- Details
- Category: บลจ.
- Published: Tuesday, 20 May 2014 18:03
- Hits: 3409
ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มองการเมืองไทยยังเป็นปัจจัยกดดันตลาด กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ มองโอกาสลงทุนเมื่อตลาดปรับฐาน แนะทยอยลงทุน พอร์ตไทย แนะกองทุนไอ-บาลานซ์ จุดเด่นปรับพอร์ต Rebalancing พอร์ตเทศ มองตลาดหุ้นกลุ่ม Developed Market ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในปีนี้
ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มองการเมืองไทยยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาด ภายหลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึก โดย ผบ.ทบ. เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค.57 และการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/57 ที่ออกมาติดลบ 0.6 YoY ส่งผลให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและตลาดประเทศ อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนจากการปรับลดพอร์ตลงทุน แนะมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศกลุ่ม Developed Market สำหรับตลาดหุ้นไทยแนะกองทุนผสม (หุ้น+ตราสารหนี้) เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ให้ความเห็นต่อตลาดการลงทุน ภายหลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึก โดย ผบ.ทบ. ในช่วงเวลา 3.00 น. ของวันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นกฎหมายที่รุนแรงน้อยกว่าการปฏิวัติ แต่คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาพรวมการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติบางรายที่มีข้อจำกัดการลงทุนเมื่อมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้ รวมทั้งการประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/2557 โดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ติดลบ 0.6% YoY จากการชะลอตัวในไตรมาสแรก ทั้งการหดตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัว การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ โดย สศช.ได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปี 2557 ลดเหลือ 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ที 3.0-4.0% เนื่องจากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกและข้อจำกัดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้เกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
“เรายังคงแนะนำการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ เนื่องจากการที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวและปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Developed Market ที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มของการฟื้นตัวชัดเจน เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่า FED ทำการลดการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินต่อเนื่อง ส่วนภูมิภาคยุโรปที่พ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ North Asia ที่จะได้รับอานิสงค์จากการรที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และภูมิภาคยุโรปปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน”
ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ยังคงแนะนำการลงทุนเน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับธีมการลงทุนในปี 2014 คือ เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนา (Developed Market) ทั้งสหรัฐฯ ภูมิภาคยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ โดยแนะนำการลงทุนใน 'กองทุนเปิดซีแพม โกลบอล สมอล แค็พ อิควิตี้' ซึ่งเป็นกองทุนที่กระจายการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กทั่วโลก ผ่านกองทุนหลัก Principal Global Investors Funds - Global Small Cap Equity Fund เราเชื่อมั่นว่าการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กซึ่งมีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูงทั่วโลกจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชียเหนือ โดยในปี 2556 กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนสูงถึง 36.27% สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบ MSCI All Country World Small Cap ที่สร้างผลตอบแทน 28.66% (ณ 28 กุมภาพันธ์ 2014) ทั้งนี้ เราคาดการณ์ผลตอบแทนในปีนี้ประมาณ 18% ต่อปี จุดเด่นของกองทุนคือ การกระจายการลงทุนในหุ้นทั่วโลก เพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากหุ้นที่มีศักยภาพ และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้กับนักลงทุนในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน
นายจุมพล สายมาลา กล่าวเพิ่มเติมว่า“สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น เรายังมองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หากปัจจัยทางด้านการเมืองมีแนวโน้มคลี่คลายหรือมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น เราแนะนำการลงทุนในกองทุนผสม คือ 'กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม'โดยนับตั้งแต่ต้นปี-16 พฤษภาคม 57 กองทุนสร้าง ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.67% ในขณะที่ผลตอบแทน 3 เดือนอยู่ที่ 6.13% และ 6 เดือนอยู่ที่ 0.01% รวมทั้งกองทุนนี้ได้มีการทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติไปแล้ว 2 ครั้ง (ธ.ค.56 และ มี.ค.57) รวมจำนวน 0.39 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 3.9% เมื่อคิดจากราคาพาร์ 10 บาท โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้จะต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของตลาด มาจากการบริหารการลงทุนแบบ Active Management รวมถึงจุดเด่นเฉพาะของการบริหารของกองทุนนี้คือ การ Rebalancing พอร์ตการลงทุน เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างสองสินทรัพย์หลักคือหุ้นและตราสารหนี้อย่างสมดุลในกองทุนเดียวกัน และกลยุทธ์ Stock Selection ที่จะเน้นการคัดเลือกหุ้น โดยผู้จัดการกองทุนจะให้น้ำหนักกการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการดี มีแนวโน้มการเติบโตในอัตราสูง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญของกองทุนนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า “เราเชื่อว่า กองทุนเปิดซีแพม โกลบอล สมอล แคป อิควิตี้ และกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม เป็นสองกองทุนที่เราคัดเลือกมาเพื่อแนะนำแก่นักลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการลงทุนในปัจจุบัน เพราะทั้งสองกองทุนมีลักษณะการบริหารพอร์ตที่สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์การลงทุนในแต่ละช่วงเวลา ควบคู่ไปพร้อมกับการพิจารณากรอบการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม เราเชื่อว่าทั้งสองกองทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีในปี 2557 นี้”
เกณฑ์มาตรฐาน คือ ผลตอบแทนเฉลี่ยจาก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET INDEX, ดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลอายุคงเหลือไม่เกิน 10 ปี,ดัชนีตราสารหนี้หุ้นกู้เอกชน และ พันธบัตรที่มีอายุคงที่ 3 เดือน กำหนดน้ำหนัก 50:15:15:20
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล 0 2686 9595
www.cimb-principal.com หรือ CIMB Thai Care Center 0 2626 7777 กด 0 www.cimbthai.com
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เปิดเผยไว้ในเวปไซต์ของบริษัท หรือสามารถขอข้อมูลได้จากฝ่ายการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน