- Details
- Category: บลจ.
- Published: Thursday, 10 May 2018 12:00
- Hits: 1713
คลังเผย พ.ร.บ.กบข.ฉบับใหม่ ขยายเพดานเงินสมทบเป็น 30% เปิดทางกองทุนตั้งบลจ.หาผลตอบแทน
ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แก้ไขให้ปรับเพดานการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนจากร้อยละ 15 ของเงินเดือนเพิ่มเป็นร้อยละ 30 เพื่อให้สมาชิกสมทบเงินเอาไว้ใช้ในระยะยาวเพิ่มขึ้น และเปิดทางให้ตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อหาผลประโยชน์ตอบแทนให้กับกองทุน กบข.
นายพรชัย หาญยืนยงสกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ยกร่างแก้ไขในหลายประเด็น คือ (1) การให้ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นๆ สามารถโอนเงินจากกองทุนดังกล่าว
ให้ กบข. บริหารต่อได้ (2) เปิดทางให้ กบข. สามารถจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำกัดได้ (3) ปรับเพดานการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนจากร้อยละ 15 ของเงินเดือนเพิ่มเป็นร้อยละ 30 เพื่อให้สมาชิกสมทบเงินเอาไว้ใช้ในระยะยาวเพิ่มขึ้น (4) ให้ข้าราชการบางประเภทที่กฎหมายบัญญัติให้เกษียณอายุราชการ ภายหลังจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เช่น ข้าราชการตุลาการ หรือข้าราชการอัยการ เป็นเหตุให้ข้าราชการบางประเภทได้รับเงินจาก กบข. ล่าช้ากว่าหน่วยงานอื่น สามารถขอรับเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวได้ (5) ให้สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพแล้ว แต่เลือกที่จะยังไม่ขอรับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวคืน หรือเลือกทยอยรับเงินคืน
โดยให้ กบข. บริหารเงินดังกล่าวต่อไปได้ สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนสำหรับเงินดังกล่าว และ (6) ปรับปรุงแก้ไขการบริหารเงินของ กบข. บางประเด็น คือ (1) ขยายขอบเขตการนำเงินสำรองและเงินกองกลางของกองทุนฯ ไปลงทุนได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น (2) ให้สมาชิกเลือกแผนการลงทุนสำหรับ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว และ (3) กำหนดให้ในกรณีที่สมาชิกไม่ได้เลือกแผนการลงทุนใด ให้ถือว่าสมาชิกยินยอมให้กองทุนจัดแผนการลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารงานของกองทุน กบข.
รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในครั้งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มสิทธิให้แก่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเงินของตนเองที่อยู่ในความดูแลของ กบข. ให้มากขึ้น พร้อมทั้งการปรับปรุงแก้ไขอำนาจในการบริหารของ กบข. ให้ทันสมัย มีความคล่องตัว เพิ่มโอกาสในการลงทุน และสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว