- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Friday, 29 April 2016 14:23
- Hits: 2754
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าปรับลงรับผลวิตกศก.สหรัฐชะลอ หลัง GDP อ่อนแอ,XD หุ้นใหญ่
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับลง เนื่องจากตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว หลังประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เบื้องต้นไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวแค่ 0.5% ชะลอจากงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.7% และต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/57 กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่ราคาน้ำมันก็ยังคงผันผวน
ขณะที่ตลาดในบ้านเรายังต้องรับปัจจัยลบจากการขึ้นเครื่องหมาย XD หุ้นขนาดใหญ่ที่น่าจะกดดันดัชนีให้ปรับตัวลงด้วย รวมทั้งจะเข้าสู่วันหยุดยาวช่วงวันแรงงานในช่วงสุดสัปดาห์นี้ นอกจากนั้น ยังอบู่ในช่วงทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/59 ของบริษัทจดทะเบียนที่โดยรวมน่าจะปรับตัวลดลง yoy จึงต้องระมัดระวังว่านักวิเคราะห์อาจจะปรับประมาณการผลงานของบรืษัทต่าง ๆ ลง
"มองตลาดวันนี้ sideway down ทั้งจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ และผิดหวัง BOJ ที่ไม่ได้ประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติม บ้านเราวันนี้จะมีการขึ้นเครื่อง XD หุ้นใหญ่หลายตัว ซึ่งก็จะกดดันให้ SET Index ปรับลง ประกอบกับตลาดหุ้นจะหยุดยาว 3 วัน และตลาดหุ้นภูมิภาคบางตลาดก็หยุด 3 วัน เช่น ตลาดสิงคโปร์เนื่องในวันแรงงาน ดังนั้น ตลาดวันนี้คงจะเหงียบเหงา"นายอภิชาติ กล่าว
พร้อมให้แนวรับในวันนี้เป็น 2 จุด แนวรับแรก 1,396 และ 1,395 จุด ถ้าหลุดระดับดังกล่าวก็ไปที่แนวรับถัดไปที่ 1,380 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,410-1,415 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (28 เม.ย.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,830.76 จุด ร่วงลง 210.79 จุด (-1.17%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,805.29 จุด ลดลง 57.85 จุด (-1.19%),ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,075.81 จุด ลดลง 19.34 จุด (-0.92%)
- ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 10.21 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 172.83 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 49.83 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 2.25 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 2.23 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 3.24 จุด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดทำการวันนี้ (29 เม.ย.) เนื่องในวันโชวะ
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (28 เม.ย.59) 1,399.91 จุด ลดลง 11.93 จุด (-0.84%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 755.51 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 เม.ย.59
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (28 เม.ย.59) ปิดที่ 46.03 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 70 เซนต์ หรือ 1.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (28 เม.ย.59) ที่ 5.38 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 34.94 แข็งค่าตามภูมิภาค แนวโน้มแกว่งแคบ-วอลุ่มเบาบางก่อนหยุดยาว มองกรอบ 34.85-35.00
- กรมเชื้อเพลิงฯเผยไตรมาสแรกรายได้รัฐจากธุรกิจปิโตรเลียมร่วงหนัก คาดปีนี้ลดลง 5 หมื่นล้านบาท จากราคาน้ำมันโลกวูบ ระบุธุรกิจปิโตรฯ ในไทยแห่ปรับแผนลดต้นทุน หยุดเจาะเหลุมสำรวจเพิ่ม-ปรับโครงสร้าง คาดกำลังผลิตน้ำมันในปีหน้าลดลง พนักงาน 10% จ่อถูกปลด ขณะ ปตท.สผ.กำไรสุทธิไตรมาสแรก ลด 35%
- "สศค."ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงเหลือ 3.3% จาก 3.7% หลังประเมินมูลค่าส่งออกติดลบ 0.7% จากขยายตัว 0.1% ชี้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจคู่ค้า 15 ประเทศลดเหลือ 3.49% จาก 3.56% คาดจีดีพีไตรมาสแรก ขยายตัวได้ 3% เผย การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนฟื้นตัว
- "ทอท."ยันคิงเพาเวอร์แจ้งยอดขายถูกต้องผ่านการตรวจสอบกรมสรรพากรมาตลอด คาดภายใน พ.ค.นี้ติดตั้งระบบ "พีโอเอส" สนามบินสุวรรณภูมิเสร็จ ขณะที่ผู้ว่า สตง.เผยเตรียมส่งทีมเข้าสอบยอดขาย "คิงเพาเวอร์" แบบเรียลไทม์ ชี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
- รัฐ ปูพรม'สตาร์ทอัพไทยแลนด์'กระตุ้นเด็กรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว อายุต่ำกว่า 30 ปี หันเป็นเจ้าของกิจการ คิดค้นธุรกิจใหม่หวังเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์จากนวัตกรรม-ดิจิทัล "ประยุทธ์" ลั่นสร้างเศรษฐีใหม่ ด้าน "พิเชษฐ์" แจงรัฐเตรียมออก พรฎ.ลดภาษีรายได้ 5 ปี ภาษีเงินปั้นผลภาษีโอนหุ้นจูงใจผุดสตาร์ทอัพ พร้อมดึง 3 แบงก์รัฐตั้งกองทุนหมื่นล้าน
*หุ้นเด่นวันนี้
- BDMS (ธนชาต)"ซื้อ"เป้า 26.50 บาท คาดการณ์กำไร 1Q59 ที่ 2.3 พันล้านบาท +2% y-y +14% q-q เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการเปิดโรงพยาบาลใหม่ เปาโลรังสิต แต่กำไรเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ 2Q59 เป็นต้นไป
- KCE (ยูโอบี เคย์เฮียนฯ)"ซื้อ"เป้า 91 บาท คาดว่าผลประกอบการ 1Q59 จะเติบโต 12% qoq และ 47% yoy โดยได้ผลบวกจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในงวด 1Q59 ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็น 90% เทียบกับ 4Q58 ที่ 83% และคาดผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึง 3Q59 เนื่องจากแนวโน้มคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการลดราคาสินค้า ซึ่งจะไม่กระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นเนื่องจากประสิทธิภาพของเครื่องจักรในโรงงานใหม่ที่ดีขึ้นและผลแห่งการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
- PTTEP (เคทีบีฯ) "ซื้อเก็งกำไร"ให้ราคาเป้าหมาย 82 บาท หลังรายงานกำไรสุทธิใน 1Q59 อยู่ที่ 5,625 ล้านบาท (+19.8% QoQ, -34.7% YoY) สูงกว่าที่คาดเล็กน้อยจากผลของต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงมากกว่าที่คาด โดยมองว่ากำไรใน 1Q59 น่าจะเป็นจุดสูงสุดของปีแล้วโดยผลประกอบการในงวดถัดไป PTTEP จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนต่อหน่วยที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามผลของฤดูกาล ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงจากกำหนดการปรับราคาขายก๊าซ (คิดเป็น 70% ของปริมาณขาย) ใน 2Q59 และ 4Q59 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามได้ปรับประมาณการกำไรของ PTTEP ขึ้นเป็น 12,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มต้นทุนต่อหน่วยที่อาจจะต่ำกว่าที่เคยคาด โดยยังคงราคาเหมาะสมที่ 82 บาท (อิง P/BV ที่ 0.8 เท่า) โดยคาด consensus อาจจะมีการปรับประมาณการขึ้นได้หลังแนวโน้มต้นทุนต่ำกว่าที่เคยคาดกัน ขณะที่ sentiment การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานดีขึ้นตามราคาน้ำมัน
ตลาดหุ้นเอเชียอ่อนตัวลงเช้านี้ เหตุผิดหวังผลประชุมแบงก์ชาติญี่ปุ่น, จีดีพีสหรัฐ
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ไม่ได้ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของจีดีพีสหรัฐในช่วงไตรมาสแรก
ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,935.38 จุด ลดลง 10.21 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,215.20 จุด ลดลง 172.83 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,424.04 จุด ลดลง 49.83 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,998.68 จุด ลดลง 2.25 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,860.07 จุด ลดลง 2.23 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,671.52 จุด ลดลง 3.24 จุด ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันโชวะ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงหลังจากที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ มีมติคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่า BOJ จะใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวานนี้ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ ต้องการเวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ พร้อมระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการจีดีพีเบื้องต้นในไตรมาสแรก โดยระบุว่าจีดีพีขยายตัวเพียง 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2014 ขณะที่นักวิเคราะห์ไว้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จีดีพีในไตรมาสแรกจะขยายตัว 0.7% โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีสาเหตุจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของดอลลาร์ได้กดดันการส่งออก
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดบวก 2.49 จุด หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดีดตัว
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (28 เม.ย.) เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและโลหะ ในขณะที่หุ่นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงเนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวขึ้น 2.49 จุด หรือ 0.04% แตะที่ 6,322.40 จุด
ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ โดยหุ้นริโอ ทินโต เพิ่มขึ้น 4.3% หุ้นเกลนคอร์เพิ่มเขึ้น 2.3% และหุ้นบีเอชพี บิลลิตันเพิ่มเขึ้น 2.1%
หุ้นแองโกล อเมริกัน พุ่งขึ้น 8.1% หลังบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ของอังกฤษตกลงขายสินทรัพย์บางรายการในบราซิลในวงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับปัจจัยถ่วงจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยหุ้นลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป ลดลง 1.7% หลังระบุว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิลดลง 44% เนื่องจากมีต้นทุนในการปรับโครงสร้างและเนื่องจากต้นทุนในการซื้อคืนหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดบวก หลังราคาน้ำมันฟื้นหนุนหุ้นพลังงานพุ่ง
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (28 เม.ย.) เพราะได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับขึ้น 0.2% ปิดที่ 348.90 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,557.36 จุด ลดลง 2.04 จุด หรือ -0.04% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ระดับ 10,321.15 จุด เพิ่มขึ้น 21.32 จุด หรือ +0.21% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,322.40 จุด เพิ่มขึ้น 2.49 จุด, +0.04%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกหลังจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และน้ำมันดิบ WTI ต่างก็ปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ที่ระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่แล้วของสหรัฐ ลดลงสู่ระดับ 8,938,000 บาร์เรล/วัน จากระดับสูงสุดที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.พ.ปีที่แล้ว
การฟื้นตัวของราคาน้ำมันช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้น โดยหุ้นทุลโลว์ ออยล์ พุ่งขึ้น 12% หุ้นซับซี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบ่อน้ำมันรายใหญ่ของยุโรป ปรับขึ้น 1.4% หุ้นลันดิน ปิโตรเลียม พุ่งขึ้น 1.7% และหุ้นกัลป์ เอนเนอร์จี ปรับขึ้น 1.3%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงหนุนหลังจากสถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า บริษัทสัญชาติเยอรมันมีแผนจ้างงานเพิ่มในเดือนเม.ย. โดยดัชนีการจ้างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 108.1 จุดในเดือนเม.ย. จากระดับ 107.4 จุดเมื่อเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน หลังจากที่ประชุม BOJ มีมติคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่า BOJ จะใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวานนี้
นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ ต้องการเวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ พร้อมระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 210.79 จุด ผิดหวังจีดีพีสหรัฐ,ผลประชุมแบงก์ชาติญี่ปุ่น
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (28 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ไม่ได้ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นแอปเปิล อิงค์ และข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกของสหรัฐ
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,830.76 จุด ร่วงลง 210.79 จุด หรือ -1.17% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,805.29 จุด ลดลง 57.85 จุด หรือ -1.19% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,075.81 จุด ลดลง 19.34 จุด หรือ -0.92%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงตั้งแต่ตลาดเปิดทำการ โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงหลุดจากระดับ 18,000 จุด หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ มีมติคงนโยบายในการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้านเยน ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่า BOJ จะใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวานนี้ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า BOJ ต้องการเวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ พร้อมระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจและดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการจีดีพีเบื้องต้นในไตรมาสแรก โดยระบุว่าจีดีพีขยายตัวเพียง 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2014 ขณะที่นักวิเคราะห์ไว้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จีดีพีในไตรมาสแรกจะขยายตัว 0.7% โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐมีสาเหตุจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของดอลลาร์ได้กดดันการส่งออก
หุ้นแอปเปิลร่วงลง 3% และนับเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงด้วย หลังจากนายคาร์ล ไอคาห์น นักลงทุนชื่อดังของสหรัฐเปิดเผยว่า เขาได้เทขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทแอปเปิล อิงค์
การร่วงลงของหุ้นแอปเปิลได้ฉุดหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงด้วย รวมถึงหุ้นไมโครซอฟท์ และหุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล โดยราคาหุ้นทั้งสองปรับตัวลงกว่า 2% อย่างไรก็ตาม หุ้นเฟซบุ๊กพุ่งขึ้นกว่า 7% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงเนื่องจากแรงขายทำกำไร โดยหุ้นมาราธอน ออยล์ และหุ้นอาปาเช่ คอร์ป ต่างก็ร่วงลงกว่า 3.3% ขณะที่หุ้นเซาท์เวสเทิร์น เอนเนอร์จี ดิ่งลง 6.4%
หุ้นดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น ทะยานขึ้น 24% หลังจากมีรายงานว่า เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของคอมแคสต์ จะเข้าซื้อกิจการของบริษัทดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น ในราคาหุ้นละ 41 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นคอมแคสต์ปรับตัวลง 0.2%
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค., รายได้ส่วนบุคคลเดือนมี.ค., ดัชนีกิจกรรมการผลิตทั่วประเทศของสหรัฐเดือนเม.ย.จากเฟดชิคาโก และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
อินโฟเควสท์