- Details
- Category: บลจ.
- Published: Saturday, 16 May 2015 15:45
- Hits: 2265
บลจ.กสิกรไทย เผยดีมานด์กองทุนหุ้นสุขภาพ ทะยานไม่หยุด ดันสินทรัพย์กองทุน K-GHEALTH ผงาดสู่ 11,000 ล้านบาท
บลจ.กสิกรไทยปลื้ม ผู้ลงทุนเชื่อมือบริหาร ขนเงินลงทุนกับ K-GHEALTH หนุนสินทรัพย์กองทุนเติบโตทิ้งห่างตลาดในกลุ่มกองทุนหุ้นสุขภาพ ชี้เทรนด์หุ้นกลุ่มสุขภาพยังมาแรง พร้อมสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงในระยะยาว
นายนาวิน อินทรสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า กองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน (K-GHEALTH) ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนมีขนาดมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 11,576 ล้านบาท (ณ วันที่ 12 พ.ค. 2558) ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน นับจากวันจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ด้วยขนาดมูลค่าสินทรัพย์เดิมที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท และยังครองสถิติเป็นกองทุนหุ้นกลุ่มสุขภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในอุตสาหกรรมถึง 44% นอกจากนี้กองทุน K-GHEALTH ของบลจ.กสิกรไทย ยังทำลายสถิติเป็นกองทุนที่สามารถขายหน่วยลงทุนได้จนหมดตั้งแต่วันแรกที่เปิดขายในช่วง IPO ด้วยยอดจองซื้อรวมสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท
นายนาวินกล่าวต่อไปว่า “บลจ.กสิกรไทย ขอขอบคุณผู้ลงทุนทุกท่าน ที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในฐานะของการเป็นผู้นำด้านกองทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย มองแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในกลุ่ม Healthcare ทั่วโลก ว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้มีปริมาณความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งมีอัตราการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลบวกต่อรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจสุขภาพทั่วโลก และส่งผลทำให้หุ้นในกลุ่ม Healthcare ปรับตัวขึ้นโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนี MSCI World HealthCare มีผลดำเนินงานย้อนหลังในช่วง 1 ปีกว่า 20% และเอาชนะดัชนีหุ้นโลกที่มีผลดำเนินงานเพียง 5%”
กองทุน K-GHEALTH ได้มีการประกาศปันผลครั้งที่ 2 ในรอบบัญชีระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม 2557- 30 เมษายน 2558 โดย มีการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลที่ 4.94% ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับระยะเวลาการลงทุน กองทุน K-GHEALTH เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เชื่อมั่นต่อการเติบโตของหุ้นในกลุ่มสุขภาพ และต้องการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว รวมถึงสามารถยอมรับความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมได้ โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ผ่านกองทุนหลัก คือ JP Morgan Funds – Global Healthcare Fund, Class A (acc) ซึ่งบริหารจัดการโดย J.P.Morgan Asset Management หนึ่งในผู้จัดการกองทุนชั้นนำระดับโลก
ทั้งนี้ นโยบายของกองทุนหลักจะเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั่วโลก อาทิ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพ บริการด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ โดยให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มเวชภัณฑ์เป็นสัดส่วนมากที่สุดรองลงมา คือ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ
นอกจากนี้ กองทุนหลักยังได้รับการจัดอันดับ 5 ดาวจาก Morningstar และมีผลการดำเนินงานย้อนหลังที่สามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานในระยะยาว โดยมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีที่ 27.13% ต่อปี เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 20.43% ต่อปี มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีที่ 31.39% ต่อปี เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 23.80% ต่อปี และมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปีที่ 24.89% ต่อปี เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 18.58% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย 58)
ผู้ที่สนใจสามารถลงทุนกับกองทุน K-GHEALTH ได้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 5,000 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือติดต่อ KAsset Contact Center 0 2673 3888
กองทุน 3 เดือน 6 เดือน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง (ต่อปี)
1 ปี 3 ปี 5 ปี
กองทุนหลัก (JP Morgan Funds – Global Healthcare Fund, Class A - acc) 4.60% 8.96% 27.13% 31.39% 24.89%
Benchmark (MSCI World Healthcare) 5.77% 8.78% 20.43% 23.80% 18.58%
ที่มา: Morningstar?, วันที่ 30 เม.ย 58
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุน K-GHEALTH ได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุน K-GHEALTH ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้