- Details
- Category: บลจ.
- Published: Tuesday, 19 March 2024 12:45
- Hits: 8165
บลจ.อีสท์สปริง แนะบาลานซ์พอร์ต รับโอกาสและลดความเสี่ยงปี 2567 ผ่าน 4 กองทุน ‘ES-USTECH - TMBINDAE - ES-GF และ ES-GAINCOME’
นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงแนวทางการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2567 ว่า นักลงทุนควรกระจายการลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลย์ในสถานการณ์ที่ยังมีความผันผวนสูง เพื่อให้ไม่พลาดทั้งโอกาสและความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ โดยบลจ.อีสท์สปริงมีกองทุนที่แนะนำสำหรับติดพอร์ตจำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วยกลุ่มกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ลดลง ได้แก่ กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Information Technology (ES-USTECH) กองทุนเปิดทีเอ็มบี India Active Equity (TMBINDAE) กองทุนเปิดอีสท์สปริง GIS Global Bond (ชนิดสะสมมูลค่า) (ES-GF) และ สำหรับกองทุนที่แนะนำลงทุนเพื่อลดความผันผวนจากการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐฯ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้แก่ กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Multi Asset Income (ES-GAINCOME)
ทั้งนี้ กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Information Technology (ES-USTECH) มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุน iShares S&P 500 Information Technology Sector UCITS ETF (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class USD (Acc) บริหารจัดการโดย BlackRock Asset Management Ireland Limited ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนหลักมีวัตถุประสงค์ สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 Capped 35/20Information Technology ซึ่งจะลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี S&P 500 Capped 35/20 Information Technology ตามสัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวที่นำมาคำนวณดัชนี โดย มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง และมีโอกาสเกิด soft landing หากมีการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะส่งผลบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4 ของปี 2566 ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยียังคงได้ประโยชน์จากกระแส AI ซึ่งอัตราการเติบโตของกำไรของ S&P500 กลุ่ม IT ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ (ที่มา : บลูมเบิร์ก ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567)
สำหรับ กองทุนเปิดทีเอ็มบี India Active Equity หรือ TMBINDAE เน้นลงทุนในกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียวในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนซึ่งมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก คือ กองทุน Goldman Sach India Equity Portfolio ที่เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทในประเทศอินเดียที่มีคุณภาพและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งกองทุนหลักมีเป้าหมายเอาชนะดัชนี MSCI India IMI ในระยะยาว โดยเน้นคัดสรรการลงทุนแบบ Bottom Up จากทีมงาน local based ทำให้กองทุนนี้มีความโดดเด่นเรื่องการหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากหุ้นขนาดกลางและเล็ก โดยมองว่า อินเดียมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้นในปีนี้ หลังจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และ Semiconductor โดยอัตราการเติบโตของกำไรในตลาดหุ้นอินเดียยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว จากปัจจัยด้านวัยแรงงาน เงินลงทุนจากต่างประเทศ และการเมืองที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้ออินเดียได้ปรับตัวลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) แล้ว ทำให้มีโอกาสที่ RBI จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีกเช่นกัน และ Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียอยู่ในระดับสมเหตุสมผลหลังกำไรมีการปรับประมาณการณ์ขึ้นต่อเนื่อง
ในส่วนกองทุนเปิดอีสท์สปริง GIS Global Bond (ชนิดสะสมมูลค่า) (ES-GF) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ กองทุน PIMCO GIS Global Bond Fund ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนหลักเน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกโดยเน้นกลุ่มพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี (Investment Grade Bond) รวมถึงตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันในการจดจำนอง (Agency MBS) โดยบลจ.อีสท์สปริงมองว่าตราสารหนี้โลกมีความน่าสนใจ ประมาณการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสําคัญ จาก Dot Plot ของ Fed คาดว่าปี 2567 จะมีการลดดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้ง และในปี 2568 คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก 5 ครั้ง ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อตราสารหนี้โลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี สหรัฐฯย้อนหลังช่วง 10 ปีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4.1% (ที่มา : บลูมเบิร์ก ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567) ตลอดจนมุมมองต่อเงินเฟ้อของเฟดมองว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ความเสี่ยงจากการปรับตัวขึ้นของ Bond Yield ค่อนข้างจำกัด
สุดท้าย สำหรับกองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Multi Asset Income (ES-GAINCOME) เน้นลงทุนในกองทุน AMUNDI FUNDS INCOME OPPORTUNITIES (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class I2 USD บริหารจัดการโดย Amundi Luxembourg S.A. ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน จุดเด่นของกองทุนหลักคือเน้นโอกาสการสร้างกระแสเงินสดและผลตอบแทนจากราคา โดยลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภททั่วโลกทั้งตราสารทุน, ตราสารหนี้, สินทรัพย์ทางเลือก และมีความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตลงทุน โดยพิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจของหลักทรัพย์รายตัวในแต่ละช่วงเวลา
“กองทุนนี้เหมาะสำหรับกระจายการลงทุนจากความเสี่ยงหลักในปีนี้ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้ ประเมินว่าตลาดจะมีความผันผวนมากขึ้น เมื่อแต่ละพรรคประกาศผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปี 2567 ซึ่งตอนนี้น่าจะเป็นการ rematch ระหว่าง โจ ไบเดน และ โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีต่อเนื่องในปีนี้ตั้งแต่สงครามในตะวันออกกลาง ความไม่สงบในทะเลแดงรวมถึงนโยบายหาเสียงของสหรัฐฯที่น่าจะมุ่งเป้าไปที่จีนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวขึ้นอีกครั้ง และกดดันในธนาคารกลางทั่วโลกต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังคงมีการฟื้นตัวไม่เท่ากันอยู่ในหลายภูมิภาค โดยญี่ปุ่นและอังกฤษเพิ่งเข้าสู่ภาวะ recession” นายยิ่งยงกล่าว
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eastspring.co.th หรือโทร 1725 ในวันและเวลาทำการ หรือผ่านช่องทางการขายของบริษัทฯ หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้ง และผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุน และเนื่องจากทั้ง 4 กองทุนไม่ได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต และความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงทางด้านตลาด ความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงทางด้านเครดิตและคู่สัญญา และความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง เป็นต้น
3678