- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Monday, 13 October 2014 11:04
- Hits: 2430
ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้าปรับลงตามตลาดหุ้นโลก-กังวลศก.ยูโรโซนชะลอตัว
นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้มีแนวโน้มปรับตัวลงตามดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจยูโรโซนถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 58 ในขณะเดียวกันสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้มีการปรับอันดับเครดิตของฝรั่งเศสลง จากเดิมมีศักยภาพมาเป็นเชิงลบ ตอกย้ำถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโรโซน
แต่อย่างไรก็ตาม การปรับลดของดัชนีวันนี้คงไม่มากนัก เนื่องจากยังมีเม็ดเงินของกองทุน LTF และ RMF ที่รอเข้าลงทุนในช่วงดัชนีอ่อนตัวลง
พร้อมให้แนวต้าน 1,560-1,565 จุด แนวรับ 1,544-1,545 จุด
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :
- ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(10 ต.ค.)ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 16,544.10 จุด ร่วงลง 115.15 จุด(-0.69%),ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,276.24 จุด ลดลง 102.10 จุด(-2.33%),ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,906.13 จุด ลดลง 22.08 จุด(-1.15%)
- ตลาดหุ้นเอเชีย ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 204.54 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ ลดลง 50.82 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 21.44 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 9.98 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 0.67 จุด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันกีฬาและสุขภาพ
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด(10 ต.ค.) 1,552.72 จุด ลดลง 7.89 จุด(-0.51%
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 966.34 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 ต.ค.57
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด(10 ต.ค.)ที่ 85.82 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 5 เซนต์
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด(10 ต.ค.)ที่ 4.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.44/46 แนวโน้มแข็งค่า คาดกรอบวันนี้ 32.35-32.50
- สปช.กลุ่มแบงก์ผลักดันปฏิรูปเศรษฐกิจ ควบคู่ต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมเร่งเพิ่มขีดความสามารถแรงไทย สปช.เศรษฐกิจเล็งดันประเด็นลดเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้-ประสิทธิภาพชาวนา และระบบการค้าที่เป็นธรรม
- หลายประเทศเริ่มดำเนินมาตรการคัดกรองที่สนามบิน หวั่นไวรัสอีโบลา สนามบินเจเอฟเคในนิวยอร์กประเดิมเพิ่มความเข้มงวดตรวจผู้โดยสารและลูกเรือจากแอฟริกาตะวันตก อังกฤษซ้อมจำลองเหตุการณ์จริงกรณีเกิดการระบาด ขณะพยาบาลสเปนที่ติดเชื้อ อาการดีขึ้นหลังรับยาซีแมพ ด้านรัสเซียพัฒนาวัคซีน 3 ชนิด คาดพร้อมใช้ 6 เดือนหน้า ด้านยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 4,000 ราย ด้านสาธารณสุขประจำรัฐเทกซัส เผยอาจมีผู้ติดเชื้ออีโบลารายที่ 2 ในสหรัฐ
- ค่ายรถมองตลาดปี 2558 ฟื้นตัวเล็กน้อยหลังปรับฐานตลาด เคลียร์สต็อก รัฐกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ มั่นใจเห็นภาพชัดปลายปี หลังผู้บริโภครู้อนาคตรายได้ โบนัสชี้ปีนี้แคมเปญแรงไร้ผล เร่งปรับแผนสร้างกิจกรรมเจาะตรงลูกค้า ร่วมมือไฟแนนซ์เพิ่มความยืดหยุ่น เงื่อนไขซื้อขายรถบรรทุกขยับราคา เร่งการซื้อ
- สมาคมตลาดตราสารหนี้ระบุยอดออกหุ้นกู้ ปีนี้ทะลุเป้าแตะ 4.7 แสนล้านบาท ขณะที่ต่างชาติสะสมตราสารระยะยาวช่วง 4 เดือนที่ผ่านมากว่า 8 หมื่นล้านบาท สะท้อนความมั่นใจที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ส่วนต้นต.ค.ปีนี้เงินต่างชาติไหลออกต่อเนื่องทำให้สัดส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นเหลือ 17% ช่วยลดความผันผวนในตลาด
*หุ้นเด่นวันนี้
- KTB (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง)"ทยอยสะสม"เป้า 27.00 บาท คาดกำไรสุทธิ 3Q57 เติบโต +3% yoy และ +22% qoq เป็น 9.2 พันล้านบาท จากสินเชื่อ 3Q57 ที่กลับมาขยายตัว +8% yoy ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ NIM ทรงตัวที่ 2.88% จาก 2Q57 ที่ 2.90% การตั้งสำรองคาดเข้าสู่ระดับปกติ 2.7 พันล้านบาทใน 3Q57 จาก 2Q57 ที่ 5.3 พันล้านบาท ทิศทางสินเชื่อ 4Q57 เติบโตสูงใกล้เคียงเป้าทั้งปี 6-8% (9M57 เติบโต +6.3% YTD) จากแรงหนุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ คาดกำไรสุทธิปี 58 โต +12.9% yoy เป็น 38,054 ล้านบาท มี Valuation ที่ยังไม่สูงมากนัก ผลตอบแทนปันผล 4%
- BJCHI (เคจีไอ)"ซื้อสะสม"เป้า 51 บาท แนวโน้ม 2H57 โตเด่น(กำไรครึ่งปีหลังคิดเป็น 70% ของประมาณการกำไรทั้งปีที่ 1.3 พันล้านบาทจากรับรู้ฯโครงการ Petrobas ส่วนใหญ่ และกำไรเป็นขาขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องในปี 57–59 ได้Sentiment บวกจากแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อน เป็นหุ้น Defensive ในเชิง Valuation ด้วย PE 10 เท่า และ Dividend yield ~6% ต่อปี
- AH,SAT(เคเคเทรด)"ซื้อ"AH เป้า 20.10 บ.และ SAT เป้า 22.70 บาท ค่ายรถเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่หลายรุ่นในปีหน้าพื่อกระตุ้นตลาด โตโยต้าเตรียมเปิดตัว'โคโรลล่า อัลติส'และ'ไฮลักซ์ วีโก้', ฮอนด้ามี“ซิตี้''แจ๊ซ'โมบิลิโอ'และ'วีเซล'และมิตซูบิชิมีรถกระบะใหม่'ไทรทัน'ขณะที่อุตฯยานยนต์ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและจะกลับมาเติบโตในปีหน้า
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงเช้านี้ เหตุวิตกเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ดัชนี MSCI Asia Pacific ไม่รวมญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเวลา 9.54 น.ตามเวลากรุงโซล
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 22,884.00 จุด ลดลง 204.54 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,767.42 จุด ลดลง 199.02 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,919.48 จุด ลดลง 21.44 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,213.89 จุด ลดลง 9.98 จุด และดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,808.21 จุด ลดลง 0.67 จุด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันกีฬาและสุขภาพ
ตลาดหุ้นเอเชียได้รับปัจจัยถ่วงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 สู่ระดับ 3.3% และปี 2558 สู่ระดับ 3.8% ซึ่งลดลง 0.1% และ 0.2% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค. ตามลำดับ
นักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ประกาศความพร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อปกป้องเศรษฐกิจยูโรโซนให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด และพร้อมที่จะใช้มาตรการแทรกแซงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังย่ำแย่
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดร่วง วิตกแผนกระตุ้นศก.ของอีซีบีไม่ราบรื่น
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจจะเผชิญอุปสรรคในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐมนตรีคลังของเยอรมนีออกมาเตือนเรื่องการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบเดียวกับในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการขัดแย้งกับที่นายมาริโอ ดรากิ ประธานอีซีบีได้ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า อีซีบีพร้อมที่จะใช้มาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยูโรโซน
ดัชนี Stoxx 600 ร่วงลง 1.6% ปิดที่ 321.62 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 8,788.81 จุด ร่วงลง 216.21 จุด หรือ -2.40% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,073.71 จุด ลดลง 67.74 จุด หรือ -1.64% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,339.97 จุด ลดลง 91.88 จุด หรือ -1.43%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบีอาจจะไม่ราบรื่น หลังจากที่นายโวล์ฟกัง ชอยเบอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนีได้ออกมาเตือนเรื่องผลกระทบของการใช้มาตรการ QE แบบเดียวกับในสหรัฐ และเรียกร้องให้ประเทศยูโรโซนหันมาเพิ่มวินัยด้านการคลังเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
การแสดงความคิดเห็นของนายชอยเบิลถือเป็นการขัดแย้งกับที่นายดรากิ ประธานอีซีบีได้กล่าวในที่ประชุมของสถาบันบรูคกิงส์ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อเร็วๆนี้ว่า อีซีบีพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในระดับต่ำนานจนเกินไป และยังกล่าวด้วยว่า อีซีบีเราพร้อมที่จะใช้มาตรการขนานใหญ่ และ/หรือ ใช้มาตรการแทรกแซงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งถ้อยแถลงของนายดรากิถือเป็นการส่งสัญญาณที่หนักแน่นว่า อีซีบีพร้อมที่จะเปิดตัวโครงการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่ของรัฐบาล หรือที่เรียกกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อป้องกันเศรษฐกิจยูโรโซนจากภาวะเงินฝืด หลังจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนร่วงลงแตะระดับ 0.3% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของอีซีบีอยู่มาก
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง นำโดยหุ้นเซมิไมโครอิเล็คทรอนิคส์ ร่วงลง 5.7% และหุ้นอินฟิเนียน เทคโนโลยี ร่วงลงเช่นกัน เพราะได้รับแรงกดดันหลังจากบริษัทไมโครชิพ เทคโนโลยีได้ออกรายงานเตือนว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้เข้าสู่ภาวะปรับฐานแล้ว และจะเข้าสู่ภาวะ "ปรับฐานลง" เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันใกล้นี้
หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงเช่นกัน โดยหุ้น Ophir Energy ร่วงลง 8.2% และหุ้น Abengoa SA ดิ่งลง 8.8%
นักลงทุนจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในยุโรปอย่างใกล้ชิด หลังจากโรงพยาบาลในกรุงมาดริดรายงานว่า มีการเฝ้าระวังสัญญาณการติดเชื้ออีโบลาในประชาชน 13 คนในประเทศสเปน ซึ่งข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเดินทางร่วงลงด้วย รวมถึงหุ้นแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม และหุ้นโธมัส คุ๊ก ที่ต่างก็ร่วงลงอย่างน้อย 2.2%
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดร่วง 91.88 จุด วิตกเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัว
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) หลังจากนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่าอีซีบีพร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังชะลอตัวลงอย่างหนัก
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,339.97 จุด ลดลง 91.88 จุด หรือ -1.43%
ตลาดหุ้นลอนดอนร่วงลงหลังจากนายดรากิ ประธานอีซีบีได้กล่าวในที่ประชุมของสถาบันบรูคกิงส์ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อเร็วๆนี้ว่า อีซีบีพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในระดับต่ำนานจนเกินไป ซึ่งถ้อยแถลงของนายดรากิถือเป็นการส่งสัญญาณที่หนักแน่นว่า อีซีบีพร้อมที่จะเปิดตัวโครงการซื้อสินทรัพย์ขนานใหญ่ของรัฐบาล หรือที่เรียกกว่ามาตรการ QE เพื่อป้องกันเศรษฐกิจยูโรโซนจากภาวะเงินฝืด
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหนักสุด นำโดยหุ้นทุลโลว์ ออยล์ที่ปรับตัวลง 7.88% ขณะที่หุ้นฮาร์เกรฟส์ แลนด์ส ดาวน์ ร่วงลง 4.17% และหุ้นอันโตฟากัสต้า ดิ่งลง 2.57%
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : แรงขายหุ้นกลุ่มเทคโนฯ ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 115.15 จุด
ดัชนี ดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (10 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากบริษัทไมโครชิพ เทคโนโลยีได้ออกรายงานเตือนว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังจะเข้าสู่ภาวะ "ปรับฐานลง" เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วย
ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,544.10 จุด ร่วงลง 115.15 จุด หรือ -0.69% ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,276.24 จุด ดิ่งลง 102.10 จุด หรือ -2.33% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,906.13 จุด ลดลง 22.08 จุด หรือ -1.15%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะซบเซาของเศรษฐกิจในยูโรโซน รวมถึงยอดส่งออกของเยอรมนีที่หดตัวลง 5.8% ซึ่งเป็นการหดตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 สู่ระดับ 3.3% และปี 2558 สู่ระดับ 3.8% ซึ่งลดลง 0.1% และ 0.2% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค. ตามลำดับ
นักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อนายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ประกาศความพร้อมที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อปกป้องเศรษฐกิจยูโรโซนให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด และพร้อมที่จะใช้มาตรการแทรกแซงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังย่ำแย่
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการที่นักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้น NASDAQ ที่ดิ่งลงอย่างหนัก หลังจากบริษัทไมโครชิพ เทคโนโลยีได้ออกรายงานเตือนว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้เข้าสู่ภาวะปรับฐานแล้ว และจะเข้าสู่ภาวะ "ปรับฐานลง" เป็นวงกว้างในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่หุ้นของไมโครชิพ เทคโนโลยี ร่วงลง 12.26% หุ้นอินเทล คอร์ป ดิ่งลง 5.1% หุ้นไมครอน เทค ร่วงลง 9.3% และหุ้นเอ็นเอ็กซ์พี เซมิคอนดัคเตอร์ ดิ่งลง 12.4%
ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงทั้งสิ้น 3.1% ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลง 4.5% และดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง 2.7%
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ส่งผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดนั้น ทางการฝรั่งเศสเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสไม่มีการขยายตัวในเดือนส.ค. หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. ซึ่งตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะงักงันของฝรั่งเศส ได้ตอกย้ำความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีร่วงลงอย่างหนัก โดยปรับตัวลง 4.0% ในเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะปรับตัวลง 1.5%
อินโฟเควสท์