ผลสำรวจแมนูไลฟ์เผย ความเชื่อมั่นนักลงทุนจีนร่วง แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าจีนจะนำการเติบโต
- ความเชื่อมั่นนักลงทุนในจีนร่วงต่ำสุด ตกแรงสุดในกลุ่มตราสารทุนและอสังหาริมทรัพย์
- นักลงทุนเห็นต่างเศรษฐกิจญี่ปุ่น มองเอเชียอาคเนย์แง่บวก มองจีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวันแง่ลบ
- ความเชื่อมั่นสูงขึ้นในสิงคโปร์และอินโดนีเซียช่วยรั้งดัชนีเอเชียโดยรวมให้คงที่
- ทิศทางหุ้นไทยยังคงเป็นบวก
ฮ่องกง – ผลวิจัยใหม่จากแมนูไลฟ์เผยว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนในจีนร่วงลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี 2556ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ตกต่ำ
ดัชนี ความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์* สำหรับตลาดจีนตกลง 12 จุดระหว่างไตรมาสจาก 23 จุดมาอยู่ที่ 11 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดสำหรับจีนแผ่นดินใหญ่นับแต่เริ่มจัดทำดัชนีเมื่อต้นปี 2556 แต่ตัวเลขที่ร่วงลงแรงในจีนถูกทดแทนโดยความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ดัชนีภูมิภาคเอเชียโดยรวมอยู่ที่ 24 จุด เหนือดัชนีสหรัฐ 1 จุด โดยดัชนีสหรัฐไม่ขยับจากไตรมาสที่แล้ว [1]
ความเชื่อมั่นนักลงทุนในจีนตกทุกด้าน ความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ทั้ง 6 ประเภทที่ใช้คำนวณดัชนีตกต่ำอย่างมาก โดยลดลงมากที่สุดในกลุ่มหุ้น (ตกลง 19 จุดมาอยู่ที่ –40 จุด) และกองทุนรวม (ตกลง 22 จุดมาอยู่ที่ 15 จุด) ความเชื่อมั่นในอสังหาริมทรัพย์ยังลดลงต่อไป (ตกลง 5 จุดมาอยู่ที่ –8 จุด) ส่วนความเชื่อมั่นในบ้านพักอาศัยนักลงทุนเอง แม้ยังอยู่ในแดนบวกเล็กน้อย แต่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเช่นกัน มาอยู่ที่ 8 จุด (ตกลง6 จุด)
ตัวเลขข้างต้นนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับความเชื่อมั่นนักลงทุนในเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐ ซึ่งตัวเลขความเชื่อมั่นสูงขึ้นมากในกลุ่มกองทุนรวม (49 จุด) หุ้น (46 จุด) และอสังหาริมทรัพย์ (บ้านตนเอง 58จุด และอสังหาริมทรัพย์ลงทุน 49 จุด) แต่เนื่องจากความเชื่อมั่นต่ำมากในกลุ่มเงินสด (-52 จุด) และตราสารหนี้ (-15 จุด) จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอเมริกัน (23 จุด) ใกล้เคียงกับดัชนีเอเชีย
“การสำรวจครั้งนี้ทำขึ้นภายหลังจากเกิดภาวะใกล้ผิดนัดชำระหนี้หลายครั้งในจีน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่อาจเกิดวิกฤตสินเชื่อในภาคธนาคาร (“shadow banking”) เราเชื่อว่า ปัจจัยนี้ ประกอบกับการลดค่าลงของสกุลเงินหยวนในช่วง 5 เดือนแรกของปี การชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง รวมทั้งตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่อ่อนแอมา 5 เดือน[2] ยังส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดลงในกลุ่มนักลงทุนในจีน” นายเอนเดร พีเดอร์เซน กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายตราสารหนี้ Manulife Asset Management กล่าว
ความเชื่อมั่นนักลงทุนในภูมิภาคเกี่ยวกับแนวโน้มเติบโตจีนยังสูงมาก
ขณะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนจีนในตลาดจีนเองลดลง แต่ความกังวลดังกล่าวกลับไม่ปรากฏในกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดอื่น ในกลุ่มนักลงทุนบุคคลธรรมดาตลาดจีนเป็นตลาดที่โดดเด่นที่สุดสำหรับนักลงทุน โดยนักลงทุนทั้งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซียต่างให้คะแนนจีนสูงในแง่การเป็นตลาดที่น่าลงทุน โดยใน 4 ประเทศหลังนั้นต่างให้คะแนนตลาดจีนสูงกว่าตลาดสหรัฐ จะมีเพียงแต่นักลงทุนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ให้คะแนนจีนในฐานะสถานที่น่าลงทุนติดลบ
นักลงทุนเกือบ2 ใน 3 ในเอเชีย (คิดเป็นร้อยละ 37) คาดว่าจีนจะก้าวเป็นหนึ่งในสองเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งสูงกว่าตลาดในลำดับถัดมาที่นักลงทุนเลือกอย่างมาก โดยญี่ปุ่นมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 16 ตามด้วยสิงคโปร์ และอินเดีย (ร้อยละ 15) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 9) ทั้งนี้ แม้ในตลาดจีนเอง ทั้งที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง แต่นักลงทุนจีนกลับเป็นกลุ่มนักลงทุนซึ่งมองในแง่บวกที่สุดเกี่ยวกับโอกาสเติบโตของจีนในช่วงสองปีต่อจากนี้
“ขณะที่ตัวเลข GDP จีนยังต่ำกว่าเป้าทั้งปีของรัฐบาลที่ร้อยละ 7.5 เล็กน้อย เราเห็นตรงกับความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วไปว่า จีนจะยังคงเป็นเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดเศรษฐกิจหนึ่งในภูมิภาคไปอีกหลายปี” นายพีเดอร์เซนกล่าว “การเติบโต GDP ที่สูงเกินคาดในไตรมาส 2 ปี 2557เนื่องจากมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ตั้งเป้าหมายไว้ ยังคงส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาปัจจัยรอบด้านแล้ว เราคาดว่าการเติบโต GDP จีนทั้งปีจะใกล้เคียงกับเป้าทางการของรัฐบาลที่ร้อยละ 7.5”
“โดยที่จีนหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้เป็นรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ น่าจะส่งผลทางลบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พึงสังเกตว่าผลกระทบนั้นในบริบทตลาดจีนแล้ว น่าจะยังหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดต่อไปเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกัน การที่จีนมาในทิศทางนี้คาดว่าตลาดภูมิภาคโดยรวมอาจได้รับอานิสงส์ เนื่องจากอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มต่ำแต่ใช้เงินทุนสูงจะไหลสู่ตลาดเพื่อนบ้านซึ่งได้เปรียบเรื่องการประหยัดต้นทุน”
ความเชื่อมั่นนักลงทุนเกี่ยวกับตลาดญี่ปุ่นไม่ตรงกัน
เมื่อเทียบกับทัศนะเกี่ยวกับตลาดจีนที่โดยทั่วไปจะเป็นเชิงบวกแล้ว นักลงทุนทั่วเอเชียกลับเห็นต่างกันเกี่ยวกับตลาดญี่ปุ่น โดยนักลงทุนในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียให้คะแนนญี่ปุ่นเทียบเท่าหรือสูงกว่าในแง่สถานที่น่าลงทุน ในขณะที่นักลงทุนในจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันให้คะแนนโอกาสลงทุนในญี่ปุ่นติดลบ นอกจากนี้ ทัศนะนักลงทุนเกี่ยวกับโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่นักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอาคเนย์สามตลาดระบุคาดว่าญี่ปุ่นจะเป็นเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดอันดับ 2 เป็นอย่างน้อยในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ แต่นักลงทุนในจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันกลับมองแง่ดีน้อยกว่ามาก โดยให้คะแนนอินเดีย เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์สูงกว่าญี่ปุ่น
“ท่าทีระมัดระวังในส่วนตลาดญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ นักลงทุนบางรายอาจตีความสภาพตลาดหุ้นที่ค่อนข้างเฟื่องฟูในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานี้ว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ” นายพีเดอร์เซนอธิบาย “แม้เราจะยอมรับว่า โอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะดีขึ้นนับแต่เปิดตัวชุดนโยบายอาเบะโนมิกส์ ซึ่งได้แก่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี แต่จากข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้กลับสร้างข้อสงสัยเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลจากชุดนโยบายดังกล่าว เราจึงเชื่อว่ายังเร็วไปที่จะคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้”ความเชื่อมั่นสูงขึ้นในสิงคโปร์และอินโดนีเซียช่วยรั้งดัชนีเอเชียโดยรวมให้คงที่
ความเชื่อมั่นทั้งภูมิภาคโดยรวมคงที่ โดยมีปัจจัยหลักจากการถีบตัวสูงขึ้นอย่างมากในส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในอินโดนีเซีย ความเชื่อมั่นพุ่งขึ้น 9 จุดมาอยู่ที่ระดับสูงสุดอันดับสองของตลาดดังกล่าวนับแต่เริ่มจัดทำชุดโครงการสำรวจ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในตราสารหนี้ (เพิ่มขึ้น 19 จุดมาอยู่ที่ 56) และตราสารทุน (เพิ่มขึ้น 13 จุดมาอยู่ที่ 21) ซึ่งสูงขึ้นมาก และในสิงคโปร์ ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 5 จุดมาอยู่ที่ 15 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เริ่มโครงการสำรวจ โดยได้รับแรงผลักดันจากความเชื่อมั่นที่กลับมาในส่วนการลงทุนทั้งในบ้านหลังหลักของนักลงทุนเอง (เพิ่มขึ้น 10 จุดมาอยู่ที่ 23) และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ (เพิ่มขึ้น 3 จุดมาอยู่ที่ -8)
เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว
ในขณะเดียวกัน นางสาวจินตนา เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินทิศทางหุ้นไทยเป็นบวก “เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว พัฒนาการที่ดีขึ้นในส่วนของความเชื่อมั่นในผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะผลักดันการบริโภคและการลงทุนให้เพิ่มขึ้นจากรากฐานที่ต่ำ เราคาดว่าหลังจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามแผน และจะเป็นแรงสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมและกำไรของบริษัทในภาคธุรกิจในระยะยาว” นาวสาวจินตนา กล่าว
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ในเอเชีย กรุณาเยี่ยมชมwww.manulife-asia.com
*เกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชีย
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ (Manulife ISI) ในเอเชียเป็นข้อมูลสำรวจรายไตรมาสของ Manulife ซึ่งประเมินติดตามทัศนะนักลงทุน ทั้งแปดตลาดในภูมิภาคที่มีต่อสินทรัพย์ประเภทหลัก ๆ และประเด็นที่เกี่ยวข้อง
การวิจัยดำเนินการในฮ่องกง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยในแต่ละตลาดสัมภาษณ์ 500 รายผ่านระบบออนไลน์ ยกเว้นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ซึ่งวิจัยในลักษณะพบหน้า ผู้ตอบคำถามเป็นนักลงทุนชนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับร่ำรวย มีอายุ 25 ปีขึ้นไป เป็นผู้ตัดสินใจหลักในเรื่องการเงินในครอบครัว และปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ลงทุนอยู่
Manulife ISI เป็นชุดวิจัยที่มีประวัติยาวนานในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยใช้วัดความเชื่อมั่นนักลงทุนในแคนาดาตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมาและ เริ่มใช้ที่กิจการจอห์น แฮนคอก ในสหรัฐเมื่อปี 2554 ประเภทสินทรัพย์ที่ใช้คำนวณของ Manulife ISI ในเอเชีย ได้แก่ หุ้น/ตราสารทุน อสังหาริมทรัพย์ (บ้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ลงทุนประเภทอื่น ๆ) หน่วยลงทุนในกองทุนรวม ตราสารหนี้ และเงินสด
เกี่ยวกับ Manulife
Manulife เป็นกลุ่มบริษัทการเงินชั้นนำที่มีฐานอยู่ในแคนาดา โดยมีฐานประกอบการหลักในเอเชีย แคนาดา และสหรัฐ ลูกค้าได้รับ ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี เชื่อถือไว้วางใจได้ และมีวิสัยทัศน์จากแมนูไลฟ์เพื่อใช้ตัดสินใจทางการเงินในเรื่องสำคัญ ๆ เครือข่ายพนักงาน ตัวแทน และหุ้นส่วนจัดจำหน่ายระหว่างประเทศของเรานำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการรักษาความมั่นคงทางการเงินและบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้าหลายล้านราย นอกจากนี้ เรายังให้บริการบริหารจัดการสินทรัพย์แก่ลูกค้าสถาบันด้วย โดย Manulife และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ที่รับบริหารจัดการทั้งสิ้นอยู่ที่ 597,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ในตลาดแคนาดาและเอเชีย บริษัทประกอบกิจการโดยใช้ชื่อว่า Manulife ส่วนในสหรัฐใช้ชื่อว่า จอห์น แฮนคอก เป็นหลัก
Manulife Financial Corporation ใช้เครื่องหมาย “MFC” ในตลาดหลักทรัพย์แคนาดา ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ และเครื่องหมาย “945” ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง สามารถตรวจสอบข้อมูล Manulife ทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ manulife.com
เกี่ยวกับ Manulife Asset Management
Manulife Asset Management เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนระดับโลกในเครือของ Manulife Financial โดย Manulife Asset Management ให้บริการด้านการบริหารจัดการเงินลงทุนทุกรูปแบบแก่นักลงทุนสถาบันและกองทุนรวมในตลาดสำคัญทั่วโลก ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนครอบคลุมถึงสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนบริการจัดสรรสินทรัพย์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน2557 มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการที่ 300,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา (281,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ฝ่ายลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของ Manulife Asset Management มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท รวมทั้งตราสารทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ รวมทั้งกลยุทธ์จัดสรรสินทรัพย์ Manulife Asset Management มีสำนักงานที่มีความพร้อมด้านการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทุนธุรกิจจัดการลงทุนในประเทศจีนภายใต้ชื่อ Manulife TEDA นอกจากนี้ ฝ่ายตลาดหลักทรัพย์ของ Manulife Asset Management ยังให้บริการด้านจัดการลงทุนแก่ลูกค้ารายย่อยของบริษัทในเครือผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ Manulife และ John Hancock โดย John Hancock Asset Management และ Declaration Management and Researchเป็นหน่วยงานในสังกัด Manulife Asset Management
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Manulife Asset Management ตรวจสอบได้ที่ ManulifeAM.com
บุคคลติดต่อสำหรับสื่อมวลชน:
David Norris
(852) 2202 1749
[email protected]
Queenie Yuen
(852) 2510 5097
[email protected]
[1]ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนจอห์น แฮนค็อก เดือนมิถุนายน 2557
[2]ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index:PMI) ร่วงลงต่ำกว่า 50 จุดในเดือนมกราคม ถึงจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม ก่อนฟื้นตัวมาอยู่ที่ 50.7 จุดในเดือนมิถุนายน (ตัวเลขเกิน 50 หมายถึงขยายตัว) แหล่งข้อมูล: HSBC Emerging Markets PMI, 1 กรกฎาคม 2557