- Details
- Category: บลจ.
- Published: Thursday, 01 August 2019 18:39
- Hits: 4058
KTAM แนะ KT-ASEAN ทางเลือกลงทุนระยะยาว
เร่งระดมสร้างโครงสร้างพื้นฐานหนุนเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับการลงทุนในระยะยาว โดยบริษัทมีกองทุนเปิดเคแทม อาเซียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-ASEAN) ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JP Morgan Funds – ASEAN Equity Fund (กองทุนรวมหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนรวมหลักจะเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัท ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในสมาชิกกลุ่มอาเซียน หรือมีผลการดำเนินงานของบริษัทมาจากประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียน และกองทุนรวมหลักอาจลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีธุรกรรมกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดหุ้นอาเซียนมีความน่าสนใจในระยะยาว เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่า GDP ของอาเซียนน่าจะเติบโตจนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2050 รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐฯ โดย สถาบันแมคคินซีย์ โกลบอล อินซทิทยูท (McKinsey Global Institute) คาดการณ์ว่า ภูมิภาคอาเซียนควรมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2016-2030 ในการสร้างถนน ระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โรงไฟฟ้า ระบบประปา และโครงข่ายการสื่อสาร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลของหลายประเทศในอาเซียน กำลังขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ดังที่กล่าวมา
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีอัตราการเติบโตสูง อาเซียนต้อนรับนักท่องเที่ยว 129.2 ล้านคนในปี 2018 เพิ่มขึ้น 7.6% จากปี 2017 โดยสำนักสถิติโกลบอล ดาต้า (GlobalData) คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าอาเซียนน่าจะเติบโตต่อไปด้วยอัตราเฉลี่ย 4.72% ต่อปี จนแตะ 155.4 ล้านคนในปี 2022
ภาคธนาคารของอาเซียนก็กำลังฟื้นตัว หลังจากตั้งสำรองหนี้เสียไปมากแล้ว ขณะที่ NPL มีแนวโน้มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ อนึ่ง โครงสร้างประชากรในภาพรวมของอาเซียนก็เป็นปัจจัยหนุนการเติบโต โดยจำนวนคนอายุไม่ถึง 35 ปีมีอยู่มากกว่า 380 ล้านคนหรือคิดเป็น 58% ของประชากรในอาเซียน ซึ่งมากกว่าจำนวนชาวสหรัฐฯอเมริกาทั้งประเทศ นอกจากนี้ อาเซียนยังมีกำลังแรงงาน (labor force) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก จีน และ อินเดีย ขณะที่คาดว่า จำนวนคนชั้นกลางในอาเซียน จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 135 ล้านคน (24%) ในปี 2015 ไปเป็น 334 ล้านคน (51%) ในปี 2030 อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการบริโภคให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ในการย้ายฐานการผลิต นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน โดยปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในรอบนี้ เช่น ทำเลที่ตั้ง ห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายขนส่งที่แข็งแกร่ง กำลังแรงงานขนาดใหญ่ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจทั้งสองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง
ส่วนปัจจัยสนับสนุนตลาดในระยะสั้น เจพี มอร์แกน เผยสถิติในอดีตที่ผ่านมาชี้ว่า ตลาดหุ้นอาเซียน มักสร้างผลตอบแทนโดดเด่น ในช่วง 3-6 เดือนหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงกลางของวัฏจักรเศรษฐกิจ
โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ผลตอบแทนของ YTD (2 ม.ค.-23 ก.ค.) อยู่ที่ 11.02% ย้อนหลัง 6 เดือน อยู่ที่ 6.54% ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 5.93% และย้อนหลัง3 ปี อยู่ที่ 6.08% ซึ่งสูงกว่า Benchmark (MSCI South East Asia Index) YTD อยู่ที่ 6.33% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 3.44% ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 1.41% และย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 2.79%
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานอนาคต / การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
AO08018
Click Donate Support Web