- Details
- Category: บลจ.
- Published: Wednesday, 24 July 2019 01:02
- Hits: 4904
กองทุน DIF เคาะอัตราส่วนจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อ
ในอัตรา 9.40 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XB วันที่ 2 ส.ค.นี้
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (‘กองทุนฯ’ หรือ ‘DIF’) เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท หนุนขนาดสินทรัพย์กองทุนฯ ใหญ่ขึ้น พร้อมประกาศอัตราส่วนจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อ ในอัตรา 9.40 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XB ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ และวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (Record Date) ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่สามารถจองซื้อเกินกว่าสิทธิ โดยส่วนเกินสิทธิจะได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหน่วย หากมีหน่วยลงทุนที่เหลือจากการจองซื้อตามสิทธิ
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เปิดเผยว่า กองทุน DIF เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนฯ รวมไม่เกิน 10,500 ล้านบาท หลังได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ทรัพย์สินใหม่ที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู ประกอบด้วย
1. กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 788 เสา ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
2. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (หรือประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร) และ
3. กรรมสิทธิ์ใน FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (หรือประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 3,414 กิโลเมตร (หรือประมาณ 147,209 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ
โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้สำหรับการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะมาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนกองทุน DIF โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน
ขณะที่ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน DIF ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) สามารถจ่ายเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยอย่างสม่ำเสมอ รวมต่อปีในอัตรา 0.956, 0.975 และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ โดยภายหลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่ลงทุนเพิ่มเติมได้ทันที
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ในการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ครั้งนี้กองทุน DIF กำหนดอัตราส่วนใช้สิทธิ์จองซื้อแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ์จองซื้อในอัตราส่วน 9.40 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่
โดยกองทุน DIF เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XB ในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ซึ่งผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ จะต้องซื้อหน่วยลงทุนเดิมก่อนวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XB ดังกล่าว และจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (Record Date) ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562
นางสาววีณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้ประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) ไม่ต่ำไปกว่าประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรของกองทุน ในกรณีที่กองทุนฯ ไม่ได้เข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 4 โดยประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนภายหลังการเข้าลงทุนดังกล่าว สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 ซึ่งจัดเตรียมโดยบริษัทจัดการ และตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตอยู่ที่ 1.044 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ภายหลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้กองทุน DIF มีโครงข่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น มีขนาดทรัพย์สินและมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความได้เปรียบทางกลยุทธ์และความสามารถของทรัพย์สินที่รองรับเทคโนโลยีในอนาคต ช่วยเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขายหน่วยลงทุนและความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมจะตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว จากทรัพย์สินของกองทุนที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย กระแสรายได้ที่มั่นคงจากสัญญาเช่าระยะยาว รวมถึงฐานะทางการเงินของกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังเข้าลงทุน โดยทรัพย์สินที่เข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และให้บริการวงจรและโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
AO07243
Click Donate Support Web