WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET26ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าซึมจากหุ้นพลังงานกดตลาดหลังราคาน้ำมันดิ่ง,วิตกศก.โลก

    นักวิเคราะห์คาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ซึมตัวลง หลังมองหุ้นกลุ่มพลังงานจะยังกดดันตลาดหลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก-จีน แต่เชื่อว่าน่าจะมีแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มแบงก์ดัชนีหลังจากทยอยประกาศผลประกอบการงวดปี 58 ส่วนใหญ่ออกมาตามคาดหรือดีกว่าเล็กน้อย รวมถึงกลุ่มสื่อสารที่คาดหวังการจ่ายปันผล คาดทั้ง 2 กลุ่มช่วยประคองดัชนีให้มี downside จำกัด มองแนวรับบริเวณ 1,234-1,238 และแนวต้านที่ 1,260-1,264 จุด

    นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้น่าจะมีทิศทางที่ซึมตัวลง แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์ที่ปิดเมื่อคืนนี้จะร่วงลง 1.56% จากความกังวลในเรื่องเดิมคือราคาน้ำมันและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ดัชนี S&P500 และ NASDAQ ปรับตัวลงในอัตราที่น้อยกว่าเพราะอาจจะมีเม็ดเงินหมุนเข้ามาในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ภาพรวมของตลาดหุ้นในแถบเอเชียเช้านี้ อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ต่างปรับตัวขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดจร (spot)กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย

                นอกจากนี้การที่กลุ่มแบงก์ ทยอยประกาศผลประกอบการปี 58 ออกมาส่วนใหญ่อยู่ในทิศทางเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์ หรือดีกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้หุ้นในกลุ่มแบงก์น่าจะยังทรงตัวได้ รวมถึงอาจจะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มสื่อสาร จากความคาดหวังเรื่องของการจ่ายเงินปันผล ซึ่งน่าจะช่วยพยุงตลาดได้จากภาวะที่เผชิญกับแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งจะยังเป็นตัวกดดันตลาดอยู่ ทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นน่าจะมี downside ที่จำกัด และมีโอกาสที่จะดีดตัวได้ในระหว่างวัน

       พร้อมให้แนวรับบริเวณ 1,234-1,238 และแนวต้านที่ 1,260-1,264 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

       - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด(20 ม.ค.59) ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 15,766.74 จุด ร่วงลง 249.28 จุด (-1.56%),ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,471.69 จุด ลดลง 5.26 จุด (-0.12%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,859.33 จุด ลดลง 22.00 จุด (-1.17%)

                - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 50.67 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 42.30 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 192.83 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 14.05 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 2.65 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 21.34 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.71 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 47.20 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(20 ม.ค.59) 1,248.98 จุด ลดลง 17.03 จุด(-1.35%)

                - นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 60.30 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 ม.ค.59

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(20 ม.ค.59) ปิดที่ 26.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.91 ดอลลาร์ หรือ 6.7%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(20 ม.ค.59)ที่ 10.40 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 36.25 แข็งค่าจากแรงขายดอลล์-รอติดตามการประชุม ECB

                - รมว.คมนาคม ติดเครื่อง 20 โครงการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ มั่นใจประมูลได้หมดในปี 59 เผยรถไฟทางคู่ 2 สาย"มาบกะเบา-จิระ"และ"ประจวบฯ-ชุมพร"จ่อคิวชงครม.อนุมัติแล้ว ส่วนรถไฟฟ้าสีชมพูและสีเหลือง คาดบอร์ด PPP อนุมัติ ก.พ.นี้ เร่งเปิดประมูลได้ใน 5-6 เดือน พร้อมสั่งปรับวิธีการทำงานเพื่อเร่งเบิกจ่ายงบปี 59 ขีดเส้นเซ็นสัญญาหมดในม.ค. 59

                - กบง.ประกาศลอยตัว NGV แบบมีเงื่อนไข ให้ปตท.ประกันราคาขายไม่เกิน 13.50 บาท/กก.เป็นเวลา 6 เดือนเริ่มมีผลบังคับวันนี้ โดยยังอุดหนุนรถสาธารณะ ที่ 10 บาท/กก.เหมือนเดิม รวมทั้งเสนอโรดแมปแอลพีจีให้มีการแข่งขันเสรีมากขึ้น หวัง เปิดช่องให้เอกชนรายใหม่เข้ามานำเข้าเพิ่มขึ้น และเห็นชอบเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 60 สต./ลิตร เว้น E20 และ E85 โดยไม่มีผลให้ราคาขายปลีกขยับขึ้น

                - ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)คาดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% อีกทั้งธนาคารพาณิชย์มี สภาพคล่องล้นประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท รวมทั้งธปท.คงจะเก็บนโยบายการเงิน หรือการลดอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นกระสุนในกรณีเกิดการชอร์ตของเศรษฐกิจมากกว่า แต่ก็มีโอกาสที่ธปท.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาส 4/59

                - กระทรวงไอซีทีมอบทีโอที-กสท เจ้าภาพหลักยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมประเทศ 2 หมื่นล้านบาทพัฒนาบรอดแบนด์ถึงทุกหมู่บ้านปีงบ 60 ขยายเกตเวย์ไปต่างประเทศ สั่งทำแผนงานเสนอ 22 ม.ค.สรุปพื้นที่วางโครงข่ายก.พ.ยันไม่ใช่อินเตอร์เน็ตฟรี เปิดเอกชนร่วม ราคาถูก ตั้งคณะกรรมการดูแลรับผิดชอบ เผยเป็นงบก้อนใหญ่ ต้องส่งแผนการทำงานละเอียด เบิกจ่ายตามจริง

                - รมว.คลัง เผยบอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติ 3 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบด้วย 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นเอสเอ็มอี เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มนี้ มีส่วนพัฒนาผลผลิตและธุรกิจการเกษตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น 2.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเครือข่ายเกษตรกรผ่านชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยสินเชื่อนี้จะปล่อยให้แก่ชุมชนเพื่อนำไปว่าจ้างเครือข่ายเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรนำไปจำหน่าย และ 3.มาตรการสินเชื่อระยะสั้นปล่อยให้แก่เกษตรกรทั่วไปรายละ 1.2 หมื่นบาท เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยระยะ 6 เดือนแรกจะปลอดดอกเบี้ย ส่วน 6 เดือนหลังจะคิดในอัตรา 4% ต่อปี

                - อาเซียนทัวริซึ่มประกาศข้อตกลงทำยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวอาเซียนตั้งเป้า 10 ปีรายได้เฉลี่ยต้องเพิ่มเป็น 15% จีดีพี จัดทำโครงการวิสิทอาเซียนเยียร์ 2017 ฉลอง 50 ปีอาเซียน

                - รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารว่า ในขณะนี้การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานไร้การควบคุม (IUU) อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป หรืออียู และเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18-22 ม.ค.นี้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีความหวังว่าผลการดำเนินการต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งใจจะเป็นที่พอใจและก้าวผ่านใบเหลืองของอียูไปได้

                - บีโอไอ เผยปีที่ผ่านมาอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) จำนวน 1,151 โครงการ มูลค่าเงินทุน 493,690 ล้านบาท เป็นโครงการขยายการลงทุนของบริษัทที่ลงทุนในไทยแล้ว จำนวน 592 โครงการ มูลค่า 328,433 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนที่มีฐานการผลิตในไทย มีความมั่นใจขยายฐานการผลิตในไทยต่อไป

                - "สมคิด"จี้ทูตพาณิชย์ดันส่งออกโต 5% วาง 3 เดือนผุดเว็บไซต์ ดึงเอสเอ็มอีลุยตลาดนอกผ่านอีคอมเมิร์ซ สั่งเพิ่มบุคลากรกระตุ้นยอดขาย พร้อมเร่งเปิดร้านชำในต่างประเทศขณะทูตจพาณิชย์จากจีนหันเจาะตลาดออนไลน์ระบุสินค้าคุณภาพยังไปได้ดี

*หุ้นเด่นวันนี้

                - PS (บล.โกลเบล็ก)แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 36 บาท โดยระบุว่าผู้บริหารเปิดเผยในการประชุมร่วมกับนักวิเคราะห์ว่ารายได้ปี 58 ทำได้ดีกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 47,000 ล้านบาทพอสมควร โดยในช่วงไตรมาส 4/58 มียอดโอนดีมากจากมาตรการลดภาษีและการจัดกิจกรรมชิงโชคเพื่อกระตุ้นการโอน และได้ปรับประมาณกำไรปี 58 เพิ่มขึ้น 7% เป็น 7.5 พันล้านบาทซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากปี 57 ที่มีกำไร 6.65 พันล้านบาท เติบโต 13%

                ขณะที่ในปี 59 ตั้งเป้ายอดขาย presale ที่ 51,000 ล้านบาทเติบโต 20% เป้ารายได้ 52,000 ล้านบาทเติบโต 10% จากปี 58 โดยมีแผนเปิดขายโครงการใหม่ 60-65 โครงการ มูลค่า 5-5.4 หมื่นล้านบาทซึ่งจะเน้นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่เป็นกลุ่มลูกค้า real demand ปลายปี 58 มี backlog 1.55 หมื่นล้านบาทที่จะโอนในปีนี้ ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการรายได้ปี 59 เพิ่มขึ้นจากเดิม 5.1 หมื่นล้านบาทมาใกล้เคียงกับเป้าของผู้บริหาร และคาดกำไรสุทธิจะเติบโตราว 7% เป็น 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ แนวโน้มกำไรยังเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 1/59 เนื่องจากมาตรการลดภาษีกระตุ้นภาคอสังหาฯจะสิ้นสุดปลายเดือนเม.ย.59

                - SCB (บล.ซีไอเอ็มบีฯ)เพิ่มคำแนะนำเป็น"ซื้อ"จากเดิม"ถือ"ราคาเป้าหมาย 144 บาท หลังปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นในปี 59-60 ขณะที่การรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/58 มีกำไรสุทธิ 1.18 หมื่นล้านบาท สูงกว่า consensus 4% ขณะที่กำไรสุทธิทั้งปีสอดคล้องกับที่คาดไว้ คิดเป็น 100% ของประมาณการในปี 58 โดยสินเชื่อเติบโตสูงขึ้น ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/58

                - BAY (บล.ฟินันเซีย ไซรัส)เพิ่มคำแนะนำเป็น"ซื้อ"จาก"ถือ"upside ที่กว้างขึ้น แต่ยังคงประมาณการกำไรปี 59 เติบโต 6% จากปีก่อน และคงราคาพื้นฐาน 34 บาท กำไรสุทธิไตรมาส 4/58 เพิ่มขึ้น 5.3% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 30% จากงวดปีก่อน น่าประทับใจจากรายได้หลัก ดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมที่ดีกว่าคาด ส่วน NPL Ratio ที่ 2.24% ลดลงจาก 2.44% ในไตรมาส 3/58 และ Coverage ratio ยังแข็งแกร่ง 140% สำหรับกำไรทั้งปีอยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.5% จากปีก่อน โดดเด่นสุดในกลุ่มจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังรักษา NIM ได้สูง 4.1%

ตลาดหุ้นเอเชียดีดตัวขึ้นเช้านี้ จากแรงซื้อเก็งกำไรหลังตลาดร่วงหนักวานนี้

                ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ จากแรงซื้อเก็งกำไร หลังจากที่ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงอย่างหนักเมื่อวานนี้ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

                ดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 117.18 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.50 น.ตามเวลาโตเกียว

                ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 16,466.86 จุด เพิ่มขึ้น 50.67 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,934.39 จุด ลดลง 42.30 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 19,079.13 จุด เพิ่มขึ้น 192.83 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 7,713.17 จุด เพิ่มขึ้น 14.05 จุด

                ส่วนดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,848.10 จุด เพิ่มขึ้น 2.65 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,581.11 จุด เพิ่มขึ้น 21.34 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,616.12 จุด ลดลง 2.71 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 6,212.41 จุด ลดลง 47.20 จุด

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : หุ้นเหมืองแร่,พลังงานทุบฟุตซี่ปิดร่วง 203.22 จุด

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (20 ม.ค.) โดยดัชนี FTSE 100 ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 หลังจากหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546

                ดัชนี FTSE 100 ปิดร่วงลง 203.22 จุด หรือ -3.46% สู่ระดับ 5,673.58 จุด

                ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงอย่างหนัก หลังหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 17% ในการคำนวณ ดัชนี FTSE 100 ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบมากกว่าทศวรรษ

                หุ้นกลุ่มเหมืองแร่นำโดย หุ้นเกลนคอร์ หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน และหุ้นแองโกล อเมริกัน ต่างก็ร่วงลงมากกว่า 6% ส่งผลให้ดัชนี FTSE 100 แตะที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 โดยบีเอชพี บิลลิตัน ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดในโลกปรับลดคาดการผลผลิตแร่เหล็กเหล็กสำหรับตลอดทั้งปีของบริษัท

                หุ้นรอยัล ดัทช์ เซลล์ ร่วงลงอย่างหนัก หลังจากทางบริษัทเปิดเผยตัวเลขกำไร 1.6-1.9 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 เทียบกับ 3.3 พันล้านดอลลาร์สำหรับช่วงเดียวกันในปี 2014 โดยกำไรในไตรมาส 4 ของเชลล์ลดลงมากถึง 50% เนื่องจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : วิตกราคาน้ำมันทรุด ฉุดตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วง

                ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (20 ม.ค.) โดยดัชนี Stoxx Europe 600 ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลต่อราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง และผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่างรอยัล ดัทช์ เชลล์

                ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 3.2% ปิดที่ 322.29 จุด

                ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,124.95 จุด ลดลง 147.31 จุด หรือ -3.45% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,391.64 จุด ร่วงลง 272.57 จุด หรือ -2.82% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,673.58 จุด ลดลง 203.22 จุด หรือ -3.46%

                ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวานนี้ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในเดือนธ.ค.ลดลง 5.8% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 7.702 หมื่นล้านหยวน (1.223 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

                ภาวะการซื้อขายในตลาดได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ โดยราคาหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ร่วงลงอย่างหนักหลังจากทางบริษัทเปิดเผยว่ามีกำไร 1.6-1.9 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 เทียบกับ 3.3 พันล้านดอลลาร์สำหรับช่วงเดียวกันในปี 2014 โดยกำไรในไตรมาส 4 ของเชลล์ลดลงมากถึง 50% จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน

                หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลงเช่นกัน โดยหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ร่วงลง 7.4% หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลผลิตแร่เหล็ก ขณะที่หุ้นเกลนคอร์ รีซอส ดิ่งลง 9.9%

                สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 2.3% ในยูโรโซน และ 3.1% ในสหภาพยุโรป (EU) ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 249.28 จุด วิตกน้ำมันดิ่งหนัก,ศก.โลกซบ

                ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง 1.56% เมื่อคืนนี้ (20 ม.ค.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวนและตื่นตระหนก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

                ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 15,766.74 จุด ร่วงลง 249.28 จุด หรือ -1.56% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,471.69 จุด ลดลง 5.26 จุด หรือ -0.12% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,859.33 จุด ลดลง 22.00 จุด หรือ -1.17%

                ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงตั้งแต่ตลาดเปิดทำการ โดยในระหว่างวันนั้น ดาวโจนส์ดิ่งลงไปเกือบ 500 จุด หรือกว่า 3% ก่อนที่จะลดแรงลบในเวลาต่อมา เนื่องจากความกังวลที่ว่า การร่วงลงอย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัทพลังงานและประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน

                นอกจากนี้ ตลาดยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจของ 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐ โดยเมื่อวานนี้กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า ตัวเลข FDI ของจีนในเดือนธ.ค.ลดลง 5.8% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 7.702 หมื่นล้านหยวน (1.223 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

                ส่วนข้อมูลในฝั่งสหรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 2.5% ในเดือนธ.ค. สู่ระดับ 1.149 ล้านยูนิต ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านยูนิต บ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐชะลอตัวลง ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ร่วงลง และการแข็งค่าของดอลลาร์

                หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยหุ้นเชฟรอน คอร์ป ร่วงลง 3% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ดิ่งลง 4.2% หุ้นอานาดาร์โค ปิโตรเลียม ร่วงลง 1% หุ้นเดวอง เอนเนอร์จี ดิ่งลง 8% และหุ้นซีดริล ทรุดตัวลง 12.2%

                หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ดิ่งลง 5.4% หลังจากทางบริษัทเปิดเผยว่ากำไรในไตรมาส 4 ลดลงมากถึง 50% จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ทางบริษัทมีกำไร 1.6-1.9 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 เทียบกับ 3.3 พันล้านดอลลาร์สำหรับช่วงเดียวกันในปี 2014

                หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 1.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรทรุดฮวบในไตรมาส 4 อันเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย โดยบริษัทมีกำไร 765 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 4 หรือ 1.27 ดอลลาร์/หุ้น จากระดับ 2.17 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4.38 ดอลลาร์/หุ้นในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

                หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวผันผวน โดยหุ้น IBM ร่วงลง 4.9% ขณะที่หุ้นซิสโก ซิสเต็ม ดิ่งลง 3.2% หุ้นยาฮู อิงค์ ร่วงลง 3.3% ขณะที่หุ้นทวิตเตอร์ทะยานขึ้น 14%

                นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของสหรัฐเดือนม.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย ส่วนในวันศุกร์จะมีการเปิดเผยดัชนีกิจกรรมการผลิตทั่วประเทศเดือนธ.ค.จากเฟดชิคาโก, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนม.ค., ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนธ.ค.จาก Conference Board

อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!