- Details
- Category: บลจ.
- Published: Saturday, 24 February 2018 07:25
- Hits: 11243
บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดแผนปี 61 มุ่งเป้าเป็นบลจ.ที่ 1 ในใจลูกค้า เน้นนวัตกรรมลงทุนรูปแบบใหม่ พร้อมพัฒนา Digital Platform รองรับทำธุรกรรมยุคดิจิทัล
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2561 ว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นบลจ.ที่ 1 ในใจลูกค้า หรือ The Most Admired Asset Management โดยการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและทันสมัยตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งกองทุนประเภทกลุ่ม Income ที่สร้างรายได้ระหว่างทาง รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างประเทศที่ครบวงจร โดยจะเป็นการนำเสนอกองทุนหุ้นต่างประเทศที่บริหารจัดการแบบ Active อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกเสริมจากกองทุนปัจจุบันที่บริหารจัดการแบบ Passive
บริษัทฯ ยังเน้นการรักษาระดับผลตอบแทนจากการลงทุนถึงลูกค้าให้อยู่ในระดับที่ดีและมุ่งเน้นที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามีกองทุนที่ประสบความสำเร็จหลายกองทุน อาทิ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) มีผลตอบแทนปี 2560 อยู่ที่ 23.20% และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE) ที่มีผลตอบแทนในปี 2560 อยู่ที่ 21.50% ส่วนกองทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC) มีผลตอบแทนในปี 2560 อยู่ที่ 18.27% กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลสตราทีจิก อินเวสเมนท์ (SCBGSIF) มีผลตอบแทนปี 2560 อยู่ที่ 4.69% (ที่มา : SCBAM ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560)
“นอกจากนี้ ยังมี กองทุนหุ้นไทยและต่างประเทศที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับการจัดอันดับ 5 ดาวจาก Morning Star ในปีที่ผ่านมา คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ (SCBSE) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) และ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE) รวมทั้งยังประสบความสำเร็จจากกองทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัล อาทิ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลดิจิตอล (SCBDIGI) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBO) ที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Machine Learning ที่ใช้ Machine เข้ามาบริหารกองทุนแทนคนเป็นกองแรกของประเทศ จึงมีกระแสการตอบรับจากนักลงทุนอย่างมาก” นายสมิทธ์กล่าว
สำหรับ นโยบายด้านการให้บริการในปี 2561 นี้ จะเน้นการพัฒนา Digital Platform และเทคโนโลยีรองรับการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่นิยมใช้เทคโนโลยีในการรับข้อมูลข่าวสารและการทำธุรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งไปสู่การที่จะเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก อาทิ มีการให้ข้อมูลข่าวสารผ่าน Social Media Platform ทั้ง SCBAM Website, Investment Guru ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีการให้เปิดบัญชีซื้อขายกองทุนครั้งแรกด้วย SCB EASY Application (online account) และการให้บริการ Investment Advisory ผ่านมือถือ
รวมทั้งการให้บริการ SCB Connect (Chatbot) และการเปิดตัว SCBAM Line@ เพื่อเป็นช่องทางรับข้อมูลข่าวสารการลงทุน สภาวะตลาด ข้อมูลกองทุน และการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน รวมถึงสาระการลงทุนที่น่าสนใจและน่าติดตาม ซึ่งจะทำให้เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องง่ายเข้าถึงผู้ลงทุนได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ลงทุนยุคดิจิทัล ตลอดจนการปรับปรุงระบบสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและมีความทันสมัยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2560 บลจ.ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560 รวม 1,374,936 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 19.8% เติบโตจากปี 2559 คิดเป็นอัตรา 5.2% ที่มี AUM รวม 1,307,408 ล้านบาท กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ สิ้นปี 2560 สูงถึง 364,376 ล้านบาท เติบโต 12.1% จากสิ้นปี 2559 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.3% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557
ส่วนธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 113,319 ล้านบาท และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 879,241 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) มูลค่ารวม 89,920 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) 55,463 ล้านบาท (ที่มา : สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560)
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ หรือ การลงทุนแบบ Thematic Investment ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนทั่วไป คือจะวิเคราะห์แนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น Theme การลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลก (Global Demographics)
ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในอีก 50 ปี ข้างหน้าซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต Theme การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ (Robotics) ที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำมาใช้ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และ Theme การลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือการเติบโตของการใช้งานเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในวิถีการใช้ชีวิตของคน
สำหรับ การลงทุนในปี 2561 บลจ.ไทยพาณิชย์มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และ ญี่ปุ่น จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากตลาดแรงงาน และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงการฟื้นตัวของการค้าโลกในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งเริ่มกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลาง เช่น สหรัฐฯ และจีน เริ่มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นตามลำดับ โดยจะเห็นได้จากการเริ่มปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และการส่งสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในปีนี้คือ การดำเนินนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลด QE และการเมืองในยุโรป และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการลงทุน รวมถึงอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินระหว่างประเทศได้ในระยะต่อไป
“เรามีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น สนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม แนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่วนตลาดหุ้นไทย ได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจและสภาพคล่อง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ภายนอกผ่านการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยในปี 2561 คาดว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) ยังอยู่ในระดับต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนมูลค่าพื้นฐานตลาดหุ้นไทย (Valuation) เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคยังไม่สูง ซึ่งคาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยหนุน SET Index ให้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ”นายณรงค์ศักดิ์กล่าว