WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET40ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้ม ดัชนีเช้านี้ลุ้นบวกต่อ คาดเงินไหลเข้ายังหนุน-เก็ง ECB ออก QE เพิ่ม

    นายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะยังอยู่ในแดนบวกได้ต่อ แต่ก็อาจจะลดความร้อนแรงลง โดยตลาดฯมีปัจจัยบวกจากที่ราคาน้ำมันยังทรงตัว และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯก็ออกมาในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีความคาดหวังจากการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 10 มี.ค.นี้ ที่อาจจะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติม

     นอกจากนี้ Flow ยังไหลเข้ามาต่อเนื่องจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อสุทธิเข้ามา 8,600 ล้านบาท ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ด้านตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ

พร้อมให้แนวรับ 1,370 จุด ส่วนแนวต้าน 1,390 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

     - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (3 มี.ค.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 16,943.90 จุด เพิ่มขึ้น 44.58 จุด (+0.26%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,707.42 จุด เพิ่มขึ้น 4.00 จุด (+0.09%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,993.40 จุด เพิ่มขึ้น 6.95 จุด (+0.35%)

       - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 32.80 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 11.22 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 110.34 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 0.42 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 2.16 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 5.34 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.72 จุด

      - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (3 มี.ค.59) 1,379.33 จุด เพิ่มขึ้น 14.02 จุด (+1.03%)

      - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 5,151.77 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มี.ค.59

     - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (3 มี.ค.59) ปิดที่ 34.57 ดอลลาร์/บาร์เรล ลบ 9 เซนต์ หรือ 0.3%

     - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (3 มี.ค.59) ที่ 6.77 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

       - เงินบาทเปิด 35.41 แข็งค่าตามภูมิภาคหลังตัวเลขภาคบริการสหรัฐฯกดดอลล์อ่อน จับตาตัวเลขจ้างงานคืนนี้

       - นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 74.7 ลดลงจากเดือน ม.ค.ที่อยู่ 75.5 และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนว่าประชาชนเริ่มกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและในประเทศ ค่าครองชีพ และภัยแล้งมากขึ้น

    - ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค. 2559 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ โดยหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 1.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.626 ล้านล้านบาท) เป็นการปรับลดลงมาจากเดือน ธ.ค. 2558 จากการชาระคืนหนี้สินสุทธิ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

      - กลุ่ม ปตท.ลุ้นมูดี้ส์ประเมินอันดับเครดิตเดือนนี้ มั่นใจเครดิตยังดี ฐานะการเงินแข็งปั๋ง ด้าน ปตท.สผ.เชื่อมูดี้ส์ไม่ลดเครดิต แต่ก็ทำใจยอมรับหากถูกลดด้านไทยออยล์เผยศึกษาตั้งโรงกลั่นใหม่ซัพพอร์ตให้กลุ่มซีแอลเอ็มวี

      - นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า มีนโยบายส่งเสริมและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะของเสียเพื่อผลิตเป็นพลังงาน โดยขณะนี้มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์แล้วทั้งสิ้น 135.48 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าในปี 2560 จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเป็น 348 เมกะวัตต์ และสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเริ่มที่ 10 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 358 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าระยะยาวจะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะรวม 550 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ เพื่อลดปัญหาการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะของเสียในประเทศ ตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี)

       - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ นอกจากใช้กลไกการช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินแล้ว สศค.จะใช้กลไกของนาโนไฟแนนซ์เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปรับหลักเกณฑ์ของธุรกิจ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ใหม่ จากเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ลดเหลือ 10 ล้านบาท พร้อมทั้งมีการผ่อนปรนวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมกำหนดให้กู้เพื่อประกอบอาชีพเท่านั้น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้

*หุ้นเด่นวันนี้

      - GPSC (ซีไอเอ็มบี) "ซื้อ"เป้า 29 บาท การเติบโตในช่วงต่อไปจะเกิดจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP: Small Power Producer) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คาดกำไรสุทธิจะเติบโตเฉลี่ย 23.4% CAGR ในปี 58-61 ส่วนโครงการ SPP 3 แห่งที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตหลัก และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตระยะยาว อีกทั้งการเติบโตของกำไรสุทธิสม่ำเสมอจากการสนันบสนุนโดยกลุ่มปตท.ในการเข้าสู่ตลาด AEC

      - SCC (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อเมื่ออ่อนตัว"เป้า 500 บาท ธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็นพระเอกในปีก่อน โดยกำไร +129% Y-Y ชดเชยธุรกิจซีเมนต์-วัสดุก่อสร้างที่ -22% Y-Y และธุรกิจกระดาษ +0.4% Y-Y ทำให้กำไรสุทธิทั้งปี +35% Y-Y สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ยากจะโตแรงในปีนี้แม้คาด Product spread สินค้าเคมียังสูงแต่ก็ต่ำกว่าปีก่อน ธุรกิจซีเมนต์แม้รับประโยชน์โครงการรัฐ แต่ supply ที่เพิ่มจาก TPIPL กดดันราคาปูน พร้อมคาดกำไรปกติปีนี้ +3.3% Y-Y ส่วนกำไรสุทธิ -2% Y-Y

      - BANPU (โกลเบล็ก) เป้า 22 บาท คาดปีนี้พลิกเป็นกำไร 1,510 ลบ.(+198% YoY) จากการโรงไฟฟ้า BLCP และโรงไฟฟ้าหงสาจะทำการผลิตไฟฟ้าครบทั้ง 3 หน่วย ซึ่งจะชดเชยผลประกอบการของธุรกิจถ่านหินที่ปรับตัวลงตามภาวะตลาดที่ซบเซา พร้อมปรับลดการลงทุนในธุรกิจถ่านหินเพื่อเน้นธุรกิจโรงไฟฟ้าสู่ 2.4 GW ในปี 63 โดยในปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 1.63 GW (รวมโรงไฟฟ้าหงสาทั้ง 3 หน่วย) อีกทั้งเตรียมนำ BANPU POWER (BPP) เข้าตลท.ในช่วง 2H59 ซึ่งจะช่วยชำระคืนเงินกู้แก่ BANPU ราว 400 ล้านดอลลาร์ และลดภาระดอกเบี้ยได้ราว 800 ล้านบาทต่อปี

      - SC (กสิกรไทย) "ซื้อ" เป้า 3.50 บาท แม้คาดกำไรปกติปี 59 จะคงที่จากปี 58 จากฐานที่สูงในปีก่อน บวกกันการเปิดตัวจำนวนมากในปีนี้รองรับการเติบโตระยะยาวที่คาดจะสร้างค่าใช้จ่ายทางการตลาดจำนวนมากให้บริษัท ขณะที่รายได้มีแนวโน้มเติบโตไม่มาก ปัจจัยสำคัญสำหรับปีนี้ได้แก่ การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมระดับบนที่บริเวณถนนชิดลม แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาสินค้าระดับบนให้แตกต่าง และยังสร้างความมั่นใจต่อแผนเติบโตระยะยาวไปสู่เป้าหมายรายได้ 2 หมื่นลบ.ในปี 62 จาก 1.4 หมื่นลบ.ในปี 58

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 16.60 จุด เหตุภาคบริการอังกฤษย่ำแย่

     ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลภาคบริการของอังกฤษที่ชะลอตัวลง ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการเปิดเผยข้อมูลจ้างงานที่สำคัญของสหรัฐในวันศุกร์นี้

    ดัชนี FTSE 100 ปิดลดลง 16.60 จุด หรือ 0.27% ที่ 6,130.46 จุด

   ตลาดได้รับแรงกดดันหลังจากมาร์กิตเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของอังกฤษในเดือนก.พ.ปรับตัวลงแตะ 52.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี จากระดับ 55.6 ในเดือนม.ค. โดยบ่งชี้ถึงภาวะอ่อนแอ

   นอกจากนี้ การที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ก็เป็นปัจจัยถ่วงตลาด และฉุดหุ้นกลุ่มดังกล่าวลงด้วย โดยหุ้นแกล็กโซสมิธไคลน์ ร่วงลง 1.9% และหุ้นแอสทราเซเนกา ปรับลง 1.8%

    ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชะลอการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ในวันศุกร์นี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย

     บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 151,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2551

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : วิตก PMI ยูโรโซนชะลอตัว ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ

    ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) หลังจากมาร์กิต อีโคโนมิคส์ ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซน ร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการของฝรั่งเศสได้กลับมาหดตัวลงอีกครั้งในเดือนก.พ.

      ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดลบ 0.5% แตะที่ 339.42 จุด

     ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,416.08 จุด ลดลง 8.81 จุด หรือ -0.20% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,751.92 จุด ลดลง 24.70 จุด หรือ -0.25% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,130.46 จุด ลดลง 16.60 จุด หรือ -0.27%

    ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันหลังจากบริษัทมาร์กิต อีโคโนมิคส์ ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซน ได้ร่วงลงในเดือนก.พ. โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 53.0 จาก 53.6 ในเดือนม.ค.

      มาร์กิตคาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกจะร่วงลงต่ำกว่าระดับ 0.3% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว

      นอกจากนี้ ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนี PMI ภาคบริการของฝรั่งเศสในเดือนก.พ.อ่อนแรงลงแตะ 49.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 เดือน จาก 50.3 ในเดือนม.ค.

      หุ้นวิทเบรด ร่วงลง 6.2% ขณะที่หุ้นอิโวนิค ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของเยอรมนี ดิ่งลง 12% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่น้อยกว่าการคาดการณ์

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : แรงซื้อหุ้นพลังงาน หนุนดาวโจนส์ปิดบวก 44.58 จุด

    ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงยอดสั่งซื้อภาคโรงงานที่พุ่งขึ้นมากที่สุดรอบ 7 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐในวันนี้

      ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,943.90 จุด เพิ่มขึ้น 44.58 จุด หรือ +0.26% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,707.42 จุด เพิ่มขึ้น 4.00 จุด หรือ +0.09% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,993.40 จุด เพิ่มขึ้น 6.95 จุด หรือ +0.35%

    ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกัน 3 วันทำการเมื่อคืนนี้ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน  โดยหุ้นในกลุ่มพลังงานนั้น หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี พุ่งขึ้น 26% หุ้นเซาเทิร์น เอนเนอร์จี ปรับขึ้น 18% หุ้นเอนซ์โค พุ่งขึ้น 14% หุ้นโคโนโคฟิลิปส์ และหุ้นอาปาเช คอร์ป ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 5.6%

   นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 6,000 ราย สู่ระดับ 278,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 ก.พ. แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 52 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970

    ขณะที่ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงาน ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่านั้น ปรับตัวลง 1,750 ราย สู่ระดับ 270,250 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2015

   ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2015 หลังจากที่ร่วงลงติดต่อกัน 2 เดือน

   นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนก.พ.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่ผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรอาจจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 151,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2008

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!