- Details
- Category: บลจ.
- Published: Tuesday, 07 May 2024 17:23
- Hits: 9764
บลจ.กสิกรไทย เปิดตัว ‘KNOW THE MARKETS SERIES’ คัมภีร์การลงทุนเชิงลึก มองไตรมาส 2 ตลาดหุ้นปรับฐาน แนะเน้นหลักการกระจายลงทุน
บลจ.กสิกรไทย ชวนผู้ลงทุนรู้ลึกเรื่องลงทุนรอบโลกได้ก่อนใครผ่าน KNOW THE MARKETS SERIES สุดยอดคัมภีร์การลงทุนที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อผู้ลงทุนไทย จากความร่วมมือกันระหว่าง บลจ.กสิกรไทย และ J.P. Morgan Asset Management เผยมุมมองการลงทุนไตรมาส 2/2024 มองตลาดหุ้นมีโอกาสพักฐานในไตรมาส 2 ในขณะที่หุ้นสหรัฐฯ และอินเดียยังน่าสนใจในระยะยาว พร้อมแนะทยอยลงทุนตราสารหนี้ กระจายเสี่ยงจากดอกเบี้ย Fed เข้าสู่วัฏจักรขาลงในระยะถัดไป
นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA, Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ตามที่ บลจ.กสิกรไทย ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบลจ.ชั้นนำระดับโลก J.P. Morgan Asset Management (JPMAM) ในฐานะ Strategic Partnership โดยหนึ่งในความร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ การสรุปมุมมองการลงทุนแบบเชิงลึกผ่านบทวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน ภายใต้ชื่อ “KNOW THE MARKETS SERIES” ซึ่งประกอบไปด้วย 1) KNOW THE MARKETS จับทิศเศรษฐกิจโลก ส่องทุกตลาดเงินตลาดทุน ครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ โดยจะนำเสนอในรูปแบบ Chart อธิบายภาพเศรษฐกิจ 2) STANDPOINT QUARTERLY ปักหมุดจุดที่น่าสนใจลงทุน พร้อมบทวิเคราะห์เจาะลึกจาก CIO บลจ.กสิกรไทย โดยจะนำเสนอในรูปแบบการวิเคราะห์ในแต่ละตลาดตามประเภทสินทรัพย์ทั่วโลก และ 3) MONTHLY BEST IDEAS โฟกัสเหตุการณ์ ตามติดประเด็นร้อน ชวนมองมุมใหม่เพื่อจุดประกายไอเดียการลงทุน โดยจะนำเสนอเนื้อหาที่ลงลึกในประเด็นที่น่าติดตาม ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถอัพเดทมุมมองการลงทุนได้ก่อนใครที่ www.kasikornasset.com
นายวจนะกล่าวต่อไปว่า สำหรับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 2/2024 จาก STANDPOINT QUARTERLY บลจ.กสิกรไทย มองว่าในไตรมาส 2 เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอาจจะมีการปรับฐาน หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงต้นปี ประกอบกับการที่ตลาดกำลังพิจารณาข้อมูลใหม่ๆ อาทิ เงินเฟ้อที่ไม่ได้ปรับตัวลงเร็ว และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดเคยคาดไว้ในช่วงต้นปี ทำให้ในไตรมาสนี้ ตลาดหุ้นอาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะยาวยังคงแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง โดยไม่กระจุกน้ำหนักการลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หรือ ประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยงจะทำให้พอร์ตการลงทุนมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งเป็นจุดเด่นของหลักการลงทุนนี้ที่หาไม่ได้จากหลักการลงทุนอื่นๆ
“เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อทยอยปรับตัวลดลงสู่เป้าหมาย 2% ของ Fed ตอกย้ำทิศทางเศรษฐกิจในลักษณะ Soft Landing ซึ่งส่งผลให้ทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อ Fed เริ่มลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เศรษฐกิจหลักของประเทศอื่นๆ มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน เริ่มจากยุโรปที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่ตัวเลข GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 4/2023 ถูกปรับประมาณการขึ้น สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ดี ด้านตลาดหุ้น คาดว่าในไตรมาส 2 อาจเห็นการพักฐานในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดีย ที่ปัจจุบันระดับ Valuation (Forward P/E) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี แต่ในระยะถัดไป เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอินเดียยังคงน่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่น
ด้านตลาดตราสารหนี้เผชิญปัจจัยกดดันจากตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด และทำให้ตลาดเลื่อนโอกาสการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของ Fed ออกไป โดยแม้ปัจจุบันตลาดมีการปรับมุมมองเข้ามาใกล้เคียงกับ Dot Plot ของ Fed มากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดความผันผวนของราคาตราสารหนี้ต่อจากนี้เริ่มลดลง แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไปบ่งชี้ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยไม่ได้ในปีนี้ ก็อาจจะทำให้ราคาตราสารหนี้ผันผวนได้ อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ยังคงมีความสำคัญในการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ประกอบกับดอกเบี้ยของ Fed จะเข้าสู่วัฏจักรขาลงในระยะถัดไป จึงเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการทยอยเข้าลงทุน” นายวจนะกล่าว
นายวจนะกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ลงทุนสามารถติดตาม KNOW THE MARKETS SERIES โดยอัพเดทมุมมองการลงทุนจาก KNOW THE MARKETS และ STANDPOINT QUARTERLY ได้ทุกรายไตรมาส และตามติดประเด็นร้อนจาก MONTHLY BEST IDEAS ได้ทุกเดือน ที่ www.kasikornasset.com หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ KAsset Contact Center 0 2673 3888
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
5125