WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET37ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าปรับลงหลังSentimentตปท.ไม่ดี-ราคาน้ำมันหด-สื่อสารกดดัน

       นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลง เนื่องจาก Sentiment ตลาดต่างประเทศไม่ดี โดยตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างก็อยู่ในแดนลบราว 0.50-0.6% ยกเว้นตลาดหุ้นจีน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันก็ยังปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 35 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งยังทำ New Low อยู่

      ส่วนปัจจัยในประเทศก็มีเรื่องการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ที่พลิกล็อคทาง TRUE และ JAS ได้ใบอนุญาติไป ทำให้มองว่าอุตสาหกรรมสื่อสารจะมีการแข่งขันสูง เพราะต้นทุนใบอนุญาตฯแพง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มทุนได้ อีกทั้งล่าสุดโบรกเกอร์ต่างชาติได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยด้วย

พร้อมให้แนวรับ 1,260-1,270 จุด ส่วนแนวต้าน 1,290-1,295 จุด

ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน

      - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด(18 ธ.ค.58)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 17,128.55 จุด ร่วงลง 367.29 จุด(-2.10%), ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,923.08 จุด ลดลง 79.47 จุด(-1.59%),ดัชนี S&P500 ปิดที่  2,005.55 จุด ร่วงลง 36.34 จุด(-1.78%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดเช้าวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 141.30 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 10.38 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 114.39 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 29.27 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 1.06 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 21.92 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.98 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 1.92 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ลดลง 16.00 จุด

      - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(18 ธ.ค.58)1,284.92 จุด ลดลง 25.42 จุด(-1.94%)

      - นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,037.50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.58

       - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(18 ธ.ค.58) ปิดที่ 34.73 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 22 เซนต์ หรือ 0.6%

       - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(18 ธ.ค.58)ที่ 9.43 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

       - เงินบาทเปิด 36.16/18 แกว่งแคบ-วอลุ่มเบาบางก่อนหยุดยาว มองกรอบ 36-36.20

      - ผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz พร้อมเปิดแผนธุรกิจลุย 4จี ในวันที่ 21 ธ.ค. โดย นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จัดแถลงเวลา 10.00 น. และนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จะเผยทิศทางเวลา 12.30 น. ส่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแถลงการประชุมรับรองผลการประมูลคลื่น 900 MHz ในเวลา 17.30 น.

      - นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาสรุปเห็นชอบรอบสุดท้ายก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

      - นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธปท.ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 120 เพื่อให้ ธปท.มีอำนาจในการเข้าดูแลธนาคารรัฐได้จริง ทั้งการปรับโครงสร้าง เกณฑ์การดูแลเงินกองทุน คณะกรรมการบริหาร กำหนดกระบวนการในการเข้าควบคุมสั่งปิดได้หากมีปัญหาฐานะ การทำตามนโยบายพิเศษของรัฐ (PSA) จะกำหนดให้ชัดเจนขึ้นว่าอันไหนทำได้หรือทำไม่ได้แค่ไหน

     - ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่ไม่กระจายตัว เพราะยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

      - กรมธุรกิจพลังงาน เผย น้ำมันร่วงไม่หยุด ฉุดปั๊มแอลพีจีแห่ปิดกิจการ คาดปี 59 เหลือไม่ถึง 2,000 แห่ง ด้านรถบรรทุกโอดงานหด 50% หลังเศรษฐกิจซบ ผู้ประกอบการแห่รีไฟแนนซ์พุ่ง

*หุ้นเด่นวันนี้

    - PS(โกลเบล็ก)เป้า 35 บาท คาดกำไรปี 58 ราว 7 พันล้านบาท และมองว่า PS เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาเนื่องจากราคาเฉลี่ยของโครงการปัจจุบันอยู่ที่ 2.52 ล้านบาท สินค้าที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทคิดเป็น 46% ของพอร์ตทั้งหมด พร้อมคาดกำไร Q4/58 เติบโต YoY และ QoQ  โดยปัจจุบันมี Backlog  ราว35,000 ล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/58 ประมาณ 16,000 ล้านบาท ขณะที่ยอด Presale ยังโตดีกว่าที่คาด โดย Q4/58 เปิดโครงการใหม่เพิ่มจำนวน 10 โครงการ มูลค่ารวม 8-9 พันล้านบาท

      - BA(ซีไอเอ็มบี)"ซื้อ"เป้า 27 บาท ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรง บริษัทยังมียุทธ์ศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน และไม่ลงไปแข่งขันกับสายการบินต้นทุน ทำให้ผลการดำเนินงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และจากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ ทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยประเมินกำไรสุทธิปี 15 ที่ 2,698 ล้านบาท ( EpS 1.71 บาท) เทียบกับ 1H/15 ที่มีกำไร 1,161 ล้านบาท และเติบโตอย่างมากจากปี 14 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 351 ล้านบาท

      - BIG(ฟินันเซีย ไซรัส)"ซื้อ"เป้าปีหน้า 2.30 บาท ราคาหุ้นปรับฐานลงมาเป็นโอกาสในการซื้อสะสมอีกครั้ง ด้วยผลประกอบการที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นอย่างน้อยอีก 2 ปีข้างหน้าจากความเป็นผู้นำในตลาดกล้อง Mirrorless ที่สามารถขยายตลาดได้อีกมากในไทยซึ่งมี demand สูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่น ลูกค้าเป้าหมายของกล้อง Mirrorless คือผู้ใช้ Smartphone ในการถ่ายภาพและต้องการอัพเกรดไปสู่การถ่ายภาพขั้น advance มากขึ้น ปัจจุบันผู้ใช้ Smartphone ในไทยมีประมาณ 30 ล้านราย ลูกค้าของ BIG มี 1.2 แสนราย แชร์ส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.4% ของผู้ใช้ Smartphone ทั้งประเทศ ตลาดกล้อง Mirrorless ในไทยยังเพิ่งเริ่มเติบโตเท่านั้น โดยคาดกำไรปีนี้ +169% Y-Y ปีหน้า +9% Y-Y และมีโอกาสดีกว่าคาด

ตลาดหุ้นเอเชียลดลงเช้านี้ หลังเยนแข็งฉุดหุ้นญี่ปุ่นร่วง

    ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าฉุดตลาดหุ้นญี่ปุ่นอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด

     ดัชนี MSCI Asia Pacific ลดลง 0.4% แตะ 129.24 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น.ตามเวลาโตเกียว

     ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 18,845.50 จุด ลดลง 141.30 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,568.58 จุด ลดลง 10.38 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 21,641.17 จุด ลดลง 114.39 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,228.05 จุด ลดลง 29.27 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,974.26 จุด ลดลง 1.06 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,830.92 จุด ลดลง 21.92 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,641.92 จุด ลดลง 1.98 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 6,865.15 จุด ลดลง 1.92 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเปิดวันนี้ที่ 4,452.65 จุด ลดลง 16.00 จุด

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 50.12 จุด หลังแรงหนุนจากเฟดเริ่มคลาย

    ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) ตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวในแดนลบ จากที่เดินหน้าขึ้นคักคักก่อนหน้านี้ภายหลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี

      ดัชนี FTSE 100 ปิดลดลง 50.12 จุด หรือ 0.82% ที่ 6,052.42 จุด อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวขึ้น 1.7%

       หุ้นลอนดอนปรับตัวลงในวันศุกร์ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นสหรัฐ โดยตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวขึ้นเกือบ 0.7% ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนขานรับต่อการที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งล่าสุด ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% อยู่ในช่วง 0.25-0.50% โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2549

     อย่างไรก็ดี ช่วงลบถูกจำกัดจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ซึ่งรวมถึงบีเอชพี บิลลิตัน ผู้ผลิตแร่เหล็กยักษ์ใหญ่ที่สามารถบวกขึ้นได้ 2.46% แม้หลังจากที่มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เผยว่าเตรียมทบทวนปรับลดอันดับเครดิตของบริษัท

     หุ้นกลุ่มเหมืองได้ปัจจัยหนุนจากราคาโลหะที่ปรับตัวขึ้น หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่กำหนดราคาซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์มีราคาถูกลงสำหรับผู้ที่ถือเงินสกุลอื่นๆ

       ในบรรดาหุ้นเหมืองรายอื่นๆที่ปรับตัวขึ้นนั้น นำโดยอังโกล อเมริกัน พุ่ง 5.52%, แรนด์โกลด์ รีซอร์สเซส 1.36% และเฟรสนิลโล บวก 0.69%

      หุ้นบริษัทยาสมิท แอนด์ เนปพิว พุ่งขึ้น 4.64% จากข่าวเสนอขายกิจการ หุ้นคาร์นิวัลเพิ่มขึ้น 2.64% หลังบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือพลิกทำกำไรในไตรมาสล่าสุด

    สำหรับ หุ้นลบนำโดยบีที กรุ๊ป ที่ปรับตัวลง 2.63% ตามด้วยแอสโซสิเอเต็ด บริติช ฟูดส์ 2.26%, คาปิตา 2.23%, ดิกซินส์ คาร์โฟน 2.13% และบีจี กรุ๊ป 2.03%

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง หลังปัจจัยหนุนจากเฟดเริ่มคลาย,จับตาราคาน้ำมัน

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) หลังจากที่ปัจจัยหนุนจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มคลายลง ขณะที่นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด พร้อมหันมาจับตาแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระมัดระวังการซื้อขายก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาสในสัปดาห์หน้า

     ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.01% ปิดที่ 361.23 จุด อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์ ดัชนียังบวกขึ้น 1.5%

     ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปรับตัวลง 52.28 จุด หรือ 1.12% ปิดที่ 4,625.26 จุด ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันร่วงลง 129.93 จุด หรือ 1.21% ปิดที่ 10,608.19 จุด ดัชนี FTSE 100 ลดลง 50.12 จุด หรือ 0.82% ปิดที่ 6,052.42 จุด

     ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปพุ่งขึ้น 1.2% เมื่อวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนขานรับต่อการที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งล่าสุด ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% อยู่ในช่วง 0.25-0.50% โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2549 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเฟดมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

     อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปในวันศุกร์กลับมาเคลื่อนไหวในแดนลบ ตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชีย โดยดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงลงอย่างหนักในวันศุกร์ หลังจากที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สิ้นสุดลง ท่ามกลางการตีความในทิศทางที่หลากหลายว่า มาตรการล่าสุดของ BOJ ยังถือเป็นการผ่อนคลายการเงินต่อไปหรือไม่

      โดยที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะยังคงใช้นโยบายในการเพิ่มฐานเงินที่อัตราราว 80 ล้านล้านเยนต่อปี ผ่านทางการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่

     อย่างไรก็ตาม BOJ ระบุว่า จะขยายระยะเวลาการซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลภายใต้โครงการผ่อนคลายทางการเงิน

    แถลงการณ์ภายหลังการประชุมยังระบุด้วยว่า BOJ จะใช้จ่ายเงินราว 3 แสนล้านเยนหรือมากกว่า ในการซื้อกองทุน ETF (Exchange-raded Funds)

     ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว หลังจากที่สต็อกน้ำมันสหรัฐพุ่งขึ้นใกล้แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ภาวะอากาศที่ไม่หนาวมากในปีนี้ ก็ได้ลดอุปสงค์สำหรับการใช้น้ำมันที่ให้ความอบอุ่น

      ราคาสัญญาน้ำมันดิ่งลงราว 40% แล้วในปีนี้ หลังจากที่ภาวะน้ำมันล้นตลาดยังไม่มีแนวโน้มเบาบางลง

    นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดแรงเทขาย

      อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น เพราะได้แรงหนุนจากราคาโลหะที่ดีดขึ้น หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่กำหนดราคาซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์มีราคาถูกลงสำหรับผู้ที่ถือเงินสกุลอื่นๆ

    หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ผู้ผลิตแร่เหล็กยักษ์ใหญ่ สามารถบวกขึ้นได้ 2.46% แม้มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เผยว่าเตรียมทบทวนปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทก็ตาม

      ด้านอังโกล อเมริกัน พุ่ง 5.52%, แรนด์โกลด์ รีซอร์สเซส 1.36% และเฟรสนิลโล บวก 0.69%

 ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 367.39 จุด จากแรงเทขายหุ้นแบงก์,วิตกราคาน้ำมัน

   ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อวันศุกร์ (18 ธ.ค.) เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารถูกเทขายหนัก เหตุนักลงทุนกังวลว่าแบงก์ต่างๆที่ปล่อยกู้ให้บริษัทพลังงานจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานไปด้วย

      ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 367.29 จุด หรือ 2.10% ปิดที่ 17,128.55 จุด ดัชนี S&P500 ร่วงลง 36.34 จุด หรือ 1.78% ปิดที่ 2,005.55 จุด ดัชนี NASDAQ ลดลง 79.47 จุด หรือ 1.59% ปิดที่ 4,923.08 จุด

     ทั้งนี้ ดาวโจนส์ร่วงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. หรือในรอบสามเดือน และปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน ขณะที่ระดับปิดของดัชนี S&P ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนต.ค.

       สำหรับ ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.8% S&P ลดลง 0.3% Nasdaq ลบ 0.2%

      ตลาดหุ้นสหรัฐถูกเทขายอย่างหนักต่อเนื่องเป็นวันที่สองในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนกลัวว่า ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงอาจส่งผลกระทบต่อบรรดาธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทพลังงาน

    ราคาน้ำมันปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่สาม หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสต็อกน้ำมันสหรัฐพุ่งขึ้นใกล้แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันภาวะอากาศที่ไม่หนาวมากในปีนี้ ก็ได้ลดอุปสงค์สำหรับการใช้น้ำมันที่ให้ความอบอุ่น

      ราคาสัญญาน้ำมันดิ่งลงราว 40% แล้วในปีนี้ หลังจากที่ภาวะน้ำมันล้นตลาดยังไม่มีแนวโน้มเบาบางลง

      สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด 4.8 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล

      การเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐของ EIA สอดคล้องกับการรายงานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด 2.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

      สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์นั้น บริษัทมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นสำหรับภาคบริการของสหรัฐ ชะลอตัวสู่ระดับ 53.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปีนี้ ลดลงจากตัวเลขเดือนพ.ย.ที่ระดับ 56.1

     นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับปัจจัยลบจากตลาดหุ้นในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า โดยในเอเชียนั้น ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลงอย่างหนักถึง 1.90% โดยตลาดเคลื่อนตัวผันผวนหลังจากที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สิ้นสุดลง ท่ามกลางการตีความในทิศทางที่หลากหลายว่า มาตรการล่าสุดของ BOJ ยังถือเป็นการผ่อนคลายการเงินต่อไปหรือไม่

      ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ขานรับไปก่อนหน้านี้

      นักวิเคราะห์เชื่อว่า ตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดยังคงพยายามวิเคราะห์ถึงผลดี-ผลเสียของการขึ้นดอกเบี้ยในรอบเกือบ 10 ปีของเฟด

    หุ้นลบนำโดยหุ้นกลุ่มการเงินที่ร่วงลง 2.5% และกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง 2% โดยหุ้นธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค, ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ และแบงก์ ออฟ อเมริกา ต่างร่วงลงกว่า 3%

 

                        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!