- Details
- Category: บลจ.
- Published: Monday, 20 July 2020 18:40
- Hits: 4261
บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดตัวกอง SCBWIP กระจายการลงทุนในสินทรัพย์แปลกใหม่
ชูจุดเด่นเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวกองทุนใหม่ที่กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุน Private Assets ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ World Integrated Portfolio (SCB World Integrated Portfolio : SCBWIP) มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ระดับปานกลาง และต้องการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ที่มีความแปลกใหม่จากเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนและสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด โดยจะเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2563 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 50,000 บาท
สำหรับกองทุนนี้เป็นกองทุนผสมมีนโยบายกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยเบื้องต้นได้กระจายการลงทุนแบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ตราสารหนี้ในประเทศ ประมาณ 15-35% ลงทุนในกองทุนจดทะเบียนในประเทศไทยที่ลงทุนในตราสารหนี้ในและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศรวมแล้วไม่เกิน 20% ส่วนที่ 2 ตราสารหนี้ต่างประเทศ ประมาณ 50-70% ลงทุนใน กองทุน ETF หุ้นกู้เอกชนสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และกองทุนหุ้นกู้เอกชนทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับ Investment Grade ขึ้นไป และลงทุนในกองทุนตราสารหนี้กลยุทธ์ Long-Short ที่กระจายการลงทุนในตราสารหลากหลายประเภท จากหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยไม่ยึดติดกับสัดส่วนของดัชนีอ้างอิงเพื่อสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด ส่วนที่ 3 ประมาณ 15-35% ลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น SCBPIN และส่วนที่ 4 ไม่เกิน 15% ลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ Private Assets ทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการเข้าถึงตราสารคุณภาพดีที่อยู่นอกตลาด รวมถึงเป็นการกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ต่ำกับตลาดการลงทุนโดยรวม โดยกองทุนจะพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนได้ตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนและตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ โดยมี net exposure ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีลักษณะดังกล่าวเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน
“จุดเด่นของกองทุน SCBWIP คือ กองทุนมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้แบบ Unconstrained เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างไม่มีข้อจำกัด พร้อมทั้งมีการคัดกรองหลักทรัพย์คุณภาพดีภายใต้การบริหารความเสี่ยง ควบคุมความผันผวนของพอร์ตให้อยู่ในกรอบที่กำหนด และด้วยกลยุทธ์การลงทุน Long-Short จะเป็นตัวช่วยอย่างดีในการกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด อีกทั้งกองทุนมีการลงทุนใน Private Assets ซึ่งจากข้อมูลตามประวัติศาสตร์ตลาดนี้มีความสัมพันธ์กับตลาดการลงทุนต่ำมักจะฟื้นตัวเร็วกว่าตลาดหุ้นโลก จึงทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพในทุกสภาวะตลาดได้เป็นอย่างดี” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมในตราสารหนี้มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และปรับลดประมาณการณ์ GDP ไทยจาก -5.3% เป็น -8.1% พร้อมทั้งได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายรวม 75bps เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะกลางปรับตัวลดลง ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลในสภาพคล่องที่จำกัดและปริมาณพันธบัตรออกใหม่เพื่อสนับสนุนการกู้เงินของรัฐบาล ในส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชน spread ก็ได้เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆ ของภาครัฐและ ธปท. ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลงได้ รวมถึงการออกมาตรการทางการเงินและการคลังขนาดใหญ่และในรูปแบบที่ไม่ปกติ (unconventional measures) ของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจชดเชยรายได้ที่หายไปรวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
ในส่วนของตลาด Private Assets มองว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ตลาด MSCI World Index ปรับตัวลง -47% ในปี 2000-2003 และ -49% ในปี 2007-2009 ระหว่างที่ตลาด Private Equity ปรับตัวลงเพียง -35% และ -27% (ที่มา: SCBAM, Hamilton Lane ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 2563) นอกจากนี้ ตลาด MSCI World ยังใช้เวลาฟื้นตัวกลับมาที่จุดสูงสุดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจได้ช้ากว่ามาก โดยใช้เวลามากกว่า 6 ปีของทั้ง 2 เหตุการณ์ ระหว่างที่ตลาด Private Equity ใช้เวลา 5 ปีในรอบแรก และ 3 ปีในรอบถัดมา รวมถึงทิศทางที่หลายๆ ภูมิภาคเริ่มเปิดประเทศหลังจากการควบคุมการระบาด COVID-19 เริ่มเห็นผลจากยอดผู้ติดเชื่อใหม่ที่ลดลง ทำให้ตลาด Private Assets เริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นจากเมื่อไตรมาส 1 ที่จำนวน transaction ลดลง ถึงแม้ว่าการระบาด COVID-19 ที่ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้จะมีผลกระทบด้านลบในวงกว้าง แต่นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจจากทางรัฐบาลและการบริหารพอร์ตที่ถือครองสินทรัพย์ที่มีการกระจายความเสี่ยงและสินทรัพย์ที่มี leverage อย่างจำกัด รวมถึงการถือเงินสดในอัตราส่วนที่สูงกว่าช่วงเวลาปกติ จะทำให้สามารถลดผลกระทบด้านลบให้เพลาลงกว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในรอบก่อนๆ ได้
ทั้งนี้ กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย
AO7498
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web