- Details
- Category: หุ้นเด่นวันนี้
- Published: Thursday, 25 October 2018 14:02
- Hits: 4949
ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดตปท. เหตุถูกกดดันจากหลายปัจจัยลบในสหรัฐฯ
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงจากความกังวลปัจจัยในต่างประเทศ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาดัชนีดาวโจนส์ได้ร่วงกว่า 600 จุด หลังจากที่ยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ทำให้มองกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังดูไม่ดีนัก และสรุปรายงานภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ออกมาระบุว่ามีความกังวลเรื่องการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯชะลอตัวในระยะถัดไปได้ อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯต่างปรับฐานอย่างแรง
นอกจากนี้ทางสหรัฐฯก็ยังมีข่าวเรื่องการพบเหตุมือมืดส่งพัสดุบรรจุวัตถุระเบิดไปยังบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน
ด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเป็นการก่อการร้ายหรือไม่
ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้าราว 1-3% โดยทางเอเชียก็มีความกังวลเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวจากสงครามการค้าทำให้จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯน้อยลง
อย่างไรก็ดีให้ติดตามการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/61 ของ PTTEP วันนี้ และให้ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ด้วย
พร้อมให้แนวรับ 1,600-1,585 จุด ส่วนแนวต้าน 1,630-1,635 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (24 ต.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,583.42 จุด ร่วงลง 608.01 จุด (-2.41%) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,108.40 จุด ลดลง 329.14 จุด (-4.43%) และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,656.10 จุด ลดลง 84.59 จุด (-3.09%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 414.35 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 62.37 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 483.06 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 136.45 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 50.91 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 40.08 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 10.68 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 43.25 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (24 ต.ค.61) 1,623.37 จุด ลดลง 35.19 จุด (-2.12%)
- นักลงทุนต่างชาติต่างชาติขายสุทธิ 3,982.86 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (24 ต.ค.61) ปิดที่ 66.82 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 39 เซนต์ หรือ 0.6%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (24 ต.ค.61) ที่ 5.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.91/93 อ่อนค่าต่อเนื่อง ไร้ปัจจัยหนุน คาดกรอบวันนี้ 32.85-33 บาท/ดอลลาร์
- ครม.เห็นชอบปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ตามสัญญา จำนวน 3 สถานี มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.61 "ผู้ว่าฯ รฟม." เผยปรับจำนวน 3 สถานี โดยราคาเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 42 บาท ตามเดิม ขณะที่ผ่านมา BEM ได้ชะลอการปรับราคามาตั้งแต่ 3 ก.ค.61 รวมเป็นเวลา 5 เดือน
- รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปีนี้กิจการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับความสนใจมาก มียื่นขอส่งเสริมเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ หลายราย ได้อนุมัติโครงการใหญ่ไปแล้วรวม 5 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท ที่จ.ภูเก็ต อนุมัติ 2 โครงการ โครงการสวนน้ำวานา นาวา ลงทุน 2,430 ล้านบาท และสวนน้ำของนักธุรกิจ สหราชอาณาจักร ลงทุน 1,346 ล้านบาท
- "กกพ." พร้อมเปิดทาง "กนอ." หารือประเด็นการนำเข้า LNG ที่ต้องหารให้มีผู้เล่นมากรายเพื่อเอื้อต่อการดึงลงทุนพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โดยต้องดูนโยบายของกระทรวงพลังงานประกอบด้วย ซึ่งขณะนี้ต้องให้กฟผ.นำร่องนำเข้าก่อนเพื่อดูรายละเอียด ย้ำขณะนี้ก็เปิดกว้างแต่ยังไม่มีรายอื่นขอมา
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์เดือน ก.ย. รวมทั้งสิ้น 88,706 คัน เพิ่มขึ้น 14.3% ประกอบด้วยรถยนต์นั่ง 34,086 คัน เพิ่มขึ้น 15.6% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 54,620 คัน เพิ่มขึ้น 13.5% เติบโตจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการขายจากค่ายรถต่าง ๆ ต่อเนื่อง
*หุ้นเด่นวันนี้
- SCC (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) "ซื้อลงทุน" เป้า 470 บาท กำไร Q3/61 ทรุดลงเหลือเพียง 9,473 ล้านบาท จากการตั้งด้อยค่า 1,670 ล้านบาท ถ้าหากหักรายการนี้จะมีกำไรปกติ 11,143 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่คาดหมายไว้ 11,200 ล้านบาท ธุรกิจปูนซีเมนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และ ธุรกิจแพคเกจจิ้งยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ธุรกิจปิโตรเคมีฯถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกสเปรดทรุดลงหนัก ทำให้ปรับประมาณการลดลง และปรับลดคาดการณ์ปันผลลงเหลือ 17 บาท ซึ่งยังมีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่น่าสนใจ 4.2%
- IHL (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 11.8 บาท ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสทยอยซื้อ จากผลกำไรจะเริ่มฟื้นตัว qoq ตั้งแต่ Q3/61 เป็นต้นไป โดยมีปัจจัยหนุนจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังจากโรงฟอกหนังเฟสใหม่เริ่มผลิตตั้งแต่เดือน ส.ค. สอดคล้องกับยอดส่งออกหนังไปจีนในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 40%yoy สวนทางยอดส่งออกรวมของไทยที่หดตัว 14%yoy
- KKP (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 81 บาท แนวโน้มกำไร Q4/61 จะเติบโตดีจากธุรกิจ IB ซึ่งมีการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ทั้ง TFFIF, OSP และ รพ.พระราม 9 โดยคงประมาณการกำไรปีนี้ที่ 6.2 พันล้านบาท +8% Y-Y และปีหน้าคาด 6.4 พันล้านบาท +4% Y-Y พร้อมคาดปันผลสม่ำเสมอปีละ 7% และเป็นหุ้นที่ Underperform กลุ่มแบงก์อยู่ 5% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ วิตกแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากมีรายงานว่ายอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐร่วงลงติดต่อกัน 4 เดือน รวมทั้งรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งระบุว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้า
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 21,676.83 จุด ลดลง 414.35 จุด, -1.88% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,540.93 จุด ลดลง 62.37 จุด, -2.40% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,766.72 จุด ลดลง 483.06 จุด, -1.91% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 9,622.95 จุด ลดลง 136.45 จุด, -1.40% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,046.67 จุด ลดลง 50.91 จุด, -2.43% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 2,992.00 จุด ลดลง 40.08 จุด, -1.32% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,679.36 จุด ลดลง 10.68 จุด, -0.63% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,086.17 จุด ลดลง 43.25 จุด, -0.61%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานเมื่อคืนนี้ว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 5.5% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 553,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2559 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 4 เดือน โดยยอดขายบ้านใหม่ที่ร่วงลงในเดือนก.ย.ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้น
ขณะที่ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ลดลงสู่ระดับ 320,000 ดอลลาร์ในเดือนก.ย. ส่วนสต็อกบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 2.8% สู่ระดับ 327,000 ยูนิตในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2552 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากยอดขายบ้านและสต็อกบ้านในตลาด พบว่า ผู้ขายบ้านต้องใช้เวลา 7.1 เดือนในการขายบ้านจนหมดสต็อกในตลาด ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2554 จากระดับ 6.5 เดือนในเดือนส.ค.
ทางด้านเฟดได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ "Beige Book" เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ภาคธุรกิจในหลายเขตของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงภาคการผลิตและค้าปลีก ได้แสดงความกังวลว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 7.77 จุด ขานรับผลประกอบการบาร์เคลย์ส
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธนาคารบาร์เคลย์ส ขณะที่การอ่อนค่าของเงินปอนด์ช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติดีดตัวขึ้น
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,962.98 จุด เพิ่มขึ้น 7.77 จุด หรือ +0.11%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้น เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ช่วยหนุนหุ้นของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในดัชนี FTSE 100 โดยรายได้ 75% ของบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนนั้นอยู่ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ การอ่อนค่าของเงินปอนด์จึงเป็นปัจจัยหนุนหุ้นของบริษัทเหล่านี้
หุ้นธนาคารบาร์เคลย์ส พุ่งขึ้น 3% และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนี FTSE 100 ปิดในแดนบวก หลังจากบาร์เคลย์ส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของอังกฤษ เปิดเผยกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ที่ระดับ 1 พันล้านปอนด์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 723 ล้านปอนด์
นายเจส สแตนลีย์ ผู้บริหารของบาร์เคลย์ส กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจมหภาคของอังกฤษเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่บาร์เคลย์สก็มีกำไรสุทธิที่สูงกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ปี 2561 เป็นปีที่ทางธนาคารสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ได้ดี
ส่วนหุ้นบริษัทรายอื่นๆที่ปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ รวมถึงหุ้นบีที ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านการสื่อสารโทรคมนาคม พุ่งขึ้น 4.05% ขณะที่หุ้นวู้ด กรุ๊ป และหุ้นโอคาโด กรุ๊ป ปรับตัวขึ้น 3.7% และ 3.6% ตามลำดับ
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ วิตกผลประกอบการดอยซ์แบงก์,งบประมาณรบ.อิตาลี
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่อ่อนแอของธนาคารดอยซ์แบงก์ และสถานการณ์ด้านงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนและเยอรมนี ต่างก็ร่วงลงอย่างหนักในเดือนต.ค.
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.2% ปิดที่ 353.27 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,191.63 จุด ลดลง 82.65 จุด หรือ -0.73% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,953.09 จุด ลดลง 14.60 จุด หรือ -0.29% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,962.98 จุด เพิ่มขึ้น 7.77 จุด หรือ +0.11%
ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 54.1 ในเดือนก.ย. โดยการร่วงลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
ส่วนดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของเยอรมนี ลดลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 41 เดือน จากระดับ 55.0 ในเดือนก.ย. โดยการร่วงลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลี หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ได้ปฏิเสธข้อเสนองบประมาณประจำปีหน้าของรัฐบาลอิตาลี ขณะที่นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ออกมายืนยันว่า รัฐบาลอิตาลีไม่มีแผนสำรองสำหรับงบประมาณของประเทศแต่อย่างใด ภายหลังจากที่ EU ได้ขอให้อิตาลีเปลี่ยนแปลงร่างงบประมาณ เพื่อให้สอดคล่องกับกฎเกณฑ์การใช้จ่ายของประเทศสมาชิก EU
รัฐบาลอิตาลีได้เพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีหน้า ขณะที่รัฐบาลชุดเดิมของอิตาลียืนยันว่าจะรักษาตัวเลขขาดดุลที่ 0.8% ของ GDP และ EU มองว่าร่างงบประมาณปี 2562 ของอิตาลีขัดต่อกฎหมายทางการเงินของ EU
ทั้งนี้ EU กำหนดให้ประเทศใน EU มีตัวเลขขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของ GDP อย่างไรก็ดี EU เรียกร้องให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล เนื่องจากอิตาลีมีหนี้ในภาครัฐจำนวนมาก
หุ้นดอยซ์แบงก์ ร่วงลง 4.8% หลังจากธนาคารเปิดเผยกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของธนาคารร่วงลง 65% สู่ระดับ 229 ล้านยูโร จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ 649 ล้านยูโร
หุ้นเคอริง เจ้าของแบรนด์กุชชี ดีดตัวขึ้น หลังจากบริษัทเปิดเผยยอดขายที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 608.01 จุดเหตุวิตกแนวโน้มศก.สหรัฐ,Nasdaq ดิ่งกว่า 300 จุดจากแรงขายหุ้นเทคโนฯ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากมีรายงานว่ายอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐร่วงลงติดต่อกัน 4 เดือน รวมทั้งรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งระบุว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 300 จุด เนื่องจากแรงขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทเท็กซัส อินสตรูเมนท์ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐ ที่เปิดเผยแนวโน้มผลประกอบการที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,583.42 จุด ร่วงลง 608.01 จุด หรือ -2.41% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,108.40 จุด ลดลง 329.14 จุด หรือ -4.43% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,656.10 จุด ลดลง 84.59 จุด หรือ -3.09%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานเมื่อคืนนี้ว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 5.5% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 553,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2559 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 4 เดือน โดยยอดขายบ้านใหม่ที่ร่วงลงในเดือนก.ย.ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้น
ขณะที่ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ลดลงสู่ระดับ 320,000 ดอลลาร์ในเดือนก.ย. ส่วนสต็อกบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 2.8% สู่ระดับ 327,000 ยูนิตในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2552 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากยอดขายบ้านและสต็อกบ้านในตลาด พบว่า ผู้ขายบ้านต้องใช้เวลา 7.1 เดือนในการขายบ้านจนหมดสต็อกในตลาด ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2554 จากระดับ 6.5 เดือนในเดือนส.ค.
ทางด้านเฟดได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ "Beige Book" เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ภาคธุรกิจในหลายเขตของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงภาคการผลิตและค้าปลีก ได้แสดงความกังวลว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ดัชนี Nasdaq ได้ปรับตัวลงสู่ช่วงของการพักฐาน (correction territory) เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก โดยหุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 3.4% หุ้นอเมซอนดอทคอม ร่วงลง 5.9% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ร่วงลง 5.1% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ดิ่งลง 9.4% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 5.3% หุ้น Nvidia ร่วงลง 9.7% หุ้นไมครอน เทคโนโลยีส์ ดิ่งลง 8.4% หุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ร่วงลง 2.9% หุ้นอินเทล ดิ่งลง 4.6% หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 5.4%
หุ้นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ร่วงลง โดยหุ้นเท็กซัส อินสตรูเมนท์ ดิ่งลง 8.2% ขณะที่หุ้นเอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ร่วงลง 10.1% และหุ้นเอทีแอนด์ที ร่วงลง 8% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ร่วงลง 6.6% ซึ่งเป็นการดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2557
ทั้งนี้ หุ้นเท็กซัส อินสตรูเมนท์ร่วงลง หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์กำไรในไตรมาส 4/2561 ที่ระดับ 1.14-1.34 ดอลลาร์/หุ้น และรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.6-3.9 พันล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจะอยู่ที่ 1.38 ดอลลาร์/หุ้น และรายได้จะอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นเอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ร่วงลงหลังจากบริษัทได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการ โดยระบุว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มชะลอตัวลง
หุ้นยูไนเต็ด พาร์เซิล เซอร์วิส (UPS) ซึ่งเป็นบริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ร่วงลง 5.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรในไตรมาส 3 ที่ระดับ 1.51 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.73 ดอลลาร์/หุ้น จากระดับ 1.26 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.44 ดอลลาร์/หุ้นในช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ส่วนรายได้เพิ่มขึ้น 8% สู่ระดับ 1.744 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม หุ้นโบอิ้ง ดีดตัวขึ้น 1.3% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรในไตรมาส 3 ที่ระดับ 3.58 ดอลลาร์/หุ้น และรายได้อยู่ที่ระดับ 2.515 หมื่นล้านดอลลาร์ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า โบอิ้งจะมีกำไรที่ระดับ 3.47 ดอลลาร์/หุ้น และมีรายได้ 2.397 หมื่นล้านดอลลาร์
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนก.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
--อินโฟเควสท์
OO15395