WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

22ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดตปท. เหตุกังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลง ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างปรับตัวลงราว 2-3% หลังดาวโจนส์เมื่อคืนที่ผ่านมาร่วงไปเกือบ 3% เนื่องจากกังวลสงครามการค้า ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และจีนก็ได้มีการตอบโต้ในการเตรียมเก็บภาษีสินค้าราว 128 รายการ จากสหรัฐฯด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดภูมิภาค เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง การส่งออกก็ดี และการท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวดีด้วย ตอนนี้ก็รอเพียงความชัดเจนทางการเมืองเท่านั้น
พร้อมให้แนวรับ 1,793-1,785 จุด ส่วนแนวต้าน 1,810-1,813 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (22 มี.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,957.89 จุด ร่วงลง 724.42 จุด (-2.93), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,643.69 จุด ลดลง 68.24 จุด (-2.52%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,166.68 จุด ลดลง 178.61 จุด (-2.43%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 403.19 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 90.71 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 1,140.82 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 142.17 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 49.29 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 55.37 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 16.29 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 143.79 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (22 มี.ค.61) 1,798.55 จุด ลดลง 2.88 จุด (-0.16%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 902.98 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (22 มี.ค.61) ปิดที่ระดับ 64.30
ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 87 เซนต์ หรือ 1.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (22 มี.ค.61) ที่ 6.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.31 มองกรอบวันนี้ 31.20-31.35 ตลาดกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ
- เริ่มแล้ว สงครามการค้าสหรัฐเตรียมเก็บภาษีทรัพย์สินทางปัญญา จากจีนวันนี้ ด้านจีนตอบโต้ทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประเทศ นำร่องขึ้น ภาษีสินค้าเกษตร ขณะ "ดับเบิลยูทีโอ" ชี้ การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐ ไม่สอดคล้องกฏการค้าโลก ไทยมีเวลา 90 วัน เจรจาสหรัฐขอยกเว้นเหล็กนำเข้าจากไทย
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้า และ 2 ครั้งในปี 2563
- ขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยกำลังประสานผู้นำเข้าสหรัฐให้ยื่นยกเว้นเก็บอากรนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นรายพิกัด หลังจากกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐได้ออกประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 232 (เพื่อความมั่นคง) กับสินค้าที่จะเรียกเก็บอากรนำเข้าจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ โดยจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 23 มี.ค.นี้ สามารถยื่นขอยกเว้นการใช้มาตรา 232 ได้
- ภาพรวมตลาดรถยนต์มือสองในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 7% จากปีก่อนมีปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศไทยอยู่ที่ 4.5 แสนคัน หรือมีเม็ดเงินมูลค่ารวม 1.36 แสนล้านบาท
*หุ้นเด่นวันนี้
- STAR-W3 ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบมจ.สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค (STAR) ครั้งที่ 3 เทรดวันนี้วันแรก มีจำนวน 135,454,677 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ : 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาการใช้สิทธิ 4.00 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 2 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561) ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.00 บาทต่อหน่วย โดยกำหนดวันใช้สิทธิครั้งแรก 25 มิ.ย. 2561 ส่วนวันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 21 ก.พ. 2563
- CPALL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 98 บาท ระยะสั้น แนวโน้ม SSSG Q1/61 ยังดูดีต่อเนื่อง คาดกำไรจะโต Y-Y และแผ่วลง Q-Q ตามฤดูกาล และคาดกำไรสุทธิปี 2018 จะเติบโตดี 20% Y-Y จากการเติบโตของ SSSG และยังมีแผนเปิดสาขาใหม่ไม่น้อยกว่า 700 แห่ง รวมถึงมี Upside จากการเป็น Banking Agent ทั้งนี้บริษัทมีแผนลดสัดส่วนการถือ MAKRO จากปัจจุบันที่ 98% เพื่อเพิ่ม Free float และราคาหุ้น MAKRO ล่าสุดสูงกว่าต้นทุนของ CPALL ที่ 42-43 บาท/หุ้น แล้ว หากมีการลดสัดส่วนลง จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับ CPALL และมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการจากดอกเบี้ยจ่ายที่จะลดลง
- CPF (เอเชีย เวลท์) "ซื้อ" เป้า 27.50 บาท คาดราคาหมูจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/61 นอกจากนี้บริษัทมี Upside Risk จากข่าวจีนเตรียมมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าถั่วเหลือง หากจีนตัดสินใจขึ้นภาษีดังกล่าวจะทำให้ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับลงแรง ส่งผลบวกต่อ CPF ที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบทำอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยเราคาดบริษัทจะมีกำไรปกติในปี 2561 เท่ากับ 11,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161% YoY
- MONO (ไอร่า) เป้า 5.30 บาท คาดปี 61 เติบโตต่อเนื่อง จากรายได้ค่าโฆษณาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอันดับเรตติ้ง หลังล่าสุดสามารถแซง ขึ้นเป็นอันดับ 3 ได้ในเดือนมกราคม และมีอัตราค่าโฆษณาต่อนาทีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 35,000 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 25% จากอัตราเฉลี่ย 28,000 บาทในปี’60 ขณะที่ MONO เองตั้งเป้าอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยทั้งปี 61 ที่ 40,000 บาท นอกจากนี้ แนวโน้มค่าโฆษณาที่เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงในปี 61 ไม่ได้ต้องรับผลกระทบเช่นเดียวกับการงดออกอากาศเมื่อเดือนตุลาคมปี 59 และปี 60 ทำให้คาดในปี 61 กำไรสุทธิ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งกว่า 5 เท่า คาดอยู่ที่ 379 ล้านบาท
ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงเช้านี้ นักลงทุนวิตกสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
         ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงในเช้าวันนี้ ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 21,188.80 จุด ลดลง 403.19 จุด, -1.87% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,172.77 จุด ลดลง 90.71 จุด, -2.78% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 29,930.23 จุด ลดลง 1,140.82 จุด, -3.67% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 10,863.67 จุด ลดลง 142.17 จุด, -1.29% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,446.73 จุด ลดลง 49.29 จุด, -1.97%
ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,436.00 จุด ลดลง 55.37 จุด, -1.59% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,860.58 จุด ลดลง 16.29 จุด, -0.87% ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 7,980.66 จุด ลดลง 143.79 จุด, -1.77%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ ขณะเดียวกันปธน.ทรัมป์เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้สหรัฐแข็งแกร่งและมั่งคั่งขึ้น
การออกมาตรการเรียกเก็บภาษีของปธน.ทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ทำการสอบสวนตามมาตรา 301 ต่อพฤติกรรมการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน โดยสินค้าของจีนที่ตกเป็นเป้าหมายในการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐ เป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเตรียมประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการตอบโต้
รายงานระบุว่า จีนได้วางแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก ผลไม้ ไวน์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆของสหรัฐในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื้อหมูและอลูมิเนียมในอัตรา 25% โดยจีนได้พุ่งเป้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 128 รายการ
ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ทันที หากจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจาด้านการค้ากับสหรัฐได้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า จีนจะร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อสหรัฐ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการจัดการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้าในครั้งนี้

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดลบ 86.38 จุด วิตกสงครามการค้า,เงินปอนด์แข็งฉุดตลาด
      ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ หลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากอัตราค่าจ้างในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,952.59 จุด ลดลง 86.38 จุด หรือ -1.23%
ตลาดหุ้นลอนดอนได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยระบุว่าเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินปอนด์ โดยในระหว่างการซื้อขายเมื่อคืนนี้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.4217 ดอลลาร์ จากระดับ 4140 ดอลลาร์
ทั้งนี้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณภายหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า BoE อาจพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากอัตราค่าจ้างในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า อัตราค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งรวมโบนัส ขยายตัว 2.8% ในเดือนม.ค. โดยเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนธ.ค. และหากไม่นับรวมโบนัส อัตราค่าจ้างเดือนม.ค.ขยายตัว 2.6%
หุ้นฮัลมา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ดิ่งลง 2% หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2561 อันเนื่องมาจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ
หุ้นเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ดีดตัวขึ้น 4.8% หลังจากบริษัทประกาศยุติการเจรจาเสนอซื้อธุรกิจดูแลสุขภาพจากไฟเซอร์

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง เหตุวิตกสงครามการค้าสหรัฐ-จีน, PMI ยูโรโซนชะลอตัว
       ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ดัชนี PMI ทั้งภาคผลิตและภาคบริการยูโรโซนชะลอตัวลงในเดือนมี.ค.
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.6% ปิดที่ 369.15 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,100.08 จุด ร่วงลง 209.07 จุด หรือ -1.70% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,167.21 จุด ลดลง 72.53 จุด หรือ -1.38% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดวัที่ 6,952.59 จุด ลดลง 86.38 จุด หรือ -1.23%
ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ
ทั้งนี้ การออกมาตรการเรียกเก็บภาษีของปธน.ทรัมป์มีขึ้น หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ทำการสอบสวนตามมาตรา 301 ต่อพฤติกรรมการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน โดยสินค้าของจีนที่ตกเป็นเป้าหมายในการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐ เป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐ
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน อยู่ที่ 55.3 ในเดือนมี.ค. ลดลงจากตัวเลขเดือนก.พ.ที่ระดับ 57.1 และยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.ลดลงสู่ระดับ 56.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบ 8 เดือน จากระดับ 58.6 ในเดือนก.พ. และดัชนีดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้น อยู่ที่ 55.0 ในเดือนมี.ค. ลดลงจากระดับ 56.2 เมื่อเดือนก.พ. และทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
หุ้นฮัลมา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ดิ่งลง 2% หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีงบการเงิน 2561 อันเนื่องมาจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ
หุ้นยูไนเต็ด อินเทอร์เน็ต ร่วงลง 9.5% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอในปีงบการเงิน 2560
หุ้นเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ดีดตัวขึ้น 4.8% หลังจากบริษัทประกาศยุติการเจรจาเสนอซื้อธุรกิจเพื่อสุขภาพจากไฟเซอร์
ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เมื่อวานนี้ ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณภายหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า BoE อาจพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากอัตราค่าจ้างในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า อัตราค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งรวมโบนัส ขยายตัว 2.8% ในเดือนม.ค. โดยเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนธ.ค. และหากไม่นับรวมโบนัส อัตราค่าจ้างเดือนม.ค.ขยายตัว 2.6%

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 724.42 จุด วิตกสงครามการค้าสหรัฐ-จีนกระทบศก.โลก
           ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ โดยข่าวดังกล่าวส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 724.42 จุด หรือ -2.93 ปิดที่ 23,957.89 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่วันที่ 8 ก.พ.ปีนี้ ส่วนดัชนี S&P500 ลดลง 68.24 จุด หรือ -2.52% ปิดที่ 2,643.69 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. และดัชนี Nasdaq ลดลง 178.61 จุด หรือ -2.43% ปิดที่ 7,166.68 จุด
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ ขณะเดียวกันปธน.ทรัมป์เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้สหรัฐแข็งแกร่ง และมั่งคั่งขึ้น
ทั้งนี้ การออกมาตรการเรียกเก็บภาษีของปธน.ทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ทำการสอบสวนตามมาตรา 301 ต่อพฤติกรรมการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน โดยสินค้าของจีนที่ตกเป็นเป้าหมายในการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐ เป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐ
ทางด้านรัฐบาลจีนได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ว่า จีนจะไม่ยอมนิ่งเฉย และจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกด้าน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ พร้อมกับแสดงท่าทีต่อต้านนโยบายกีดกันการค้าของปธน.ทรัมป์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกเหนือจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแล้ว ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายตำแหน่งในคณะทำงานของปธน.ทรัมป์ นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของหุ้นเฟซบุ๊ก ยังได้ฉุดหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงด้วย
หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 2.8% หลังจากนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอบริษัทเฟซบุ๊ก ได้ออกมายอมรับความผิดพลาดในกรณีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้บริการของเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคน ขณะที่หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลงกว่า 4% หุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ดิ่งลง 3.7% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 2.9% และหุ้นแอปเปิล ปรับตัวลง 1.4%
หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลงเนื่องจากความกังวลที่ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรม โดยหุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 5.2% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ดิ่งลง 5.7% หุ้น 3M ลดลง 3.2%
หุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 3.8% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ดิ่งลง 4.2% ส่วนหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา หุ้นซิตี้กรุ๊ป หุ้นเวลส์ ฟาร์โต ต่างก็ร่วงลงราว 4.1%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมี.ค. อยู่ที่ 55.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือน จากระดับ 55.3 ในเดือนก.พ. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 54.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 55.9 ในเดือนก.พ.
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย
นักลงทุนจับตาการโหวตร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว และได้ส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อทำการพิจารณาต่อไป โดยสภาคองเกรสจะต้องโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวให้ทันเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือในวันเสาร์เวลา 11.00 น.ตามเวลาไทย ซึ่งหากร่างงบประมาณฉบับนี้ไม่ได้รับการลงนามจากปธน.ทรัมป์ก่อนกำหนดเส้นตาย ก็จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐเผชิญกับการปิดหน่วยงานของรัฐ (ชัตดาวน์) เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. และยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ.
--อินโฟเควสท์
OO6894

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!