WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ลงตามตปท.ร่วงหนักเล็ง 1,800 จุดรับไม่อยู่ กังวลสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงและคงจะยืน 1,800 จุดไม่อยู่ เนื่องจากตลาดต่างประเทศต่างปรับตัวลงอย่างหนักทั้งภูมิภาคเอเชีย หลังจากดาวโจนส์ร่วงไปกว่า 1,000 จุดเมื่อคืนที่ผ่านมาส่งผลให้เช้านี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงไปกว่า 1,000 จุดเช่นกัน รวมถึงดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเช้านี้ลดลงไปแล้ว 300-400 จุด
ทั้งนี้ เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสูง แม้ว่าวันนี้จะเริ่มรีบาวด์ได้บ้างมาอยู่แถว 2.6794% แต่นักลงทุนก็มีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้เป็น 4 ครั้งในปีนี้ จากเดิมคาดไว้แค่ 3 ครั้ง ส่งผลให้ต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นและกำไรอาจชะลอลงได้
อย่างไรก็ดี ให้ติดตามทิศทางของ Bond Yield และข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมาด้วย และราคาน้ำมัน ซึ่งวานนี้ได้ปรับตัวลงไป 2% อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอาจจะกระตุ้นให้ Fund Flow ไหลออกได้
พร้อมให้แนวรับ 1,780-1,770 จุด ส่วนแนวต้าน 1,800 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (5 ก.พ.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,345.75 จุด ร่วงลง 1,175.21 จุด (-4.60%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,648.94 จุด ลดลง 113.19 จุด (-4.10%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,967.53 จุด ลดลง 273.42 จุด (-3.78%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 415.08 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 69.49 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 1,216.54 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 185.24 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 54.73 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 68.93 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 38.64 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 140.92 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (5 ก.พ.61) 1,810.32 จุด ลดลง 17.03 จุด (-0.93%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5,125.63 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ก.พ.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (5 ก.พ.61) ปิดที่ระดับ 64.15ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.30 ดอลลาร์ หรือ 2%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (5 ก.พ.61) ที่ 7.70 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.63 ก่อนอ่อนค่ามาที่ 31.70 จากความกังวล FED อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
- ภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากยอดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเดือน ม.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเชื่อว่าภาพรวมกำลังซื้อปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน
- ตลาดหลักทรัพย์ลงนามต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์เกาหลี (Korea Exchange: KRX) โดยมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.61-4 ก.พ.66 ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานตลาดหลักทรัพย์ในการเชื่อมโยงการระดมทุนและการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการขยายธุรกิจในระยะยาว รวมถึงสานต่อการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาตลาดทุนในด้านการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- สศค.เผยกรอบเบื้องต้นคณะทำงาน 4 หน่วยงานเกี่ยวข้องสกุลเงินดิจิทัล ต้องเสนอผลศึกษาภายใน 28 ก.พ.นี้ ขณะผู้ว่าการธนาคารกลางบางประเทศระบุว่า Cryptocurrency อาจจะเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในการพนัน เพราะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ส่วนตัวบล็อกเชน เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
- ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดในรอบ 36 เดือน เหตุเศรษฐกิจไทยปี 60 โตถึง 4% ส่งออกพุ่งเกือบ 10% สินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น เผยยังมั่นใจปี 61 GDP ยังโตต่อเนื่อง แนะจับตาเงินบาทแข็ง ขึ้นค่าแรง ที่ทำรายได้หด ค่าครองชีพพุ่ง แนะรัฐต้องเร่งเข้าไปแก้ไข
- กสทช.จ่อนัดพิจารณาร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ใหม่ วันที่ 7 ก.พ.นี้
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยช่วงตรุษจีนปีนี้ ททท.คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้ที่จะเข้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งสิ้น 8.7 แสนคน เพิ่มขึ้น 5.45% คาดสร้างรายได้รวมกว่า 20,000 ล้านบาท เติบโต 11.81% ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจาก จีน 290,000 คน เติบโต 13.66% สร้างรายได้กว่า 8,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% ถือว่ากลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ หลังจากที่ช่วงตรุษจีนปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย
*หุ้นเด่นวันนี้
- TU (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 23 บาท คาดกำไรผ่านจุดต่ำสุดของปีใน Q4/60 เพราะเป็น Low Season ส่วนทั้งปี 2560 คาด +11% Y-Y โดยน่าจะเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ Q1/61 เพราะราคาปลาทูน่าอ่อนตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ US$2,300 ต่อตันใน ต.ค. 60 เป็นบวกต่อต้นทุนการผลิตที่ลดลง ส่วนปีนี้คาดกำไรสุทธิ +13% Y-Y โตสูงสุดในรอบ 4 ปี จากทั้งฐานที่ต่ำในปีก่อน และคาดธุรกิจทูน่า แซลมอน และกุ้งจะกลับมาสดใสอีกครั้ง
- SC (กสิกรไทย) "ซื้อ"เป้า 4.60 บาท ตั้งเป้ายอดขายในช่วงปี 61-63 ไว้มากกว่า 6.0 หมื่นลบ.เทียบเท่ากับที่เคยทำไว้ช่วง 5 ปีก่อน โดยปี 61 ตั้งเป้ายอดขาย-รายได้ 1.7 หมื่นลบ.จากเปิดตัวโครงการใหม่เบื้องต้น 19 โครงการ มูลค่า 1.9 หมื่นลบ.เป็นแนวราบ 17 โครงการ มูลค่า 1.52 หมื่นลบ.และ 2 คอนโดฯ มูลค่า 3.6 พันลบ.พร้อมขยายพื้นที่พัฒนาใหม่ๆ เช่น EEC และเจาะตลาดต่ำกว่า 8 ลบ.มากขึ้น ว้
- ADVANC (ดีบีเอส วิคเคอร์ส) ปรับเป็น"ซื้อ"จากเดิม"ถือ"คาดปีนี้การแข่งขันลดลงต่อเนื่องปลายปี 60 คาดรายได้ปีโต 7% y-o-y และอัตราเติบโตกำไรปีนี้เป็น 13% y-o-y ส่วนราคาพื้นฐานปรับเพิ่มเป็น 218.00 บาท หลังจากปรับประมาณการในระยะยาวเพิ่มขึ้น และใช้เงินลงทุนที่น้อยลง มีสมมุติฐานบริษัทจะได้รับคลื่นใหม่ 1800 MHz ที่จำนวน Block 15MHz ด้วยเงินลงทุน 40 พันล้านบาท ทั้งนี้ กำไรหลัก Q4/60 ออกมาตามคาด 7.7 พันล้านบาท (+18.9% y-o-y, +3.4% q-o-q)
 
ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าร่วงลง จากแรงเทขายเหตุวิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย
        ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าร่วงลงในวันนี้ เนื่องจากแรงเทขายที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐปิดร่วงลงเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ภายหลังจากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่ง โดยตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐล่วงหน้ายังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 30,651.31 จุด ลดลง 1,593.91 จุด, -4.94% ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ 21,487.87 จุด ลดลง 1,194.21 จุด, -5.26% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียปิดภาคเช้าที่ 1,803.03 จุด ลดลง 50.04 จุด, -2.70%
ข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้มีการเปิดเผยแล้วในวันนี้ ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานว่า ออสเตรเลียขาดดุลการค้าอย่างพลิกความคาดหมายในเดือนธ.ค. 2560 โดยมีสาเหตุมาจากการนำเข้าที่พุ่งขึ้นมากกว่าการส่งออก
รายงานของ ABS ระบุว่า ออสเตรเลียมียอดขาดดุลการค้า 1.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนธ.ค. ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่า ออสเตรเลียจะเกินดุลการค้ามูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ในเดือนดังกล่าว ส่วนในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ออสเตรเลียมียอดเกินดุลการค้า 36 ล้านดอลลาร์
สมาคมผู้นำเข้ายานยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ รถบรรทุก และรถโดยสารนำเข้าในเดือนม.ค. ขยับขึ้นเพียง 0.4% แตะที่ระดับ 21,254 คัน เมื่อเทียบเป็นรายปี
รายงานระบุว่า ยอดขายรถยนต์แบรนด์ต่างประเทศ ปรับตัวลดลง 5.1% แตะที่ระดับ 16,621 คันในเดือนม.ค. ขณะที่ยอดขายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นที่ผลิตในต่างประเทศ ปรับขึ้น 26.8% แตะที่ระดับ 4,633 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดนำเข้ารถฮอนด้า
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดร่วง 108.45 จุด วิตกตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนักจากกระแสคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย
         ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (5 ก.พ.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ถูกเทขายอย่างหนัก หลังจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐได้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,334.98 จุด ร่วงลง 108.45 จุด หรือ -1.46%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกต่อการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลก อันเป็นผลมาจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดในปีนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้น 200,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขรายได้ หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้น 9 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี
หุ้นแรนด์โกลด์ รีซอสเซส ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองทองคำรายใหญ่ ร่วงลง 7.4% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรก่อนหักภาษีในไตรมาส 4/2560 ลดลง 11%
หุ้นโวดาโฟน กรุ๊ป ดิ่งลง 4% หลังจากมีรายงานว่า โวดาโฟนกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อเทคโอเวอร์กิจการบริษัทลิเบอร์ตี้ โกลบอล
หุ้นแกลคโซสมิธไคลน์ ดิ่งลง 2.3% ขณะที่หุ้นเรคคิทท์ เบนคีเซอร์ ร่วงลง 2.4% หลังจากมีรายงานว่าทั้งสองบริษัทต่างก็เตรียมเสนอซื้อธุรกิจสินค้าผู้บริโภคจากไฟเซอร์
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้รับแรงกดดันจากผลการสำรวจของมาร์กิต/ซีไอพีเอส ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหราชอาณาจักร อยู่ที่ระดับ 53.0 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2559 จากระดับ 54.2 ในเดือนธ.ค.
 
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดร่วง วิตกตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก,การเมืองเยอรมนีไม่แน่นอน
       ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (5 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ หลังจากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐขยายตัวมากกว่าคาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของเยอรมนี หลังจากมีรายงานว่าพรรคการเมืองต่างๆในเยอรมนียังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาล
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.6% ปิดที่ 382.00 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,687.49 จุด ลดลง 97.67 จุด หรือ -0.76% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,285.83 จุด ลดลง 79.15 จุด หรือ -1.48% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,334.98 จุด ลดลง 108.45 จุด หรือ -1.46%
ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นสหรัฐที่ดิ่งลงอย่างหนัก จากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดในปีนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้น 200,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขรายได้ หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้น 9 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนี หลังจากที่พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากเลยกำหนดเส้นตายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
หุ้นแรนด์โกลด์ รีซอสเซส ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองทองคำรายใหญ่ ร่วงลง 7.4% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรก่อนหักภาษีในไตรมาส 4/2560 ลดลง 11%
หุ้นโวดาโฟน กรุ๊ป ดิ่งลง 4% หลังจากมีรายงานว่า โวดาโฟนกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อเทคโอเวอร์กิจการบริษัทลิเบอร์ตี้ โกลบอล
หุ้นแกลคโซสมิธไคลน์ ดิ่งลง 2.3% หุ้นเรคคิทท์ เบนคีเซอร์ ร่วงลง 2.4% หลังจากมีรายงานว่าทั้งสองบริษัทต่างก็เตรียมเสนอซื้อธุรกิจสินค้าผู้บริโภคจากไฟเซอร์
หุ้นไรอันแอร์ ร่วงลง 2.7% หลังจากสายการบินต้นทุนต่ำรายนี้ได้ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในช่วงฤดูร้อนปีนี้ เนื่องจากค่าตั๋วเครื่องบินในปี 2561 มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างน้อย 3%
หุ้นปอร์เช่ ออโต้โมบิล โฮลดิ้ง ร่วงลง 2.4% หลังจากบริษัทประกาศแผนการลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าภายในปี 2565
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2549 หรือในรอบเกือบ 12 ปี โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.6 และสูงกว่าระดับ 58.1 ในเดือนธ.ค.
 
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 1,175.21 จุด นักลงทุนตื่นตระหนกกระแสคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย
        ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อคืนนี้ (5 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าเทขายหุ้นต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ ท่ามกลางความตื่นตระหนกต่อกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ หลังจากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐขยายตัวมากกว่าคาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,345.75 จุด ร่วงลง 1,175.21 จุด หรือ -4.60% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,648.94 จุด ลดลง 113.19 จุด หรือ -4.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,967.53 จุด ลดลง 273.42 จุด หรือ -3.78%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ หลังจากมีกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้น 200,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขรายได้ หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้น 9 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี
นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์อินเวสโคกล่าวว่า ตัวเลขรายได้หรือค่าแรงของแรงงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปีในเดือนม.ค.นั้น อาจเป็นปัจจัยหนุนให้คณะกรรมการเฟดภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดคนใหม่ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่จะดีดตัวขึ้น
ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัททรัพย์ฟอร์ท พิทท์ แคปิตอล แสดงความเห็นว่า การที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กถูกกระหน่ำขายอย่างหนักเมื่อคืนนี้ มาจากความตื่นตระหนกของนักลงทุน และจากการที่นักลงทุนจำนวนหนึ่งได้เข้ามาเทขายทำกำไร หลังจากตลาดพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กผันผวนอย่างหนัก โดยดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาด พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559 เมื่อคืนนี้
หุ้นธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 9.2% หลังจากเฟดได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ทำการขยายธุรกิจต่างๆ หลังจากมีรายงานว่าธนาคารแห่งนี้ยังคงมีพฤติกรรมหลอกลวงลูกค้า และละเมิดกฎระเบียบของภาคธนาคาร นอกจากนี้ เฟดยังห้ามไม่ให้เวลส์ ฟาร์โก มีสินทรัพย์โดยรวมมากไปกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง ณ สิ้นปี 2560 จนกว่าธนาคารแห่งนี้จะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้ดีขึ้น
หุ้นบริสทอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ดิ่งลง 4% แม้บริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาดในไตรมาส 4/2560
หุ้นควอลคอมม์ ร่วงลง 6.6% หลังจากมีรายงานว่า บรอดคอม ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพในธุรกิจสื่อสาร ได้ปรับเพิ่มข้อเสนอในการเข้าซื้อกิจการควอลคอมม์ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพสำหรับสมาร์ทโฟน อีก 17% สู่ระดับ 82 ดอลลาร์ต่อหุ้น ขณะที่ข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นบรอดคอม ปิดตลาดร่วงลง 3.1%
ก่อนหน้านี้ ควอลคอมได้ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการจากบริษัทบรอดคอม โดยมองว่ามีมูลค่าต่ำเกินไป และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานควบคุมการผูกขาดตลาด
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดและส่งผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.3 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากระดับ 53.7 ในเดือนธ.ค.
นักลงทุนจับตาสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณในวันนี้ ก่อนที่งบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดีนี้ โดยการลงมติในวันนี้มีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐ (DACA) จำนวนกว่า 7 แสนคน ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุว่า เขาจะยกเลิกโครงการดังกล่าวภายในวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งจะส่งผลให้มีการเนรเทศผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศ
ทั้งนี้ หากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณภายในเวลาเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือเวลาเที่ยงของวันศุกร์ตามเวลาไทย สหรัฐก็จะเผชิญภาวะปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) อีกครั้ง หลังจากที่เกิดการชัตดาวน์เป็นเวลา 3 วันในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดุลการค้าเดือนธ.ค., สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค.
--อินโฟเควสท์
OO5252

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!