- Details
- Category: บลจ.
- Published: Sunday, 07 August 2022 22:40
- Hits: 1790
ฟิทช์ คงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ บลจ.ไทยพาณิชย์ที่ ‘Excellent(tha)’
ฟิทช์ เรทติ้งส์ – กรุงเทพฯ– 19 กรกฎาคม 2565 : บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ ‘Excellent(tha)’ แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับดังนี้
กระบวนการการลงทุน: Strong
บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน: Excellent
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Excellent
บริษัทและการบริการลูกค้า: Excellent
ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: Consistent
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น ‘Excellent’ ‘Strong’ ‘Proficient’ ‘Adequate’ หรือ ‘Weak’
โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับคุณภาพการจัดการ การลงทุนภายในประเทศที่ระดับ ‘Excellent(tha)’แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุนที่ฟิทช์ คิดว่า โดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน
กระบวนการการลงทุน
ฟิทช์ มองว่า SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีในการบริหารกองทุนที่หลากหลาย บริษัทมีการวิเคราะห์การลงทุน ในเชิงลึกและเลือกลงทุนอย่างมีระบบ และมีระบบการประเมินผลการดำเนินงานของการลงทุนที่บันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
นอกจากนี้ บริษัทมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ (quantitative tools) และปัจจัยเชิงคุณภาพ (qualitative factors) เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์การลงทุนและกระบวนการการลงทุน ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทยังคงใช้เทคโนโลยี machine learning อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารทุนภายในประเทศและต่างประเทศ
บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน
ฟิทช์ เชื่อว่า SCBAM มีบุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทมีประสบการณ์ ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสมในแต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุน มีการพัฒนาระบบ machine learning และนำมาใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว ผู้จัดการการลงทุนอาวุโสส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าในปี 2564
บริษัทมีอัตราการลาออกของพนักงานในฝ่ายงานการลงทุนในระดับสูง แต่มีการสรรหาพนักงานเข้ามาแทนได้ทันการณ์ นอกจากนี้ พนักงานใหม่ที่เข้ามาแทนยังมีประสบการณ์และมีจำนวนเหมาะสมกับปริมาณงานของบริษัท ความเสี่ยงจากการพึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไปของบริษัทนั้นมีไม่มากนัก จากการที่มีทีมบุคลากรในระดับอาวุโสที่ค่อนข้าง มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ บริษัทมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจนและการแบ่งทีมตามสายงานอย่างชัดเจน
ระบบงานของฝ่ายลงทุน (front office) มีความเชื่อมต่อกันผ่านระบบอัตโนมัติ รวมทั้งมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการลงทุนที่หลากหลายของบริษัท บุคลากรในการจัดการการลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย ฟิทช์มองว่า SCBAM มีบุคคลากรและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการลงทุน
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง
บริษัทแม่ของ SCBAM ซึ่งคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; ‘AA+(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงโดยรวมของกลุ่ม แต่ได้มีการกระจายอำนาจ (decentralise) การบริหารความเสี่ยงให้กับบริษัทลูกในกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายงานกำกับและควบคุม (compliance) ยังคงรวมศูนย์ (centralized) อยู่ที่ SCB เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างอิสระในสถานะบุคคลที่สาม
แม้ฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ SCBAM จะยังคงมีความอิสระ จากบุคลากรสายงานการจัดการการลงทุน แต่ทั้ง 2 สายงานยังคงทำงานรวมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อความสอดคล้องและผสานการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยง (integrated) ทีมบริหารความเสี่ยงใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับการประเมินความเสี่ยงและการทดสอบภาวะวิกฤต
บริษัทและการบริการลูกค้า
SCBAM มีการดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานในประเทศไทย โดยบริษัทจัดตั้งขึ้นในปี 2535 บริษัทมีเครือข่ายทางธุรกิจ (franchise) ที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน โดยมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน
และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 บริษัทยังคงมีการเพิ่มสัดส่วนกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) ขึ้นต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจกองทุนรวมของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 60% ของ AUM สำหรับกองทุนรวม (ไม่รวมกองอสังหาริมทรัพย์และกองโครงสร้างพื้นฐาน)
SCBAM ยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 27% ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2564 และมี AUM เพิ่มขึ้น 6.7% แสดงถึงเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (high net worth)
นอกจากนี้ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ที่ 13.1% การรายงานข้อมูลต่อผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวม กองทุน ส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สอดคล้องกับเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม
ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน
ผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance)
ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (assets under management; AUM) มีผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้อื่นๆในอุตสาหกรรม สำหรับ กองทุนหุ้นและกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) ผลการดำเนินการโดยรวมสอดคล้องกับกองทุนประเภทเดียวกันที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทอื่นๆ เช่นกัน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
SCBAM เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่มี AUM ขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 19.0% ณ สิ้นปี 2564 บริษัทยังเป็นบริษัทลูกที่สำคัญของ SCB ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด ที่ 14.6% ในด้านสินทรัพย์ ณ สิ้นปี 2564
ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
เนื่องจากอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนปัจจุบันอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดแล้ว การปรับเพิ่มอันดับจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
กระบวนการลงทุนที่มีความสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนด้านกระบวนการลงทุนเป็น ‘Excellent’
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับ 5 ปัจจัยหลัก (pillars) ที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการลงทุน บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน และบริษัทและการบริการลูกค้า การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน
เนื่องจากบริษัทมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับบริษัทแม่ ซึ่งคือ SCB ที่ได้ให้การสนับสนุนบริษัทด้านการดำเนินงาน การเงิน การอนุมัติและให้ความเห็นชอบในนโยบายต่างๆ ทั้งยังมีการพึ่งพาช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทแม่ ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ SCB ในบริษัทอย่างเป็นสาระสำคัญ และส่งผลกระทบให้ระดับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ปรับตัวลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการทบทวนการประเมินอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนใหม่
ติดต่อ:
Primary Analyst
กุลรัตน์ ลีลานิรมล
Associate Director
+662 108 0154
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 17 อาคารปาร์คเวนเชอร์
เลขที่ 57 ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน
กรุงเทพ 10330
Secondary Analyst
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล
Senior Director
+662 108 0158
Committee Chairperson
Abis Soetan
Director
+44 203 530 1311
ข้อมูลเปิดเผย: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ถือหุ้นรายละ 10% ในบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับที่จัดทำโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com