- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Friday, 22 November 2019 14:39
- Hits: 2592
ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ลุ้นรีบาวด์ตามภูมิภาคจากเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนยังเดินหน้า, เล็งกลุ่มพลังงานหนุนหลังราคาน้ำมันขึ้น
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะรีบาวด์ขึ้นได้ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวในแดนบวกกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่บวกได้ดี เป็นผลบวกจากเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่า ส่วนเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล่าสุดก็มีรายง่านออกมาว่ายังเจรจากันอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกไปเหมือนกระแสข่าวที่ออกมา แต่ไม่รู้ว่าจะจบได้เมื่อไร ดังนั้นเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จึงไร้ทิศทางที่ชัดเจนอยู่ในขณะที่ ซึ่งนักลงทุนตอนนี้ก็ Wait & See รอดูว่าวันที่ 15 ธ.ค.ที่จะถึงนี้สหรัฐฯจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนหรือไม่
นอกจากนี้ คาดว่าวันนี้ตลาดฯจะได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงานหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดีให้ติดตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ย.62 ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาในวันนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะดีขึ้น
ส่วนบ้านเราช่วงนี้ไม่มีแรงจูงใจเท่าไร หลังจากที่ตัวเลขส่งออกของไทยออกมาไม่ดี และเรื่องเกณฑ์ใหม่ของ LTF ก็ยังไม่รู้จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดู ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะดึงความสนใจได้มากแค่ไหน
พร้อมให้แนวรับ 1,586-1,580 จุด ส่วนแนวต้าน 1,598-1,605 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (21 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,766.29 จุด ลดลง 54.80 จุด (-0.20%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,103.54 จุด ลดลง 4.92 จุด (-0.16%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,506.21 จุด ลดลง 20.52 จุด (-0.24%)
ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 8.25 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 2.60 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 118.00 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 1.52 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 2.29 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 7.69 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 2.32 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 64.38 จุด
ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (21 พ.ย.62) 1,591.86 จุด ลดลง 4.97 จุด (-0.31%)
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 354.92 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 พ.ย.62
ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (21 พ.ย.62) ปิดที่ 58.58 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.57 ดอลลาร์ หรือ 2.8%
ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (21 พ.ย.) อยู่ที่ -0.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
เงินบาทเปิด 30.21 อ่อนค่าจากวานนี้เกาะกลุ่มภูมิภาค ตลาดรอดูสัญญาณเศรษฐกิจจากที่ประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้
"รองนายกฯ สมคิด" เรียกหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง หารือแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นของขวัญปีใหม่ ย้ำเศรษฐกิจไทยไม่ได้ชะลอตัว แบงก์รัฐขานรับเต็มที่ ด้าน "ออมสิน" ชงบอร์ด คลอดสินเชื่อเคหะตัวใหม่ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.7-2.9% เงื่อนไขพิเศษ "กู้ล้านผ่อน 10 บาท/เดือน" ขณะที่ "ธอส." เผยยอดอนุมัติสินเชื่อประชารัฐดอกเบี้ยต่ำแล้วเฉียด 4 พันล้านบาท คาดเต็มวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ภายใน ก.พ.ปีหน้า
"อุตตม" ยันสรุปรูปแบบจัดตั้ง "กองทุนใหม่" แทนแอลทีเอฟสัปดาห์หน้า เหตุติดภารกิจด่วน ต้องเลื่อนประชุมร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย "คลัง" แย้มเงื่อนไขคล้าย RMF ต้องถือลงทุนยาว 10-15 ปี แต่ไม่จำกัดประเภทหุ้นที่ลงทุน เหมือนแนวคิดเดิมที่เน้นให้ลงทุนหุ้นยั่งยืน
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคม 2562 ยังติดลบในอัตราชะลอตัวลง โดยมีมูลค่า 20,757.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 4.54 ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20,251.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 7.5 ส่งผล 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 207,329.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 2.35 ขณะที่ตัวเลขนำเข้า 10 เดือน มีมูลค่าทั้งสิ้น 199,441.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 4.09 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าแยกเป็นเดือนตุลาคมอยู่ที่ 506.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดุลการค้า 10 เดือนอยู่ที่ 7,887.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป" ว่าการจัดทำเอฟทีเอไทย-อียู โดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการของทั้ง 2 ฝ่ายส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 1.63% รวมถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.41% การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% และจำนวนคนจนลดลง 390,000 คน เป็นต้น
*หุ้นเด่นวันนี้
APP (บมจ.แอพพลิแคด) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มเทคโนโลยี โดยมีราคาเสนอขาย IPO 2.46 บาท/หุ้น ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินราคาเหมาะสมปี 2563 ที่ 4.04 บาทอิง PE 16x โดยคาดกำไรสุทธิปี 2562 ชะลอชั่วคราว -24.7% Y-Y ตามภาวะศก. แต่คาดเติบโตแข็งแกร่ง +24.7% Y-Y ในปี 2563 ราคา IPO 2.46 บาทคิดเป็น PE ปีหน้าเพียง 9.8x โดยบริษัทฯเป็นผู้จัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้างที่ขยายตัวในระยะยาวโดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการลงทุนพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นรูปแบบดิจิตอลและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีจุดแข็งในด้านสินค้าที่เป็นแบรนด์อันดับต้นๆของโลก เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มผู้ใช้งาน
EKH (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 9.20 บาท หุ้นถูก sell on fact ทั้งที่รายงานกำไร Q3/62 แข็งแกร่ง (กำไร 9M62 โดดเด่น +47% Y-Y) แนวโน้มกำไร Q4/62 แม้จะชะลอลง Q-Q เพราะฤดูกาลและทรงตัว Y-Y ชที่ 27-28 ลบ. เพราะ เริ่มเปิดดำเนินงานศูนย์กุมารเวชใหม่ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เราก็ปรับกำไรปีนี้ขึ้น 7% เป็น 160 ลบ. +36% Y-Y แกร่งกว่าที่เคยประเมิน พร้อมปรับกำไรปี 2563 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 166 ลบ. +4.4% Y-Y บนสมมติฐานที่ conservative กำไรของเรามี upside หากศูนย์กุมารเวชแห่งใหม่ประสบความสำเร็จมากกว่าคาด นอกจากนี้ EKH แผนสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุขนาดไม่ต่ำกว่า 30 เตียง เปิดให้บริการปี 2564 ช่วยรองรับการเติบโตในระยะถัดไป
JMT (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 24) คาดแนวโน้มกำไรจะยังพุ่งทำ All time high ได้ทุกไตรมาส จากรายได้ของการเรียกเก็บหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามพอร์ตหรือฐานลูกหนี้ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพอร์ตหนี้ในการบริหารทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท สามารถสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่องไปได้อีกอย่างน้อย 12 ปี และล่าสุดได้ข่าวดี MSCI ปรับเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global small cap
--อินโฟเควสท์