- Details
- Category: บลจ.
- Published: Saturday, 03 July 2021 22:27
- Hits: 20920
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
ภาพรวมและขอบเขตของเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต
รายงานฉบับนี้อธิบายเกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตที่ทริสเรทติ้งใช้ในการจัดอันดับเครดิตและกำหนดระดับของทุนที่ให้กับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมทั้งยังอธิบายถึงวิธีการปฏิบัติต่อตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวกับภาระหนี้ที่สำคัญ โดยเกณฑ์ดังกล่าวใช้กับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ออกโดยหน่วยงานธุรกิจทั่วไป และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเกณฑ์นี้จะไม่กระทบต่ออันดับเครดิตและระดับของทุนที่ทริสเรทติ้งให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเกณฑ์นี้ใช้ทดแทนเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities) ที่ทริสเรทติ้งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561
ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นตราสารที่มีคุณสมบัติของทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยคุณลักษณะสำคัญของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนคือ 1) มีความด้อยสิทธิ (Subordination) 2) มีความถาวร (Permanence) และ 3) สามารถเลื่อนการจ่ายคูปองออกไปได้ (Coupon Payment Deferral) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในกรณีที่บริษัทล้มละลายและมีการตีทรัพย์ชำระหนี้ ผู้ถือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนจะมีลำดับในการได้รับชำระเงินคืนหลังเจ้าหนี้ทั่วไปที่มีลำดับเหนือกว่าทั้งหมด แต่จะได้รับชำระคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
โดยส่วนมากตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมักจะไม่มีวันหมดอายุหรือมีอายุยาวมาก ข้อแตกต่างระหว่างตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนกับตราสารหนี้ด้อยสิทธิทั่วไปคือ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไปได้โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น อันดับเครดิตของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนจะต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร (Issuer Credit Rating) อย่างน้อย 2 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิและความเสี่ยงจากการที่ตราสารสามารถเลื่อนการจ่ายคูปองออกไปได้
ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีคุณสมบัติเฉพาะบางอย่างจะสามารถนับเป็นส่วนทุนได้ โดยทริสเรทติ้งแบ่งระดับของส่วนทุนที่กำหนดให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนออกเป็น 3 ระดับคือ 1) ‘สูง’ (High) 2) ‘ปานกลาง’ (Intermediate) และ 3) ‘ศูนย์ หรือ ไม่มี’ (Nil) ในการกำหนดระดับของส่วนทุนที่ระดับ ‘สูง’ หรือ
‘ปานกลาง’ ให้แก่ตราสารนั้น ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาของทริสเรทติ้งคือตราสารนั้นจะต้องสามารถช่วยรักษาระดับเงินสดหรือช่วยรับความสูญเสียได้ในช่วงที่ผู้ออกตราสารเผชิญกับภาวะวิกฤต
สำหรับ การคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับภาระหนี้ของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนจะพิจารณาจากระดับของส่วนทุนที่กำหนดให้แก่ตราสารนั้น สำหรับ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีส่วนทุนอยู่ในระดับ ‘สูง’ นั้น ทริสเรทติ้ง จะพิจารณาว่าตราสารนั้นมีความเป็นทุนทั้งหมดและคูปองที่จ่ายจะถือเป็นเสมือนเงินปันผลจ่ายทั้งจำนวน ส่วนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีส่วนทุนระดับ ‘ปานกลาง’นั้น
ทริสเรทติ้ง จะพิจารณาว่าตราสารนั้นเป็นหนี้ 50% และเป็นทุน 50% ส่วนคูปองที่จ่ายจะถือเป็นเสมือนดอกเบี้ยจ่าย 50% และเงินปันผลจ่าย 50% ส่วนตราสารที่มีระดับของส่วนทุนเป็น ‘ศูนย์’ นั้น ทริสเรทติ้งจะนับให้ตราสารดังกล่าวเป็นหนี้ทั้งจำนวนและคูปองที่จ่ายจะถือเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งจำนวน โดยส่วนทุนที่ให้กับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนนั้นจะไม่เกิน 1 ใน 3 ของส่วนทุนของบริษัท (ที่ไม่นับรวมส่วนทุนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน)
นิยามของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นตราสารที่มีคุณสมบัติของหนี้และทุน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- มึความด้อยสิทธิ (Subordination) โดยลำดับในการได้รับชำระเงินคืนของผู้ถือตราสารจะต่ำกว่าเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt Creditor) และเจ้าหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated Debt Creditor) ทั่วไป แต่สูงกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ (Common Shareholder) ดังนั้นในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนจะได้รับชำระเงินคืนในลำดับหลังจากเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิและเจ้าหนี้ด้อยสิทธิทั่วไปแต่ในลำดับก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ โดยทั่วไปแล้วตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนจะจัดอยู่ในลำดับเดียวกับหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share)
- มีความถาวร (Permanence) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมักจะไม่มีวันหมดอายุ (Perpetual) หรือมีอายุที่ยาวนานมาก อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งจะกำหนดส่วนของทุนแก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ที่ระดับ ‘ปานกลาง’ หรือ ‘สูง’ แก่ตราสารที่มีอายุคงเหลือที่แท้จริง (Remaining Effective Maturity) มากกว่า 20 ปี เท่านั้น โดยวันครบกำหนดอายุตราสารที่แท้จริงจะเป็นวันที่คูปองตราสารนั้นปรับเพิ่มขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 100 จุด (Basis Points -- bps) นอกจากนี้ ในกรณีที่ตราสารนั้นให้สิทธิผู้ออกตราสารในการไถ่ถอนคืนตราสาร (Call Option) ก่อนวันครบกำหนดอายุตราสาร ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ออกตราสารจะไถ่ถอนตราสารนั้นแล้วออกตราสารใหม่ที่มีระดับของส่วนทุนเท่ากันหรือสูงกว่ามาทดแทน ทั้งนี้ การที่ผู้ออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนไม่มีการออกตราสารใหม่มาทดแทนตราสารที่ได้รับการไถ่ถอนไปนั้นก็อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาส่วนทุนที่ให้ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนของผู้ออกตราสารรายนั้นที่คงเหลืออยู่ในปัจจุบันและที่จะออกในอนาคตได้
- สามารถเลื่อนการจ่ายคูปองได้ (Deferral) ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนคือ สามารถเลื่อนการจ่ายคูปองได้โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ โดยคูปองที่ค้างจ่ายอาจจะสะสมไปจ่ายในงวดหน้าหรือไม่สะสมก็ได้ อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งอาจจะปรับลดอันดับเครดิตตราสารลดลงไปที่ระดับ ‘C’ หากผู้ออกตราสารเลื่อนการจ่ายคูปองออกไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
ทริสเรทติ้ง กำหนดสัญลักษณ์อันดับเครดิตของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนในแบบเดียวกับอันดับเครดิตราสารหนี้ทั่วไปคือที่ระดับ AAA ลงไปจนถึง C โดยอันดับเครดิตสูงสุดคือ AAA และอันดับเครดิตต่ำสุดคือ C อันดับเครดิตที่จัดให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมักต่ำกว่าอย่างน้อย 2 ขั้นจากอันดับเครดิตองค์กรของผู้ออกตราสาร (Issuer Credit Rating) (หรืออันดับเครดิตเฉพาะของผู้ออกตราสาร (Standalone Rating) หากทริสเรทติ้งเห็นว่าอันดับเครดิตองค์กรของผู้ออกตราสารที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในกลุ่มหรือรัฐบาลจะไม่ส่งผลต่อตราสารกึ่งหนี้ทุน)
โดยอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าสะท้อนถึงความเสี่ยงของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน อันเนื่องจากความด้อยสิทธิตามกฎหมายในการได้รับชำระคืนและความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารมีสิทธิเลื่อนการจ่ายคูปองออกไปได้ โดยอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้มากกว่านี้หากความเสี่ยงในการที่ผู้ออกตราสารจะเลื่อนการจ่ายคูปองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดได้จากการที่ฐานะการเงินของผู้ออกตราสารด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการที่ตราสารนั้นมีเกณฑ์ (Triggers) ที่บังคับให้ผู้ออกตราสารเลื่อนการจ่ายคูปองออกไป (นอกเหนือจากการที่ตราสารนั้นให้สิทธิแก่ผู้ออกตราสารในการเลื่อนการจ่ายคูปองออกไปตามความต้องการของผู้ออกตราสาร) โดยโอกาสที่ผู้ออกตราสารจะละเมิดเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าเป็นเวลานานก่อนที่ผู้ออกตราสารจะผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้ประเภทอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ออกตราสารจะต้องเลื่อนการจ่ายคูปองออกไปหากผู้ออกตราสารมีผลการดำเนินงานขาดทุนในปีใดปีหนึ่ง เป็นต้น
ประเด็นสำคัญที่ทริสเรทติ้งใช้ในการพิจารณาจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ประกอบด้วย
อายุคงเหลือที่แท้จริงของตราสาร
- ลำดับในการได้รับชำระเงินคืน
- ความสามารถในการเลื่อนการชำระคูปองได้ตามดุลยพินิจของผู้ออกตราสาร
- เงื่อนไขและระยะเวลาในการเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยและการออกตราสารทดแทน (Replacement Capital Covenant -- RCC)
- ช่วงเวลาที่ผู้ออกตราสารมีสิทธิเรียกไถ่ถอนตราสารคืนก่อนวันครบกำหนดอายุ (Call Option) ครั้งแรกนับจากวันที่ออกตราสาร
- อัตราคูปองที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ผู้ออกตราสารใช้สิทธิเรียกคืนตราสารก่อนครบกำหนดอายุ ส่งผลให้ตราสารนั้นมีอายุสั้นกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้หากการปรับเพิ่มคูปองเท่ากับหรือมากกว่า 100 bps
หลักเกณฑ์ในการกำหนดส่วนทุน (Equity Content) ให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
เนื่องจากตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมีคุณสมบัติบางประการที่คล้ายกับทุน ดังนั้นทริสเรทติ้งจึงอาจนับให้ตราสารนั้นเป็นทุนบางส่วนหรือทั้งหมดในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงิน โดยระดับของส่วนทุนนั้นขึ้นอยู่กับความคล้ายทุนของตราสารนั้นและความน่าจะเป็นที่ตราสารนั้นจะเลื่อนการจ่ายคูปองออกไป
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการกำหนดระดับความเป็นทุนจะขึ้นอยู่กับการที่ตราสารนั้นจะช่วยรับความสูญเสียแทนเจ้าหนี้อื่นและช่วยรักษากระแสเงินสดของบริษัทไว้ได้ในยามที่จำเป็น รวมถึงความตั้งใจของผู้ออกตราสารในการที่จะให้มีตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเงินทุนในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ ในการกำหนดความเป็นทุนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ ‘สูง’ (High) ‘ปานกลาง’ (Intermediate) และ ‘ศูนย์’ (Nil)
- มีระดับความเป็นทุนสูง (High Equity Content) ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาให้ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนบางประเภทเป็นเสมือนทุน 100% เช่นตราสารที่มีเงื่อนไขให้แปลงสภาพเป็นทุน (Mandatory Convertible Securities) และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- เป็นตราสารที่ด้อยสิทธิกว่าตราสารไม่ด้อยสิทธิและตราสารด้อยสิทธิทั่วไปแต่เหนือกว่าหุ้นสามัญในกรณีที่มีการปรับโครงสร้างหนี้และ/หรือมีการขายทอดตลาด
- สามารถเลื่อนการจ่ายคูปองได้ตามดุลยพินิจของผู้ออกตราสาร
- ตราสารนั้นจะต้องแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญภายใน 2 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร
- ต้องมีการกำหนดราคาแปลงสภาพล่วงหน้า และราคาแปลงสภาพขั้นต่ำควรเท่ากับหรือสูงกว่าราคาหุ้นของผู้ออกตราสาร ณ วันที่ออกตราสารนั้น
- ในกรณีที่มีการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ผู้ออกตราสารจะต้องไม่เข้าไปทำการซื้อหุ้นคืน
- มีระดับความเป็นทุนปานกลาง (Intermediate Equity Content) ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาให้ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นเสมือนทุนในระดับปานกลางหรือ 50% หากตราสารดังกล่าวมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- มีความด้อยสิทธิกว่าตราสารไม่ด้อยสิทธิและตราสารด้อยสิทธิทั่วไปแต่เหนือกว่าหุ้นสามัญในกรณีที่มีการปรับโครงสร้างหนี้และ/หรือมีการขายทอดตลาด
- มีอายุคงเหลือที่แท้จริง (Effective Maturity) มากกว่า 20 ปี
- การเลื่อนการจ่ายคูปองสามารถกระทำได้ตามดุลยพินิจของผู้ออกตราสารหรือถูกบังคับให้ต้องเลื่อนก็ได้ และคูปองจ่ายที่เลื่อนออกไปจะสะสมหรือไม่สะสมก็ได้ ในกรณีที่มีการสะสมคูปองค้างจ่ายจะต้องสามารถเลื่อนการจ่ายนั้นออกไปได้เกินกว่า 5 ปีนับจากวันที่ครบกำหนดจ่าย
- ในกรณีที่ผู้ออกตราสารมีสิทธิไถ่ถอนตราสารก่อนวันครบกำหนด วันที่มีสิทธิไถ่ถอนครั้งแรกจะต้องห่างจากวันที่ออกตราสารอย่างน้อย 5 ปี
- กรณีที่ตราสารนั้นให้สิทธิผู้ออกตราสารในการไถ่ถอนตราสารคืนก่อนครบกำหนดอายุตราสารและตราสารนั้นมีการปรับคูปองเพิ่มระหว่าง 26-100 bps ควรมีเงื่อนไขในเอกสารที่ประกอบการออกตราสาร ให้ผู้ออกตราสารต้องออกตราสารใหม่ที่มีส่วนทุนไม่น้อยกว่าเดิมมาทดแทน (Replacement Capital Covenant -- RCC))
- ไม่มีระดับความเป็นทุน (Nil Equity Content) ทริสเรทติ้งอาจนับให้ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมีระดับความเป็นทุน 0% (Nil) หากตราสารดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่จะจัดให้มีระดับความเป็นทุน ‘ปานกลาง’ (Intermediate) หรือ ‘สูง’ (High) ตามที่กล่าวข้างต้น
วิธีปฏิบัติสำหรับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน
ตราสารหนี้กึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดโดยมาตรฐานทางบัญชีของไทยจะนับเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งจำนวน อย่างไรก็ดี ในมุมมองของการจัดอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งมองว่าตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมีคุณสมบัติทั้งในส่วนของความเป็นหนี้และส่วนของความเป็นทุน ดังนั้นในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงิน ทริสเรทติ้งจะคำนึงถึงส่วนของทุนที่กำหนดให้แก่ตราสารนั้นตามระดับความเป็นทุน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อันได้แก่
ระดับความเป็นทุนสูง (High Equity Content) ทริสเรทติ้งจะนับให้ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีระดับความเป็นทุนสูง เป็นส่วนของทุน 100% และคูปองที่จ่ายจะนับเป็นเงินปันผลจ่าย
ระดับความเป็นทุนปานกลาง (Intermediate Equity Content) ทริสเรทติ้งจะนับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีระดับความเป็นทุนปานกลางให้เป็นส่วนของทุน 50% และเป็นหนี้ 50% ดังนั้นคูปองที่จ่ายจะนับเป็นเงินปันผลจ่าย 50% และดอกเบี้ยจ่าย 50%
ไม่มีระดับความเป็นทุน (Nil Equity Content) สำหรับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ไม่มีระดับความเป็นทุน (Nil) นั้น ทริสเรทติ้งจะนับให้เป็นหนี้ 100% และคูปองที่จ่ายจะถือเป็นดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด
ข้อพิจารณาอื่น
- ทริสเรทติ้งอาจจัดส่วนทุนให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็น 0% หากตราสารนั้นมีการออกให้แก่ผู้ลงทุนเพียง 1 หรือ 2 ราย เว้นแต่ตราสารนั้นจะออกให้แก่รัฐบาลหรือผู้ลงทุนเพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ผู้ออกตราสารเผชิญกับภาวะวิกฤตทางการเงิน โดยภาวะวิกฤตการเงินหมายถึงช่วงเวลาที่ผู้ออกตราสารมีฐานะทางการเงินถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญและมีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ
- ส่วนของทุนที่จะให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีอยู่ทั้งหมดจะนับเป็นทุนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมของผู้ออกตราสารก่อนที่จะรวมส่วนของทุนที่กำหนดให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ส่วนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่เกินกว่าสัดส่วนดังกล่าวจะถือว่าไม่ใช่ทุนและจะนับเป็นหนี้ทั้งหมด
- ในกรณีที่ผู้ออกตราสารมีการออกตราสารใหม่ที่มีส่วนทุนเหมือนเดิมหรือมากกว่ามาทดแทนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีส่วนของทุนที่ระดับปานกลางหรือสูง ทริสเรทติ้งจะถือว่าตราสารที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ถูกทดแทนด้วยตราสารที่ออกใหม่และตราสารดังกล่าวที่ถูกทดแทนนั้นจะไม่ถือว่ามีส่วนทุนอีกต่อไป ซึ่งกรณีนี้จะไม่มีผลกระทบต่อส่วนทุนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่
อย่างไรก็ดี หากตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ออกใหม่นั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาทดแทนตราสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งก็จะยังคงนับส่วนของทุนให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีอยู่และที่ออกใหม่ แต่ในกรณีที่มีการไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนดังกล่าวในอนาคต ทริสเรทติ้งจะมีความคาดหวังว่าผู้ออกตราสารจะต้องออกตราสารใหม่มาทดแทนโดยตราสารใหม่นั้นต้องมีส่วนของทุนมากกว่าหรือเท่ากับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ได้รับการไถ่ถอนด้วย
- ในกรณีที่ผู้ออกตราสารมีการไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนโดยไม่มีการออกตราสารใหม่ที่มีส่วนของทุนเท่าเดิมหรือมากกว่ามาทดแทน ทริสเรทติ้งอาจจะถือว่าผู้ออกตราสารไม่มีเจตนาที่จะคงตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเงินทุนในระยะยาว ดังนั้น
ทริสเรทติ้ง อาจยกเลิกการนับส่วนทุนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ยังคงเหลืออยู่หรือที่จะออกใหม่ในอนาคตของผู้ออกตราสาร อย่างไร
ก็ดี ในบางกรณีแม้ว่าผู้ออกตราสารจะมีการไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนโดยไม่มีการออกตราสารใหม่มาทดแทน ทริสเรทติ้งยังอาจนับส่วนทุนให้แก่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ยังคงเหลืออยู่หรือที่จะออกใหม่ในอนาคตของผู้ออกตราสารหากการไถ่ถอนตราสารนั้นเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้- มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีที่ทำให้ไม่สามารถนับตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนดังกล่าวให้เป็นส่วนของทุน
- มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทางภาษีที่ทำให้การจ่ายคูปองของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี
- มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่ทำให้การนับส่วนทุนของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันลดลง
- ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผู้ออกตราสารจะออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่มีส่วนของทุนเท่ากับหรือมากกว่ามาทดแทนตราสารที่ได้รับการไถ่ถอนก่อนหรือในวันเดียวกับที่มีการไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนชุดเดิม
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: www.trisrating.com/th/rating-information/rating-criteria |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โทร. 02-098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500, www.trisrating.com
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ