WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET44ภาวะตลาดหุ้นไทย : แนวโน้มดัชนีเช้านี้แกว่งไซด์เวย์-อิงลง หลังตลาดสหรัฐฯร่วงแรงกลับมากังวลสงครามการค้า

   นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่ง Sideway Down เนื่องจากตลาดสหรัฐฯเมื่อวานนี้ร่วงลงกว่า 200 จุด จากความกังวลสงครามการค้ากลับมาอีกครั้งหลังจากที่มีรายงานข่าวว่าหากการเจรจาระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐฯ ที่จะพบปะกันนอกรอบการประชุม G20 ในเดือนหน้าไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐฯก็อาจจะตั้งกำแพงภาษีอีก 2.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดีมองว่าประเด็นนี้ก็ไม่น่าจะทำให้ตลาด Panic ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วและการจะเก็บภาษีต่อไปก็คงจะมีวงเงินที่ลดลง

   ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้แกว่งไซด์เวย์ทั้งในแดนบวก-ลบเล็กน้อย ส่วนตลาดบ้านเราจะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิลดลง และเช้านี้เงินบาทก็แข็งค่าเล็กน้อย แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ส่วนราคาน้ำมันก็ลงไปบ้าง พร้อมให้ติดตามการเลือกตั้งในสหรัฐฯในวันที่ 6 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ให้แนวรับ 1,630 จุด ส่วนแนวต้าน 1,645 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

     - ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (29 ต.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,442.92 จุด ร่วงลง 245.39 จุด (-0.99%) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,050.29 จุด ลดลง 116.92 จุด (-1.63%) และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,641.25 จุด ลดลง 17.44 จุด (-0.66%)

      - ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 100.28 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 3.53 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 46.92 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 7.51 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 10.10 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 12.03 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 4.45 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 15.28 จุด

                - ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (29 ต.ค.61) 1,636.88 จุด เพิ่มขึ้น 7.92 จุด (+0.49%)

                - นักลงทุนต่างชาติต่างชาติขายสุทธิ 1,322.16 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ต.ค.61

                - ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (29 ต.ค.61) ปิดที่ 67.04 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 55 เซนต์ หรือ 0.8%

                - ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (29 ต.ค.61) ที่ 4.98 ดอลลาร์/บาร์เรล

                - เงินบาทเปิด 33.29/31 แนวโน้มยังอ่อนค่าต่อเนื่อง มองกรอบวันนี้ 33.20-33.50

                - คลังไม่ขยายเวลาอายุมาตรการลดหย่อนภาษีการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF

                - สศค.ประกาศคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทยตลอดปี 61 ไว้ที่ 4.5% เผย ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากโดยรวมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ถึง 4.8% พร้อมปรับลดตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดเดือน ต.ค. โดยระบุอัตราการขยายตัวของการบริโภคในภาคเอกชนล่าสุดสำหรับปี 61 จะอยู่ที่ 4.2%

                - พาณิชย์ เผย USMCA กระทบส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์สิ่งทอ หลังกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบสมาชิก 3 ประเทศมากขึ้น ทำลดนำเข้าจากทั่วโลก ลุยดันเอกชนปักหมุดเปิดเอาต์เล็ตในบาห์เรน

                - ธนาคารกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าแรงส่งของอุปสงค์จากต่างประเทศจะลดลง แต่คาดว่าการใช้จ่ายในประเทศจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะเข้ามามีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จีดีพีจะขยายตัวที่ 4.3% ผ่อนแรงลงจากปี 2561 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.6% เนื่องจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกและท่องเที่ยวจากปัจจัยฐานที่สูง ตลอดจนประเด็นเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่อาจจะส่งผลให้การค้าโดยรวมของโลกชะลอตัว

*หุ้นเด่นวันนี้

        - PR9 (บมจ. โรงพยาบาลพระรามเก้า) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์ โดยเสนอขาย IPO ที่ 11.6 บาท/หุ้น โดยบริษัทฯดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยมีจำนวนเตียงจดทะเบียน 166 เตียง ให้บริการทางการแพทย์ครบวงจรด้วยคุณภาพระดับสากล โดยได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคจากองค์กร Joint Commission International (JCI) ได้แก่ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้า และศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

        - IRPC (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 9 บาท กำไร Q3/61 อาจชะลอเพราะปิดซ่อมโรงกลั่น แต่จะไปเร่งใน Q4/61 ต่อเนื่องถึง Q1/62 จาก GRM เพิ่มขึ้นตามการ COD โครงการ UHV ส่วนเพิ่ม คาดกำไรปกติทั้งปี 1.3 หมื่นลบ. +22% Y-Y ด้าน PBV ลดลงเหลือ 1.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 1.6 เท่า และแรงขายของ NVDR น่าจะเริ่มเบาลง หลังขายจนยอดถือครองลงมาแตะค่าเฉลี่ย 3 ปีที่ 1,750 ล้านหุ้น (เป็นจุดที่ไม่เคยลงไปต่ำกว่า และเมือแตะแล้ว NVDR มักซื้อคืน) และมีโอกาสถูก Cover Short เพราะมียอด Short Sales ในช่วงตลาดขาลงเดือน ต.ค. 18 หนาแน่นเป็นอันดับ 3 ที่ 61.7445 ล้านหุ้น ต้นทุนเฉลี่ย 6.48 บาท

                - KBANK (แอพเพิล เวลธ์) "ทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว"เป้า 230 บาท ปรับประมาณการณ์กำไรสุทธิปี 62 ลง 3% จากเดิม 4.21 หมื่นลบ.สู่ระดับ 4.07 หมื่นลบ. +8.5%YoY เพื่อสะท้อนเป้า Non-NII ที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ และคาดปันผล H2/61 ที่ 4.00 บาท คิดเป็น dividend yield 2%

                - AMATA (กรุงศรี) "ซื้อเก็งกำไร"เป้า Consensus 28.7 บาท ได้ Sentiment บวกภาครัฐเตรียมนำโครงการใน EEC เข้าที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติในวันนี้

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ นักลงทุนวิตกสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

      ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของข้อพิพาททางการค้า หลังจากสื่อรายงานว่าสหรัฐวางแผนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่

       ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 21,049.52 จุด ลดลง 100.28 จุด, -0.47% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,538.57 จุด ลดลง 3.53 จุด, -0.14% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,765.12 จุด ลดลง 46.92 จุด, -0.19% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,508.81 จุด ลดลง 7.51 จุด, -0.08% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,985.95 จุด ลดลง 10.10 จุด, -0.51% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,969.51 จุด ลดลง 12.03 จุด, -0.40% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,688.18 จุด เพิ่มขึ้น 4.45 จุด, +0.26% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,093.75 จุด ลดลง 15.28 จุด, -0.21%

        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐเตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ หากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน โดยปธน.ทรัมป์และปธน.สี จิ้นผิง จะพบปะกันนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในเดือนหน้า

       ทั้งนี้ การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้เริ่มต้นในช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน ต่อมาในวันที่ 17 ก.ย. สหรัฐได้ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐในวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์

      ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ขู่ว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ในวงเงิน 2.57 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหากสหรัฐเรียกเก็บภาษีจำนวนดังกล่าวจากจีน ก็เท่ากับว่าสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีต่อสินค้าทั้งหมดที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า จีนได้ส่งออกสินค้าวงเงิน 5.05 แสนล้านดอลลาร์เข้าสู่สหรัฐในปีที่แล้ว

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน : ฟุตซี่ปิดลบ 64.54 จุด หลังหุ้นพลังงานร่วง,วิตกตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งหนัก

       ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (26 ต.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน

      ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,939.56 จุด ลดลง 64.54 จุด หรือ -0.92%

     ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวลงตามทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 300 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อย่างอัลฟาเบทและอเมซอนได้ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก และได้บดบังปัจจัยบวกจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของสหรัฐที่ขยายตัว 3.5% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4%

       หุ้นธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ (RBS) ร่วงลง 4.1% หลังจากธนาคารเปิดเผยกำไรสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 448 ล้านปอนด์ ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 507 ล้านปอนด์ นอกจากนี้ ธนาคารต้องกันเงินสำรองเพื่อยุติคดีความในกรณีบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับการขายประกันพ่วงสินเชื่อ (Payment Protection Insurance - PPI)

      หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง โดยหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ปรับตัวลง 0.7% และหุ้นบีพี ร่วงลง 1.4%

       หุ้น WPP ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณา ดิ่งลง 4% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 3

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป : หุ้นยุโรปปิดลบ หลังตลาดหุ้นสหรัฐร่วง,วิตกศก.โลกชะลอตัว

      ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (26 ต.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐ อันเนื่องมาจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อย่างอเมซอน และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล นอกจากนี้ กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

       ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.8% ปิดที่ 352.34 จุด

      ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,200.62 จุด ลดลง 106.50 จุด หรือ -0.94% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,967.37 จุด ลดลง 64.92 จุด หรือ -1.29% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,939.56 จุด ลดลง 64.54 จุด หรือ -0.92%

      ตลาดหุ้นยุโรปร่วงลงตามทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 300 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อย่างอัลฟาเบทและอเมซอนได้ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก และได้บดบังปัจจัยบวกจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของสหรัฐที่ขยายตัว 3.5% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4%

        หุ้นธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ (RBS) ร่วงลง 4.1% หลังจากธนาคารเปิดเผยกำไรสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 448 ล้านปอนด์ ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 507 ล้านปอนด์

       หุ้นเกลนคอร์ ซึ่งเป็นบริษัทสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ ปรับตัวลง 0.1% หลังจากบริษัทได้ปรับลดคาดการณ์การผลิตน้ำมันในปี 2561 ลง 6%

       สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น สถาบันวิจัย GfK รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ย.ของเยอรมนี อยู่ที่ระดับ 10.6 ซึ่งทรงตัวจากระดับของเดือนต.ค. อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งอยู่ที่ระดับ 10.5

        ทางด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.ของฝรั่งเศสปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 95 จากระดับ 94 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 94

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก : ดาวโจนส์ปิดร่วง 296.24 จุด ผลประกอบการอัลฟาเบท-อเมซอนอ่อนแอฉุดหุ้นเทคโนฯดิ่งหนัก

         ดัชนี ดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (26 ต.ค.) เนื่องจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่อย่างอัลฟาเบทและอเมซอนได้ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงอย่างหนัก และได้บดบังปัจจัยบวกจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดในไตรมาส 3 นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดด้วยเช่นกัน

       ดัชนี เฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,688.31 จุด ร่วงลง 296.24 จุด หรือ -1.19% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,167.21 จุด ลดลง 151.12 จุด หรือ -2.06% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,658.69 จุด ลดลง 46.88 จุด หรือ -1.73%

       ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงทั้งสิ้น 3% ขณะที่ดัชนี S&P500 ร่วงลง 3.9% และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 3.8%

      ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทอเมซอน และอัลฟาเบท โดยอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล เปิดเผยรายได้ในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 3.37 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.404 หมื่นล้านดอลลาร์

      ทางด้านอเมซอนเปิดเผยรายได้ในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 5.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 5.71 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ อเมซอนคาดการณ์ว่า รายได้ในไตรมาส 4 ของบริษทจะอยู่ในช่วง 6.65 - 7.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 7.379 หมื่นล้านดอลลาร์

       ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 4 ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับอเมซอน เนื่องจากเป็นไตรมาสที่มีเทศกาลวันหยุดและทางบริษัทเคยทำยอดขายได้จำนวนมาก ขณะที่อเมซอนระบุว่า การที่บริษัทปรับขึ้นค่าแรงในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 4 ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

       ผลประกอบการที่อ่อนแอของอัลฟาเบทและอเมซอนส่งผลให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยหุ้นอเมซอน ร่วงลง 7.8% หุ้นอัลฟาเบท ดิ่งลง 1.8% หุ้นแอปเปิล ร่วงลง 1.6% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 4.2% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 1.7% หุ้น Nvidia ร่วงลง 4.6% หุ้นไมครอน เทคโนโลยีส์ ร่วงลง 3.7% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ร่วงลง 2.7% และหุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 3.7%

     นอกจากนี้ ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทรายใหญ่ทั้งสองแห่งยังได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งระบุว่า GDP ประจำไตรมาส 3 ขยายตัว 3.5% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้เป็นการประมาณการครั้งที่ 1 ของกระทรวงฯ

      ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 1.6% ในไตรมาส 3 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.2%

       สำหรับ ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 98.6 ในเดือนต.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 99.0 หลังจากแตะระดับ 100.1 ในเดือนก.ย.

       ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!