- Details
- Category: บลจ.
- Published: Thursday, 13 January 2022 07:55
- Hits: 4124
มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นปีที่ 2 ที่ 1,034,572 ล้านบาท
สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
ในปี 2564 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีเหตุการณ์สำคัญสรุปได้ ดังนี้
มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่สอง โดยมียอดการออกที่ 1,034,572 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 50 จากปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่ม Investment grade และ High yield โดยหุ้นกู้ที่ออกในกลุ่ม High yield ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้มีประกันที่กว่าร้อยละ 53 เป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น
2. การออกตราสารหนี้ประเภทใหม่ที่เรียกว่า ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) ที่ผู้ออกจะกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จและเชื่อมโยงความสำเร็จกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ออก 2 ราย คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท
- 3. ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน (ESG bond) มีมูลค่าการออกในปี 2564 ที่
152,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 จากปีที่แล้ว (ไม่รวมการออก SLB bond) ทำให้มูลค่าคงค้างของ ESG bond ณ สิ้นปี 2564 ขยายตัวขึ้นกว่า 2 เท่าจากสิ้นปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้ออกและนักลงทุนมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง - 4. การออกตราสารหนี้อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนระยะข้ามคืน (Thai Overnight Repurchase Rate: THOR) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาทดแทนอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะยุติการเผยแพร่ในปี 2566 มีธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัทเอกชน 5 รายเป็นผู้ออก โดย ณ สิ้นปี 2564 ตราสารหนี้อ้างอิง THOR มีมูลค่าคงค้างรวม 306,448 ล้านบาท
- 5. บมจ.ปตท.สผ. ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปเป็น
ครั้งแรกในเอเชีย มูลค่า 6,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ผ่าน
แอปพลิเคชันเป๋าตัง’วอลเล็ต สบม.’ จำนวน 4 รุ่น มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท โดยจนถึงปัจจุบันกระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์บนวอลเล็ต สบม. ทั้งหมด 6 รุ่น รวมมูลค่า 30,200 ล้านบาท - 6. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 การถือครองตราสารหนี้ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.03 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 มีการถือครองเพิ่มขึ้นสุทธิ 144,330 ล้านบาท แบ่งเป็น
ในตราสารหนี้ระยะยาว 141,064 ล้านบาท และในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,266 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2564 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ 02 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.8 ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย - ณ สิ้นปี 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond yield) อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27 bps. จาก 0.39% เมื่อสิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 0.66% รุ่นอายุ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 68 bps. จาก 0.61% มาอยู่ที่ 1.29% และรุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 61 bps. จาก 1.28% มาอยู่ที่ 1.90%
- ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกอันดับเครดิต ขณะที่ในปี 2564 ปรับตัวลดลงทุกอันดับเครดิต ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นกู้อันดับเครดิตตั้งแต่ AA ขึ้นไปมี
Credit spread อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดเมื่อปลายปี 2562 แต่หุ้นกู้อันดับเครดิตตั้งแต่ A ลงไปยังมี
Credit spread อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดโควิด และเมื่อนำไปรวมกับ Bond yield อายุ 5 ปี สามารถสรุปได้ว่าต้นทุนการออกหุ้นกู้ของผู้ออกอันดับเครดิต AAA และ AA อยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด ในขณะที่ผู้ออกที่มีอันดับเครดิต A, BBB+, BBB และ BBB- ยังมีต้นทุนสูงกว่าก่อนเกิดโควิดในระดับ 25 bps., 76 bps., 34 bps. และ 12 bps. ตามลำดับ
จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของโควิดและทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทุกรุ่นอายุ โดยรุ่นอายุ 2 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นราว 10 bps. มาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 0.75% ณ สิ้นปี 2565 ส่วนรุ่นอายุ 5 และ 10 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 50-60 bps. มาอยู่ที่ 1.7-1.8% และ 2.3-2.5% ตามลำดับ
สำหรับ ปริมาณการออกหุ้นกู้ระยะยาว สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่สาม เนื่องจากเชื่อว่า บริษัทเอกชนไทยจะยังมีความต้องการลงทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่อยู่ในระดับสูงและสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังมีอยู่มาก