WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET29ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งตัวรอติดตามหลายปัจจัยจากนอกประเทศ

    นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่า จะแกว่งในลักษณะซึมตัว แม้ตัวเลข PMI ภาคการผลิตของจีนจะออกมาดีกว่าคาดเล็กน้อย แต่ก็ยังต้องติดตามการประชุมโอเปค การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯต่อไป ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ติดลบเล็กน้อย

     ด้านเศรษฐกิจในประเทศมองว่ายังดีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาฯที่คาดว่าจะมีการประมูลโครงการสำคัญในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนกลุ่มแบงก์ได้รับผลดีจากอัตราดอกเบี้ยที่พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ก็ยังปรับขึ้นด้วย

พร้อมให้กรอบแกว่งไว้ที่ 1,415-1,430 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

    - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (31 พ.ค.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,787.20 จุด ลดลง 86.02 จุด (-0.48%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,948.06 จุด เพิ่มขึ้น 14.55 จุด (+0.29%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,096.96 จุด ลดลง 2.10 จุด (-0.10%)

     - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 137.76 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 0.53 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 88.56 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 19.51 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 6.53 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 3.07 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.67 จุด

     - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (31 พ.ค.59) 1,424.28 จุด เพิ่มขึ้น 0.16 จุด (+0.01%)

     - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,571.40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 พ.ค.59

     - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (31 พ.ค.59) ปิดที่ 49.10 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 23 เซนต์ หรือ 0.5%

     - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (31 พ.ค.59) ที่ 5.37 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

     - เงินบาทเปิด 35.69/71 มองกรอบเดิม 35.60-35.80 หลังยังไม่ผ่านแนวต้านที่ 35.80

     - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น ระบุไทยพร้อมเข้าเป็นสมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) หากเปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเมื่อใดประเทศไทยจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกทันที พร้อมทั้งจะขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิก TPP อย่างญี่ปุ่น

     - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ไหลออกสุทธิรวม 2,477 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นไตรมาสแรกไหลออก 1,931 ล้านเหรียญสหรัฐ และเดือน เม.ย.ไหลออก 546 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งปี 2558 มีเงินไหลออก 1.81 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

   - ครม.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ.59 เพื่อปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นำค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายในการลงทุนเครื่องจักรและอาคารถาวรระหว่างวันที่ 3 พ.ย.58-31 ธ.ค.59 นำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า แม้ว่าจะไม่สามารถติดตั้งเครื่องจักรและสร้างอาคารจนอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค.59 ก็ตาม

    - นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มนมเปรี้ยวพร้อมดื่มมูลค่า 7,500 ล้านบาท นมถั่วเหลืองมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และนมพร้อมดื่มปรุงแต่ง อาทิ ช็อกโกแลต ที่ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนนมพร้อมดื่มรสจืด 1.4 หมื่นล้านบาท ไม่ได้รับผลกระทบ

    - สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในเดือน เม.ย.59 มีอัตราการขยายตัว 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตของอุตสาหกรรมหลักสำคัญ เช่น รถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 58.43% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 57.89%

     - แบงก์ชาติมองช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นการฟื้นตัวโดดเด่นและยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งใน-นอกประเทศอยู่มาก ส่วนภาวะเศรษฐกิจเดือน เม.ย.ยังคงขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ระบุลงทุนอยู่ระดับต่ำร่วม 10 ปี ห่วงฉุดความสามารถการแข่งขันของไทย พบมีเงินทุนไหลออกไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

    - อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท พบว่า การเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558-27 พ.ค. 2559 มีการก่อหนี้รวม 3.44 หมื่นล้านบาท หรือ 94.87% และมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 2.83 หมื่นล้านบาท หรือ 78.28%

*หุ้นเด่นวันนี้

     - KCE (โกลเบล็ก) เป้า 91 บาท ปี 59 คาดกำไรก้าวกระโดดเป็น 2,792 ล้านบาท +24%YoY จากการเปิดใช้โรงงานใหม่เฟส 2 ตั้งแต่ 1Q59 ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและสามารถผลิตสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ประโยชน์จาก PCB ที่ใช้ในอุตฯยานยนต์มีการเติบโตและ Demand สูง เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ระบบ Electronic แทนระดับ Mechanic  ทั้งนี้ KCE มีลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ราว 70% และเตรียมลงทุน 35 ล้านUSD. เดินเครื่องโรงงานเฟส 3 ในช่วง 3Q59 นอกจากนี้ คาดเข้าคำนวณ SET 50 รอบใหม่ที่จะประกาศกลางมิ.ย.

     - PTT (โกลเบล็ก)"ซื้อเก็งกำไร"เป้า 322 บาท ธุรกิจก๊าซมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซฯต่ำและไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯเหมือนไตรมาส 1 อีกทั้งราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นหนุนธุรกิจสำรวจและผลิตและมีการปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องช่วยหนุนผลประกอบการเพิ่มเติม ฝ่ายวิจัยมองว่าการฟื้นตัวของธุรกิจก๊าซฯ จะเป็นหลักช่วยหนุนผลประกอบการโดยรวม

    - BANPU (ยูโอบี เคย์เฮียน) ราคาหุ้นปรับลดลงเมื่อวานสวนทางราคาถ่านหินที่เริ่มขยับขึ้นมาที่ 52.65 เหรียญ/ตัน จากช่วงต้นปีที่ระดับ 49-50 เหรียญ/ตัน เป็นโอกาสซื้อ ทั้งนี้นอกจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะขาย IPO ปลายปีนี้แล้วยังลงทุนในธุรกิจ shale gas และ solar farm เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจถ่านหิน

    - SCB (เคจีไอ) เป้า 155 บาท มี Valuation ที่น่าสนใจด้วย PBV 1.4 เท่า และ Dividend yield 4% ต่อปี ขณะที่หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีต PBV -2 standard deviation อยู่ที่ 1.3 เท่า ดังนั้นเชื่อว่าราคาหุ้นขณะนี้สะท้อนปัจจัยลบเรื่อง NPL และวัฏจักรดอกเบี้ยต่ำไปพอสมควรแล้ว พร้อมประเมินมีโอกาสทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 137 บาท (เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) และถัดไปที่ 145 บาท แนวรับ 130 บาท (Stop loss 123 บาท)

ตลาดหุ้นเอเชียอ่อนแรงลงเช้านี้ เหตุวิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

    ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงเช้านี้ หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืน ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี อันเป็นการตอกย้ำความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้

   ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.5% สู่ระดับ 128.58 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.10 น.ตามเวลาโตเกียว

    ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 17,097.22 จุด ลดลง 137.76 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,917.15 จุด เพิ่มขึ้น 0.53 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,726.53 จุด ลดลง 88.56 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,516.08 จุด ลดลง 19.51 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,976.87 จุด ลดลง 6.53 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,787.99 จุด ลดลง 3.07 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,623.33 จุด ลดลง 2.67 จุด

    นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในคืนนี้ตามเวลาไทย ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนเม.ย. รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากเฟด ในเช้าวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 40.00 จุด จากแรงเทขายหุ้นเหมืองแร่

    ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ (31 พ.ค.) จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ หลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

    ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลง 40.00 จุด หรือ 0.64% แตะที่ 6,230.79 จุด

    ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ นำโดยหุ้นเกลนคอร์ และหุ้น บีเอชพี บิลลิตัน ที่ต่างก็ลดลงไม่ต่ำกว่า 2.1%

    หุ้นทูลโลว์ ออยล์ ร่วงลง 3.2% นำหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง ในขณะที่นักลงทุนจับตาดูผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

    สำหรับ ข้อมูลตลอดทั้งเดือน ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนพ.ค.

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกยูโรโซนเผชิญภาวะเงินฝืด

   ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (31 พ.ค.) หลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท เปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ยูโรโซนยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืด นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มรถยนต์ หลังจากโฟล์คสวาเกนเปิดเผยผลประกอบการที่ย่ำแย่ในไตรมาสแรก

    ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับลง 0.8% ปิดที่ 347.45 จุด

    ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,505.62 จุด ลดลง 23.78 จุด หรือ -0.53% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,262.74 จุด ลดลง 70.49 จุด หรือ -0.68% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,230.79 จุด ลดลง 40.00 จุด หรือ -0.64%

    ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันหลังจากยูโรสแตทรายงานว่า เงินเฟ้อเบื้องต้นในกลุ่มยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -0.1% ในเดือนพ.ค. จากระดับ -0.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายูโรโซนยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืด

    หุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงและได้ฉุดตลาดหุ้นยุโรปอ่อนแรงลงด้วย หลังจากบริษัทโฟล์คสวาเกนเปิดเผยกำไรในไตรมาส 1/2559 ร่วงลง 20% โดยหุ้นโฟล์คสวาเกน ดิ่งลง 2.6% หุ้นเปอร์โยต์ร่วงลง 1% แต่หุ้น BMW ขยับขึ้น 0.2%

    อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน จากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐรวมถึงการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐที่พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2009 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.7%

    ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐซึ่งสำรวจโดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.2%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดลบ 86.02 จุด วิตกเฟดขึ้นดบ.หลังข้อมูลศก.แข็งแกร่ง

    ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (31 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืน ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีนั้น อาจจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 วันทำการ

    ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,787.20 จุด ลดลง 86.02 จุด หรือ -0.48% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,948.06 จุด เพิ่มขึ้น 14.55 จุด หรือ +0.29% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,096.96 จุด ลดลง 2.10 จุด หรือ -0.10%

     ในช่วงแรกนั้น ตลาดดีดตัวขึ้นขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐที่พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2009 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.7%

     ด้านดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐซึ่งสำรวจโดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.2% และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของเฟดนั้น ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค.

     อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กอ่อนแรงลงในเวลาต่อมา เนื่องจากนักลงทุนมองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ที่กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าหากเศรษฐกิจมีการขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้

    นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมัน WTI ที่ลดลง 0.5% เมื่อคืนนี้ ทำสถิติปรับตัวลงติดต่อกัน 3 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้

    หุ้นดีสนีย์ ร่วงลง 1.1% หลังจากภาพยนตร์เรื่องใหม่ "Alice Through the Looking Glass" ได้รับการตอบรับที่น้อยกว่าคาด

    หุ้นเวสต์สตาร์ เอนเนอร์จี พุ่งขึ้น 6.4% หลังจากมีรายงานว่าบริษัทเกรท เพลนส์ เอนเนอร์จี ตกลงเข้าซื้อกิจการเวสต์สตาร์ เอนเนอร์จี มูลค่า 8.6 พันล้านดอลลาร์ แต่ข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นเกรท เพลนส์ เอนเนอร์จี ดิ่งลง 5.9%

     นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค. จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนเม.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

     นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์ ซึ่งหากตัวเลขจ้างงานออกมาแข็งแกร่ง ก็จะหนุนการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนหน้า

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!