- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Wednesday, 01 July 2015 15:00
- Hits: 4691
ตลาดหุ้นเอเชียดีดตัวขึ้นเช้านี้ ขณะจับตาวิกฤตหนี้กรีซใกล้ชิด
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานและวัสดุที่ดีดตัวขึ้น
ดัชนี MSCI Asia Pacific ขยับขึ้น 0.1% แตะ 146.38 จุด เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ตามเวลาโตเกียว
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 20,291.05 จุด เพิ่มขึ้น 55.32 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,311.76 จุด ลดลง 11.26 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,077.27 จุด เพิ่มขึ้น 3.07 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,317.47 จุด เพิ่มขึ้น 0.14 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,709.77 จุด เพิ่มขึ้น 3.13 จุด
ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกงปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันสถาปนาเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
นักลงทุนยังคงระมัดระวังการซื้อขายและจับตาดูวิกฤตหนี้สินของกรีซอย่างใกล้ชิด หลังจากที่กรีซผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตามกำหนดเมื่อวานนี้ นอกจากนี้ กรีซจะจัดทำประชามติในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อให้ประชาชนชี้ขาดว่าจะรับเงื่อนไขในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากทางเจ้าหนี้หรือไม่
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดร่วง เหตุวิตกกรีซผิดนัดชำระหนี้
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า กรีซจะผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งอาจจะส่งผลให้กรีซต้องออกจากยูโรโซน
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.3% ปิดที่ 381.31 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,790.20 จุด ลดลง 79.62 จุด หรือ -1.63% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,944.97 จุด ร่วงลง 138.23 จุด หรือ -1.25% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,520.98 จุด ลดลง 99.50 จุด หรือ -1.50%
ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงติดต่อกัน 2 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่ากรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้ IMF
ทั้งนี้ หลังจากตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการแล้ว IMF ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า กรีซยังไม่ได้ชำระหนี้มูลค่า 1.6 พันล้านยูโรให้กับ IMF ตามกำหนดเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ซึ่งทำให้กรีซกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ IMF
นักลงทุนจับตาดูกรีซจะจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค.เพื่อให้ประชาชนชี้ขาดว่าจะรับหรือไม่รับเงื่อนไขในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากทางเจ้าหนี้
หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลง โดยหุ้นอาร์เซลอร์มิททาล และหุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ต่างก็ร่วงลงอย่างน้อย 3.2%
ส่วนหุ้นหลุยส์ วิตตอง ร่วงลง 1.5% หลังจากแบงก์ ออฟ อเมริกา ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นหลุยส์ วิตตอง ขณะที่หุ้นคริสเตียน ดิออร์ ดิ่งลง 4.8% หลังจากแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นดังกล่าวลงเช่นกัน
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดบวก 23.16 จุด ขณะตลาดจับตาหนี้กรีซ
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (30 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากดาวโจนส์ร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายและจับตาดูวิกฤตหนี้สินของกรีซอย่างใกล้ชิด โดยกรีซจะจัดทำประชามติในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อให้ประชาชนชี้ขาดว่าจะรับเงื่อนไขในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากทางเจ้าหนี้หรือไม่
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,619.51 จุด เพิ่มขึ้น 23.16 จุด หรือ +0.13% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,986.87 จุด เพิ่มขึ้น 28.40 จุด หรือ +0.57% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,063.11 จุด เพิ่มขึ้น 5.47 จุด หรือ +0.27%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นเนื่องจากแรงซื้อเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายโดยรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สินของกรีซ โดยกรีซมีกำหนดชำระหนี้ 1.6 พันล้านยูโรแก่ IMF ในวันที่ 30 มิ.ย. และการผิดนัดชำระหนี้อาจส่งผลให้กรีซต้องออกจากยูโรโซน
ทั้งนี้ หลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำการแล้ว IMF ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า กรีซยังไม่ได้ชำระหนี้มูลค่า 1.6 พันล้านยูโรให้กับ IMF ตามกำหนดเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ซึ่งทำให้กรีซกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ IMF
นักลงทุนจับตาดูกรีซจะจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค.เพื่อให้ประชาชนชี้ขาดว่าจะรับหรือไม่รับเงื่อนไขในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากทางเจ้าหนี้
รายงานระบุว่า รัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้จัดการประชุมทางไกลฉุกเฉินขึ้นเมื่อวานนี้ เวลา 19.00 น.ตามเวลากรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หรือเวลา 24.00 น.เมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอจากรัฐบาลกรีซที่ยูโรกรุ๊ปได้รับมาในช่วงบ่ายวานนี้ ซึ่งในข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลกรีซขอความช่วยเหลือทางการเงินจากทางเจ้าหนี้ยุโรปเป็นเวลา 2 ปี
นักลงทุจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในคืนนี้ตามเวลาไทย รวมถึงตัวเลขจ้างงานเดือนมิ.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิ.ย., ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และค่าใช้จ่ายด้านก่อสร้างเดือนพ.ค.
อินโฟเควสท์