WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8575 ข่าวสดรายวัน

นิวัฒน์ชง 3 สค. จัดเลือกสส. 
สว.ยื่นอีก ศาลรธน. บี้ล้มครม.


ได้รายงาน - นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ โชว์เอกสารที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. รายงานเรื่องประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.

      นิวัฒน์ธำรงเสนอเลือกตั้ง 3 ส.ค. สมชัยเผยรัฐบาลรับเงื่อนไขกกต. นำเข้าที่ประชุมวันนี้ ครม.ชุดเล็กถกเครียด 'กฎอัยการศึก'ย้ำกองทัพต้องยึดกฎหมาย-ไม่เลือกปฏิบัติ พท.ติงส่อขัดรัฐธรรมนูญ หวั่นรัฐประหารซ่อนรูป มาร์คยังลุ้นส.ว.ตั้งรัฐบาลชั่วคราว ไพบูลย์ยื่นศาลรธน.อีก หวังสุญญากาศ ร้องครม.พ้นอำนาจ เหตุประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทรกแซง กกต.-เอื้อเลือกตั้ง ขณะที่สุรชัย 40 ส.ว.ยังเดินหน้า หานายกฯ คนกลาง 

รัฐบาลโอเค'กฎอัยการศึก'
     เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 08.30 น. มีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็กเพื่อหารือถึงสถาน การณ์ในภาพรวม หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่งหลังการประชุมอาจออกแถลงการณ์ถึงแนวทางการดำเนินการของครม.
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ได้หารือวงเล็กกันที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง โดยมีแกนนำพรรคและรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยมาหารือเป็นการภายใน อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ และนายสุรนันทน์ ทั้งนี้ การหารือเบื้องต้นรัฐบาลยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือ แต่จะยึดตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
      รายงานข่าวจากคนใกลชิดนายนิวัฒน์ธำรง เผยว่า เดิมเช้าวันนี้ นายนิวัฒน์ธำรงมีกำหนดเดินทางไปจ.เชียงใหม่ โดยจะพาภรรยาไปด้วย และจะพักที่ จ.เชียงใหม่ หลายวัน แต่ช่วงกลางดึกเมื่อได้รับการประสานจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึก จึงยกเลิกการเดินทาง ก่อนจะไปพูดคุยกันที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งกับแกนนำ

ย้ำกองทัพต้องยึดรธน.
      นายนิวัฒน์ธำรง ได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชน กรณีกองทัพบกประกาศใช้พ.ร.บ. กฎอัยการศึกว่า ตามที่กองทัพบกประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็วนั้น รัฐบาลก็มุ่งหวังจะเห็นความสงบเกิดขึ้นเช่นกัน โดยการดำเนินการจำเป็นต้องเป็นไปตามแนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เลือกปฏิบัติและให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ตามนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการ มาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการของกอง ทัพบกดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้ว ชี้ไม่เกินคาด-ห่วงละเมิดสิทธิ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เขียนข้อความแสดงความเห็นทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "การประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา หวังว่าจะไม่มีฝ่ายใดก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และบ่อนทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยยิ่งไปกว่านี้ จะยิ่งซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกบ่อนทำลายในสายตาของชาวโลก"
      นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไม่รู้สึกกังวลใจ เชื่อว่ากองทัพมีการประเมินสถานการณ์แล้ว และเป็นการเข้ามาแทน ศอ.รส. เพื่อควบคุมให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ไม่ให้เกิดความรุนแรง และเชื่อว่าผบ.ทบ.จะไม่เปิดทางให้วุฒิสภาดำเนินการเสนอชื่อตั้งนายกฯคนกลาง โดยมองว่าผบ.ทบ.จะมีข้อยุติที่ไม่นำไปสู่ความวุ่นวาย

จารุพงศ์ ลั่นเป็นฝ่ายถูกกระทำ
      ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศอ.รส. ปฏิเสธไม่ขอแสดงความเห็นกรณีผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าตนไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวหรือเข้าค้นบ้านพัก รวมถึงไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศตามที่มีกระแสข่าว
      นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผบ.ทบ.ประกาศกฎอัยการศึกว่า ไม่ทราบ ไม่มีความเห็นเพราะไม่ใช่คนประกาศ ถ้าสื่อทราบขอให้บอกด้วย ทั้งนี้ รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นคนทำ ตนจะไม่พูด พูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เราเป็นฝ่ายถูกกระทำ ต้องให้คนทำเป็นคนพูด ส่วนเรื่องรายงานตัวคงต้องฟังว่าจะเป็นอย่างไร

อำพนแจงผลถก'บิ๊กตู่'ต่อครม.
      เวลา 16.00 น. นายนิวัฒน์ธำรงได้เรียกประชุมรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย อาทิ นายพงศ์เทพ นายชัยเกษม นายจารุพงศ์ ฯลฯ ที่สำนัก งานปลัดกระทรวงกลาโหม แจ้งวัฒนะ โดยนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. ได้รายงานพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผอ.รส. ประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับหัวหน้าราชการการหารือ ให้ที่ประชุมรับทราบด้วย
      รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมไม่ค่อยพอใจท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่กดดันฝ่ายรัฐบาลและกดดันการทำหน้าที่ของข้าราชการประจำ โดยเฉพาะนายอำพน และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

นิวัฒน์จ่อคุย'บิ๊กตู่'ในสัปดาห์นี้
      นายนิวัฒน์ธำรงแถลงภายหลังประชุมรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ว่า รัฐบาลยืนยันบทบาทที่ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยกับประเทศและประชาชนโดยยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยรัฐมนตรีที่เหลือยังคงต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์มีหนังสือส่งมายังรัฐบาลเรื่องการออกกฎอัยการศึกแล้ว ที่ประชุมยังเห็นว่าควรร่วมหารือกับทุกฝ่ายในการทำงาน ส่วนเรื่องการเลือกตั้งนั้นเราได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ ส่วนการปฏิรูปประเทศก็จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนด้วย
       เมื่อถามว่าพล.อ.ประยุทธ์นัดหารือหรือยัง นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า กำลังประสาน คิดน่าน่าจะหารือกันภายในสัปดาห์นี้ ส่วนกฎอัยการศึกไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้าพอทำได้อยู่ รัฐบาลมองความมุ่งหมายของความสงบของบ้านเมือง ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกัน เกิดความเสียหายทางร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน เชื่อว่ากองทัพก็เช่นเดียวกัน จะทำไปตามกรอบของกฎหมายนิติรัฐ นิติธรรม เมื่อถามถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะสั่งปลดผบ.ทบ. นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ไม่มี เป็นแค่ข่าวลือ 

เสนอเลือกตั้ง 3 ส.ค.
      ผู้สื่อข่าวถามว่า ผบ.ทบ.บอกข้าราชการว่าถ้าเลือกตั้งไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องคุยเพิ่มเติม แม้หลายเรื่อง ผบ.ทบ.จะตอบไปพอสมควร แต่เชื่อว่ายังไม่มีอะไรชัดเจน ต้องว่ากันตามกฎหมาย การเลือกตั้งมันถูกบังคับโดยกฎหมายอยู่ ฉะนั้นต้องปรึกษาหารือกับหลายๆ ฝ่าย
     นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวด้วยว่า วันเดียวกันนี้ตนลงนามในหนังสือถึง กกต. เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งเพื่อตอบหนังสือที่กกต.เคยทำมาถึงรัฐบาล โดยเสนอไปยังกกต. วันเลือกตั้งที่เหมาะสมคือ 3 ส.ค. 2557 ดูจากจำนวนวันแล้ว 20 ก.ค. 27 ก.ค. และ 3 ส.ค. เผื่อไว้ให้มีเวลาเต็มที่ จึงเสนอว่าน่าจะเป็นวันที่ 3 ส.ค. ซึ่งก็อยู่กับกกต.จะพิจารณา 
       นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า เรื่องที่สองคือ การเพิ่มเติมในมาตรา 4 ตามพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กรณีถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะเลื่อนวันได้ไหม รัฐบาลก็ตอบรับไป ส่วนเรื่องอำนาจในการสนองพระบรมราชโองการเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งนั้น สามารถทำได้ และมีตัวอย่างประกอบ โดยยืนยันว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดครั้งแรก สมัยที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ก็รับสนองฯในฐานะรองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ถึง 2-3 ครั้ง ถ้าสามารถสรุปได้อาจไม่ต้องประชุมร่วมกันอีก เพราะประเด็นมีอยู่เท่านี้ หากกกต.ตอบตกลงตามที่รัฐบาลเสนอภายในวันศุกร์นี้ คิดว่าภายในสัปดาห์หน้าก็นำร่างพ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย แต่ถ้าล่วงเลยไปก็อาจจะมีขลุกขลักบ้าง ส่วนการปฏิรูปสามารถทำคู่ขนานไปด้วยกันได้เลย เป็นเรื่องที่เคยคุยกับหลายๆ ฝ่ายมาแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา 

พท.ติงอัยการศึกส่อขัดรธน.
      เวลา 15.00 น. พรรคเพื่อไทยเรียกประชุมคณะกรรมการกิจการพรรค โดยมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประธานที่ปรึกษาพรรคเป็นประธาน หารือถึงสถานการณ์การเมืองหลังประกาศใช้กฎอัยการศึก 
      จากนั้นเวลา 18.00 น. พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ระบุว่า 1.การประกาศกฎอัยการศึก น่าจะมีปัญหาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 และพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 2 และ 4 หรือไม่ เพราะต้องทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการ 2.การประกาศดังกล่าว แม้จะมีเจตนาแก้ปัญหาและนำประเทศไปสู่ภาวะปกติ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย
      3.นานาประเทศให้ความสนใจและกังวลมาก เช่น สหรัฐแสดงท่าทีชัดเจนว่าทุกฝ่ายต้องเคารพต่อหลักประชาธิปไตย เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น โดยตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะรักษาเกียรติยศแห่งคำมั่นสัญญาที่จะกระทำการระยะสั้นครั้งนี้ เพื่อระงับสถาน การณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและไม่ทำลายสถาบันประชาธิปไตย ทุกฝ่ายจะร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ซึ่งการพัฒนาจะต้องเปลี่ยนผ่านด้วยวิถีทางการเลือกตั้งและยึดความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่เป็นหลัก จึงขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงท่าทีดังกล่าว ไม่ให้นานาชาติเข้าใจผิดว่าเป็นการรัฐประหารซึ่งจะเกิดผลเสียต่อประเทศ

จี้ปฏิบัติตามกม.อย่างเป็นธรรม
      4.ขอเสนอให้ผู้รับผิดชอบประกาศกฎอัยการศึกดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เป็นธรรม ตรงไปตรงมากับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือองค์กรใดที่มุ่งล้มล้างการปกครองด้วยการข่มขู่ คุกคามบุคคลในรัฐบาล การทำร้ายประชาชน การข่มขู่ตัดสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อย และนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วต่อไป
      5.ขณะนี้รัฐธรรมนูญยังใช้บังคับอยู่ตามปกติ จึงไม่มีกรณีใดๆ ที่ส.ว.บางส่วนหรือกลุ่มบุคคลใดจะผลักดันให้มีนายกฯ และครม.นอกรัฐธรรมนูญได้ และ 6.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล กกต.และผู้รับผิดชอบประกาศกฎอัยการศึก รีบหารือกันโดยเร่งด่วนเพื่อหาทางออกของประเทศตามหลักประชาธิปไตย ด้วยการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว และขอให้ทุกพรรค ทุกฝ่ายเข้าร่วมเลือกตั้ง ให้เกียรติกัน ยุติการใส่ร้ายป้ายสี สร้างความโกรธแค้นชิงชัง เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง 

หวั่นปฏิวัติซ่อนรูป
       รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการพรรควิเคราะห์ถึงเหตุที่กองทัพประกาศกฎอัยการศึกว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารซ่อนรูป และการตั้งนายกฯนอกรัฐธรรมนูญและรัฐบาลเฉพาะกาลหรือไม่ เพราะเมื่อดูประกาศกฎอัยการศึกในอดีต จะประกาศเฉพาะพื้นที่ที่มีเหตุจลาจล แต่พล.อ.ประยุทธ์ กลับประกาศกฎอัยการศึกครอบคลุมทั้งประเทศซึ่งเกินกว่าความจำเป็น ที่ประชุมจึงกังวลว่าการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวที่กองทัพอ้างว่าเพื่อใช้ควบคุมและดูแลสถาน การณ์บ้านเมืองให้เกิดความเรียบร้อยนั้น เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อนำไปสู่เหตุดังกล่าว แต่ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่รัฐบาลและกกต.จะใช้โอกาสนี้เร่งหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะอย่างน้อยกปปส.ก็ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางการจัดการเลือกตั้งได้

มาร์ค ลุ้นสว.ตั้งรัฐบาลชั่วคราว
      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การที่ทหารประกาศใช้กฎอัยการศึก เพราะมีเจตนาจะช่วยให้หลีกเลี่ยงความสูญเสีย มุ่งรักษาความสงบ เชื่อว่าวุฒิสภาอาจจะคิดคล้ายกันว่าต้องเปิดทางสู่การมีรัฐบาลเข้ามาจัดการชั่วคราวเพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ และตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูปกับการเลือกตั้ง เพราะอำนาจตามกฎอัยการศึกไม่สามารถเป็นคำตอบที่ยั่งยืนได้
     นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วยกับการที่ 2 รัฐมนตรี ของพรรคจะลาออกว่า คนที่คิดว่าปล่อยให้มันไหลไปแล้วถ้าปฏิวัติก็ปฏิวัติไปนั้น ถือว่าไม่เป็นนักประชาธิปไตยจริง เพราะไม่ได้ปกป้องประชาธิปไตย มองว่าการที่รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งจะมีความหมาย เป็นแรงกดดันทางสังคม ให้คนอื่นที่ยังอยู่ในตำแหน่งต้องตอบคำถามว่าทำไมไม่ลาออก และแสดงว่าการลาออกไม่ผิดกฎหมาย

นิพิฏฐ์ เชียร์รัฐประหาร
      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า หากใช้เพียงกฎอัยการศึกก็ไม่สามารถยุติความขัดแย้งในตอนนี้ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ ยังต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งความขัดแย้งเกิดจากการตีความรัฐธรรมนูญต่างกัน หากทหารจะให้บ้านเมืองคืนสู่ปกติต้องใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ
       "สถานการณ์ตอนนี้อาจขยับไปสู่การรัฐประหารได้ ทหารต้องมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ต้องพัฒนาไปสู่รัฐประหารที่ทำเพื่อประเทศอย่างแท้จริง ทุกคนก็จะให้ความร่วมมือและขอให้ทหารนำบทเรียนของปี 2549 มาใช้ แต่อย่าลงท้ายด้วยการหานายกฯ คนกลาง หรือใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึกจะเสียของ แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือก็ต้องรัฐประหาร หากให้ความร่วมมือก็ไม่จำเป็นต้องรัฐประหาร ครั้งนี้ใช้ยาแก้ปวดก่อน ถ้าไม่หายก็ต้องผ่าตัด" นายนิพิฏฐ์กล่าว

ปชป.นัดถกประเมิน'อัยการศึก'
      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป. เผยว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 21 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อประเมินสถานการณ์การเมือง จากนั้นจะออกแถลงการณ์แสดงท่าทีของพรรคต่อไป
      ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรค ปชป. ว่า หลังจากกองทัพบกออกประกาศฎอัยการศึก บรรยากาศที่พรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเช้า เป็นไปอย่างเงียบเหงา ทีมโฆษกพรรคงดการแถลงข่าวประจำวัน ขณะที่นายอภิสิทธิ์เข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวที่พรรคในช่วงเช้า กระทั่งเวลา 12.00 น. เดินทางออกจากพรรคแบบกะทันหัน

สมชัย เผยรบ.ยอมรับเงื่อนไขแล้ว
      ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศกฎอัยการศึก กกต.จะพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อกำหนดเลือกตั้งได้อีกหรือไม่ว่า ขอศึกษาข้อกฎหมายและยังไม่ให้ความเห็น แต่จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมกกต.
      นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า แม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญยังคงใช้บังคับอยู่ องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้าตามปกติ ซึ่งกกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งก็ต้องเดินหน้าต่อไป และขณะนี้รัฐบาล มีหนังสือลงวันที่ 19 พ.ค. ถึงประธานกกต. มีเนื้อหา 3 ประเด็น คือ 1.รัฐบาลยินยอมให้ระบุข้อความว่า หากมีเหตุสุดวิสัยให้รัฐบาล ออกพ.ร.ฎ.เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่ กกต.ร้องขอไว้ในมาตรา 4 ของร่างพ.ร.ฏ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 
       นายสมชั ยกล่าวว่า 2.รัฐบาลเสนอว่าวันเลือกตั้งที่เหมาะสมคือวันที่ 3 ส.ค. และ 3.ยืนยันว่านายนิวัฒน์ธำรง มีอำนาจทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ โดยระบุข้อกฎหมายประกอบ และยังมีข้อความในท้ายหนังสือ ขอให้กกต.พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวและแจ้งให้กับรัฐบาลทราบในวันที่ 23 พ.ค. นี้ ซึ่งกกต.จะพิจารณาหนังสือของรัฐบาลในการประชุมกกต.วันที่ 21 พ.ค. 

ส.ว.ค้านทหารหานายกฯคนกลาง
      ที่รัฐสภา กลุ่ม ส.ว.สายกลาง นำโดย นายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว.ลำพูน นายวัน สุวรรณพงษ์ ส.ว.ขอนแก่น และนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ร่วมกันแถลงว่า ส.ว.สายกลางเห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก เนื่องจากช่วยระงับเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและจลาจลได้ โดยสนับ สนุนให้ ผบ.ทบ.ในฐานะ ผอ.รส. เป็นคนกลางเรียกคู่ขัดแย้งและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาเจรจา เพื่อหาทางออกให้ประเทศเข้าสู่ความสงบโดยเร็ว แต่หากทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสรรหานายกฯ ทางกลุ่มส.ว.สายกลางก็ไม่เห็นด้วย 
      นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ภารกิจของวุฒิสภายังเดินหน้าผ่าทางตันหาทางออกให้กับประเทศ โดยจะขอดูสถานการณ์ภายใน 1-2 วันว่าฝ่ายความมั่นคงจะหาทางออกให้กับประเทศได้หรือไม่ แต่ ส.ว.ยังเดินหน้าทำงานต่อไป ทั้งนี้วุฒิสภาคงไม่ต้องประสานกับกองทัพเพื่อหาทางออกเพราะวุฒิสภาไม่เกี่ยว ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
      ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายเสรี วงษ์มณฑา แกนนำ กปปส.ระบุนายสุรชัยเป็นพวกเดียว กับกปปส. นายสุรชัยกล่าวว่า ใครจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่เคยเห็นตนไปขึ้นเวทีหรือเฉียดไปข้างเวทีหรือไม่ ใครจะมาชื่นชมก็เป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนใครที่พูดพาดพิงตน ขอให้รับผิดชอบคำพูดเอง

ส.ว.ถกเครียด'กฎอัยการศึก'
      เวลา 14.30 น. นายสุรชัยนัดประชุมวุฒิสภาเป็นการด่วนโดยไม่แจ้งระเบียบวาระ มอบหมายให้ พล.ร.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว. สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบ้านเมือง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน โดยพล.ร.อ.วีรวิทแจ้งที่ประชุมว่า เดิมนายสุรชัยจะทำหน้าที่ประธานการประชุมด้วยตัวเอง แต่ติดภารกิจต้องไปพบผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถมาทำหน้าที่ได้ ส่วนการจัดประชุมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งของวุฒิสภาทำได้ ไม่ผิดกฎอัยการศึกหรือระเบียบ กอ.รส. 
       ทั้งนี้ที่ประชุมหารือกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.รส. ประกาศใช้กฎอัยการศึกระงับความรุนแรงทางการเมือง โดยกลุ่ม 40 ส.ว.แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ระบุว่าประกาศที่ออกมา เช่น ห้ามเคลื่อนย้ายมวลชน ให้ชุมนุมเฉพาะพื้นที่ของกลุ่มตนเองนั้น เป็น การแก้ปัญหาด้านความมั่นคง ไม่ได้แก้ที่การเมือง ปัญหาก็จะยังคงเหมือนเดิม 
      นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.สรรหา เสนอวุฒิสภาตั้งคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ระบุมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า บทบัญญัติของกฎอัยการศึกขัดรัฐธรรมนูญ หมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งมีข้อสงสัยถึงเนื้อหาและกรอบการบังคับว่ามีขอบเขตอำนาจอย่างไร และยังพบว่ากฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาเหมือนกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ
      จากนั้นนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เสนอประชุมลับให้ส.ว.แสดงความคิดเห็นเต็มที่

เอาใจช่วยผบ.ทบ.
      ต่อมาเวลา 16.15 น. นายสุรชัย แถลงหลังการหารือวาระเร่งด่วนว่า การประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยับยั้งความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การจลาจล แต่การทำงานของวุฒิสภาแยกส่วนกับฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นจะเดินหน้าหาทางออกประเทศต่อไป ล่าสุดคณะทำงานส่งข้อสรุปให้ตนแล้ว ขอพิจารณาอีก 2-3 วันก่อนเผยแพร่โรดแม็ป ส่วนส.ว.สายกลางที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของพวกตน ยืนยันว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียด อาทิ ที่มาของรัฐบาล แต่มีสาระสำคัญต้องการแก้ปัญหาเหมือนกัน ตนมอบหมายนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ว่าที่รองประธานวุฒิสภา ประสานส.ว.กลุ่มดังกล่าวให้มาทำงานร่วมกัน เราเคารพทุกความเห็น แต่จะนำทุกความเห็นมาใส่ในโรดแม็ปคงไม่ได้ ตนพยายามลดจุดต่างแสวงหาจุดร่วม 
       นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ยังยืนยันแนวทางวุฒิสภาต้องการมีรัฐบาลอำนาจเต็ม เพราะการได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังมีปัญหา กกต.ชี้แจงต่อวุฒิสภาว่าไม่มั่นใจสถานะของรัฐบาลในการทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.แก้ไขกำหนดวันเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่าหากมีรัฐบาลอำนาจเต็มตามแนวทางของวุฒิสภาก็อาจจะติด พ.ร.ฎ.ยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 ที่ยังค้างอยู่ ซึ่งถือเป็นปัญหาซ้อนปัญหาได้ อย่างไรก็ตามการเข้ามาของพล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ หากสามารถประสานทุกฝ่ายเข้ามาเจรจากันได้ จะช่วยให้การทำงานของวุฒิสภาง่ายขึ้น เอาใจช่วยผบ.ทบ.ให้ทำงานสำเร็จ
 
ไพบูลย์ลุยร้องล้มครม.อีกยก
     นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนพร้อมส.ว. 32 คนได้เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ขอให้ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) หรือไม่ หลังจากพบว่าครม. ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 
       นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสาร 6 รายงาน ประกอบด้วย 1. คำพิพากษาศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 57, 2.มติ ครม.วันที่ 21 ม.ค 57, 3.เอกสารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 21 ม.ค. 57 , 4.แถลงการณ์ของ กกต. วันที่ 24 ม.ค. 57, 5.สำเนาหนังสือ สตง. ลงวันที่ 16 พ.ค. 57 และ 6.เอกสารข่าวที่ศรส. แทรกแซงการทำงานของ กกต. ลงวันที่ 2-3 ก.พ. 57 และวันที่ 5 มี.ค. 57 ทั้งนี้ได้ยื่นผ่านสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาและยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 20 พ.ค.
       ในเอกสารคำฟ้องของนายไพบูลย์และคณะ ระบุว่า การกระทำของครม. มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 268 ว่าด้วยการมิให้ใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการ เนื่องจากการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของ ครม.ก่อให้เกิดปัญหาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ครม.ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 181 ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพวกของตนและพรรคที่สังกัดอยู่ ดังปรากฏตามที่ กกต. ออกแถลงการณ์ให้ ครม.ทบทวนการใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากมีผลต่อการเลือกตั้ง

อ้างใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอื้อเลือกตั้ง
      2.ศรส.ที่ดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเมีหน้าที่ควบคุมจัดการเลือกตั้งโดยตรงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การควบคุมดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศรส. ทำให้การดำเนินการของศรส. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (1) และ 3.การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปรากฏตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและตรวจสอบพบว่าไม่ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา 
      เหตุผลทั้ง 3 ประการ การกระทำของครม.จึงเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นรัฐมนตรีก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ของข้าราชการประจำ พนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงาน กกต. เพื่อสร้างคะแนนความนิยมและความได้เปรียบให้กับตนเองและพรรคเพื่อไทย จึงต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(1) 

จี้ป.ป.ช.ฟันครม.คดีข้าว
      ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนาม บินน้ำ จ.นนทบุรี กลุ่มเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว นำโดยนายวรา จันทร์มณี นายวรธนิต สุวรรณรักษ์ และนายธานินทร์ เอกวรรณัง เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ขอให้เร่งพิจารณาชี้มูลความผิดต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เข้าข่ายความผิดต่อหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเปิดทางให้เกิดการทุจริต โดยมีนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับหนังสือ
       นายวรา กล่าวว่า แม้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ครม.และกขช.มีส่วนร่วมทุจริต แต่การที่ครม.และกขช.ไม่บริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง ทั้งยังไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหาย จึงขอให้ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดต่อครม.และกขช.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!