WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GBX ชี้ปี 58 กรอบลงทุนทอง 1,050-1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์ หวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ย-หนุนค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า กดราคาทองคำลงต่อ

     กรุงทพ - บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง มองกรอบราคาทองคำ ปี 2558 ที่ระดับ  1,050-1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์ คาดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2558 ส่งผลค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า บวกกับต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนทองคำ'ซื้อเก็งกำไร' ตามกรอบทางเทคนิค

     นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GBX ประเมินทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำปี 2558 ว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังคงอยู่ในกรอบ 1,050-1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส3-4 ปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกดดันต่อราคาทองคำ

    สำหรับ กรอบการแกว่งตัวของราคาทองที่ 1,050-1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์ นั้น ถือว่าสะท้อนต้นทุนการผลิตทองคำที่สภาทองคำโลกและเหมือง Primero ได้แจ้งไว้เมื่อต้นปี 2557 ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว โดยไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 สู่ระดับ 3.3% จากเดิม 3.4% และปี 2558 สู่ระดับ 3.8% จากเดิม 4%  เนื่องจากความอ่อนแอในยูโรโซน  การชะลอตัวในตลาดเกิดใหม่หลักๆ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งสหรัฐ จีน และประเทศในแถบยูโรโซนที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับทองคำมีผลตอบแทนจากการลงทุนลดลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ทำให้ทองคำได้รับความน่าสนใจในการลงทุนลดลง

   อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการซื้อทองคำเพื่อสวมใส่ปี 2558 กลับเพิ่มขึ้น จากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียประมาณ 6.4% ซึ่งประเทศอินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าทองคำสำหรับเป็นเครื่องประดับมากเป็นอันดับต้นๆของโลก ใกล้เคียงกับประเทศจีน หากเศรษฐกิจอินเดียสามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

    ทั้งนี้ ต้องจับตาดูเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัว 7.2% ในปี 2558 ซึ่งจะชะลอลงจาก 7.4% ในปี 2557 ทำให้ความต้องการทองคำของจีนคาดจะทรงตัว แต่เมื่อพิจารณาความต้องการทองคำรวมทั้งตลาดจีน และอินเดียแล้วความต้องการรวมอยู่ระดับ 1,500 ตันต่อปีซึ่งถือเป็น 68% ของความต้องการเครื่องประดับของโลก

     กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GBX กล่าวเพิ่มว่า ในปี 2558 ต้นทุนการผลิตทองคำมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวระดับ  50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากคาดว่าทางโอเปคจะมีการประชุมเพื่อลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลก ตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว  แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในปัจจุบัน เป็นเพียงเกมการเมืองเพื่อคว่ำบาตรประเทศรัสเซียเท่านั้น แต่ก็เป็นปัจจัยระยะสั้น ทำให้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตทองคำปรับตัวลดลงจากปี 2557 และยังมีผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ทำให้ทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อมีความน่าสนใจลดลงเช่นกัน

    นอกจากนี้ การสำรองทองคำของธนาคารกลางต่างๆในปี 2558 คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมามากมาย ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มฟื้นตัวมากที่สุด จึงทำให้ธนาคารกลางต่างๆไม่มีความจำเป็นในการถือทองคำในบทบาทสินทรัพย์เพื่อความปลอดภัยมากนัก ธนาคารกลางต่างๆจึงมีแนวโน้มถือทองคำเป็นเงินสำรองลดลง

   ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มองว่า ค่าเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3 เมื่อพิจารณาแล้วว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงทำให้ราคาทองคำอาจถูกกดดันให้ปรับตัวลงทดสอบจุดต่ำสุดที่คาดไว้ที่ 1,050 เหรียญต่อทรอยออนซ์ได้

    ดังนั้น โกลเบล็ก โฮลดิ้งฯ แนะนำกลยุทธ์การลงทุนทองคำในปี 2558 ว่า หาจังหวะเข้า “ซื้อเพื่อเก็งกำไร” โดยให้แนวรับสำคัญ  1,050 เหรียญต่อทรอยออนซ์  ถือเป็นแนวรับระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเหมืองทองคำ โดยอาจปรับตัวลงในไตรมาสที่ 3 หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยในระหว่างปีมองกรอบราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบ 1,050 – 1,300เหรียญต่อทรอยออนซ์ โดยมีจุดขายทำกำไรเมื่อปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดที่คาดไว้ที่ 1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์  

 

*******************************************************************

เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย : บริษัท มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด

ในนาม บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์  (GBX)  :  รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

 เกสสุดา ฤทธิมาศ (อิ้ว)  089-692-6137 ,   วาสนา วงษ์ศิริ (เจี๊ยบ)  084-359-0659                                                

โทร: 02-664-3856   E-mail : [email protected] , [email protected]     

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!