- Details
- Category: บลจ.
- Published: Friday, 26 December 2014 16:20
- Hits: 2637
บลจ.เมย์แบงก์ ปลื้มอีทีเอฟ อิงหุ้นต่างประเทศ 4 กองเทรดวันแรก นลท.ให้ความสนใจเพียบ
บลจ.เมย์แบงก์ ส่งกองทุนอีทีเอฟ อิงหุ้นต่างประเทศ MUS, MEU, MJP,MEM เข้าเทรดวันแรก นลท. ให้ความสนใจเพียบ เหตุเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุน ตปท. ที่ง่าย สะดวก แถมช่วยกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ผู้บริหาร เผยเคล็ดลับการลงทุน หากกระจายพอร์ตลงทุนหุ้นในและนอก ผ่าน ETF ทั้ง 4 กอง ในสัดส่วนที่เท่ากันจะช่วยลดความเสี่ยงได้ถึง 36% เชื่อหากปี 58 เปิด AEC หนุนการลงทุน ตปท. คึกคักมากขึ้น พร้อมเล็งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เอาใจ นลท.
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยลงทุน กองทุนเปิดเมย์แบงก์ ยูเอส อีทีเอฟ (Maybank US ETF: MUS) กองทุนเปิดเมย์แบงก์ ยูโร อีทีเอฟ (Maybank EURO ETF: MEU) กองทุนเปิดเมย์แบงก์ เจแปน อีทีเอฟ (Maybank Japan ETF: MJP) และกองทุนเปิดเมย์แบงก์ อีเมอร์จิ้ง อีทีเอฟ (Maybank Emerging ETF: MEM) ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 เป็นวันแรกได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเพราะกองทุนดังกล่าวถือเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี
“ตั้งแต่กองทุนอีทีเอฟ ซึ่งอ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศทั้ง 4 กองทุนเปิดขายไอพีโอ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า มีทั้งโทรมาสอบถาม เข้าร่วมฟังข้อมูลภายในงานสัมมนา หรือสอบถามผ่านทาง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง และ บล.ภัทร ซึ่งเป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนของเรา สำหรับนักลงทุนที่พลาดการจองซื้อส่วนใหญ่จะมารอซื้อกองอีทีเอฟ ในตลาดหลักทรัพย์วันนี้” ดร.ตรีพล กล่าว
สำหรับ รูปแบบการลงทุนของกองทุนอีทีเอฟ ต่างประเทศแต่ละกองนั้นจะต่างกันออกไป ดังนี้ กองทุน MUS จะเน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก โดยผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี S&P500 กองทุน MEU จะลงทุนหุ้นของบริษัทชั้นนำในกลุ่มประเทศยุโรปกว่า 200 บริษัท โดยผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI EMU กองทุน MJP จะเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมากกว่า 300 บริษัท ซึ่งผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI Japan และกองทุน MEM จะเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในตลาดเกิดใหม่กว่า 800 หุ้น โดยผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI Emerging Markets โดยทั้ง 4 กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิหรือกำไรสะสม
“หากดูจากสถิติย้อนหลัง 3 ปี ถึงเดือนพฤศจิกายน 2557ของดัชนีอ้างอิงของกองทุนอีทีเอฟ MUS, MEU, MJP,MEM ในรูปเงินบาท จะพบว่า ผลตอบแทนการลงทุนโดยเฉลี่ยต่อปีของตลาดหุ้นนิวยอร์ค จะอยู่ที่ 20.8% ผลตอบแทนการลงทุนโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศยุโรป จะอยู่ที่ 12.5% ผลตอบแทนการลงทุนโดยเฉลี่ยของหุ้นญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 10.7% และผลตอบแทนการลงทุนโดยเฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่ จะอยู่ที่ 4.8% ซึ่งเชื่อว่าผลตอบแทนในระยะยาวของหน่วยลงทุนอีทีเอฟทั้ง 4 กอง จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี”
ดร.ตรีพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดหุ้นโลกจะยังมีความผันผวนอยู่มากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพราะฉะนั้นการกระจายความเสี่ยงจะสำคัญมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีจะพบว่า หากกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยแบ่งลงในหุ้นไทย สหรัฐฯ ยูโร ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน จะสามารถลดความเสี่ยงของผลตอบแทนได้ถึง 36 % สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ และจะสำคัญมากขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้มองว่า การกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศ จะเปิดกว้างมากและง่ายขึ้นด้วย อีทีเอฟ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่างประเทศถูกลงกว่าปัจจุบัน บลจ.เมย์แบงก์เอง มีแผนจะออกกองทุนอีทีเอฟ รูปแบบใหม่ๆ ในปีหน้า เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนให้แก่ลูกค้าและผู้ที่สนใจ และจะเน้นการสื่อสารเกี่ยวกับการลงทุนในอีทีเอฟ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและขยายฐานนักลงทุนใหม่ๆ ในตลาด