,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.9%
รายงานตัวเลขจ้างงานล่าสุดนี้ทำให้กระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้นั้นอ่อนแรงลง และนักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้ตามที่มีการคาดการณ์กันไว้
CME Group FedWatch ระบุว่า นักลงทุนได้ลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนต่างๆลง หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่ดิ่งลงอย่างมากในวันนี้
นักลงทุนลดความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.สู่ระดับ 4% จากเดิมที่ 21%, ส่วนเดือนก.ค.ปรับลดลงสู่ 38% จากระดับ 58%, เดือนก.ย. 49% จาก 66%, เดือนพ.ย. 52% จาก 68% และเดือนธ.ค. 68% จาก 79%
หุ้นบริษัทประกันและธนาคารปรับตัวลดลง เนื่องจากแนวโน้มผลกำไรที่อาจลดลง หากไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ดอลลาร์ที่อ่อนค่าภายหลังเปิดเผยตัวเลขจ้างงานได้หนุนให้หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบปรับตัวขึ้น
หุ้นกลุ่มการเงินถูกเทขาย เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังก่อนหน้านี้ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินจะหนุนให้ผลประกอบการของแบงก์และบริษัทประกันปรับตัวขึ้น
หุ้นโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป ร่วง 2.27% เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ลบ 1.78%
อย่างไรก็ดี แรงเทขายหุ้นกลุ่มการเงินได้รับการชดเชยจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบ รวมถึงหุ้นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการดำเนินงานในต่างประเทศ เนื่องจากความหวังที่ว่าดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะทำให้กำไรในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคที่ได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ดีดตัวขึ้นเช่นกัน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ดูเผินๆแล้ว รายงานตัวเลขจ้างงานจะออกมาน่าผิดหวังมาก แต่ก็มีผู้ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เช่น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมาก
ทั้งนี้ ตลาดต่างจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งจะแสดงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ และนโยบายอัตราดอกเบี้ย
การกล่าวถ้อยแถลงของนางเยลเลนในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากจะเป็นการแสดงความเห็นของประธานเฟดเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐที่ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี
นักลงทุนจับตาคำกล่าวของนางเยลเลนเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว
นอกจากตัวเลขจ้างงานแล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือนในเดือนเม.ย. โดยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนมี.ค.
การเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อภาคโรงงานสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในภาคการขนส่ง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานด้วยว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 3.74 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.13 หมื่นล้านดอลลาร์
ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนเม.ย. เนื่องจากการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อมีการปรับค่าตามเงินเฟ้อ ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 5.76 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 5.61 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.
ตัวเลขการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 2.5% สู่ระดับ 1.201 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขณะที่ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1.5% สู่ระดับ 1.828 แสนล้านดอลลาร์
ตัวเลขการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 2.4% สู่ระดับ 1.789 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.
ด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือนพ.ค. โดยดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 52.9 ในเดือนพ.ค. ลดลงจากระดับ 55.7 ในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 55.5 ในเดือนพ.ค.
อินโฟเควสท์