- Details
- Category: บลจ.
- Published: Monday, 29 August 2016 22:39
- Hits: 5973
บลจ.วรรณ มอง SET สัปดาห์นี้ ขยับในกรอบ 1,520-1,560 จุด ชี้ทิศทางดอกเบี้ยเฟดยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ
นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ มีโอกาสขยับในกรอบ 1,520-1,560 จุด แต่มีโอกาสลดลงเล็กน้อย หวั่นเฟดขึ้นดบ.เร็วๆนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ มีโอกาสปรับตัว ลดลงเล็กน้อยจากแรงกดดันของตลาดที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นได้ในเร็วๆ นี้หลังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐในงานประชุมธนาคารกลางทั่วโลกในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังคงได้รับปัจจัยบวกสนับสนุนจากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) อย่างต่อเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ รวมทั้ง การคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเพิ่มน้ำหนักของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี FTSE All-World APAC Rebalance รอบใหม่ในวันที่ 31 ส.ค. 59 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนดัชนีตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก โดยบริษัทประเมินกรอบการเคลื่อนตัวของดัชนีในสัปดาห์นี้ที่ระดับ 1,520-1,560 จุด
“ถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ในงานประชุมประจำปีของธนาคารกลางทั่วโลกในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุถึงการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางสหรัฐ สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ได้ในระยะเวลาอันใกล้ โดยบริษัทมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมดูมีน้ำหนักมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางสหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ดังนั้น อาจจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเลยหรือไม่”นายมณฑล กล่าว
จากถ้อยแถลงของดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นต่างประเทศทั่วโลก มีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบๆ หลังตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากการคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่อาจผลักดันออกมาเร็วขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ เร็วกว่าคาดการณ์และราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับทรงตัวมากขึ้นหลังตลาดคาดหวังเชิงบวกจากการหารือตรึงปริมาณการผลิตในการประชุม OPEC เดือนหน้ายังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดไม่ปรับตัวลดลงมากนัก