- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Thursday, 15 August 2024 09:45
- Hits: 6625
BAM Q2/67 กำไร 456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 รับรู้รายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากการบริหารงาน NPLs มากขึ้น
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 ปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ในไตรมาส 2/2567 มีกำไร 456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีผลเรียกเก็บไตรมาส 2/2567 รวม 3,958 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลเรียกเก็บจากส่วนงานบริหารหนี้ NPLs จำนวน 1,973 ล้านบาท และงานบริหาร NPAs จำนวน 1,985 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากการบริหารงาน NPLs มากขึ้น แม้ว่าผลเรียกเก็บจะอ่อนตัวลง
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายจาก การดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากค่าใช้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืม แต่บริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างเคร่งครัด โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ลดลงร้อยละ 1.7
บริษัทฯ พบว่า การจัดเก็บหนี้ NPLs ยังไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากการชะลอตัวของลูกหนี้ที่ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้และการชำระคืนหนี้ยังไม่ต่อเนื่อง สำหรับ NPAs พบว่า ผู้ซื้อทรัพย์ยังมองเห็นโอกาสในการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์มือสอง และยังตอบสนองต่อกลยุทธ์ราคาพิเศษ โดยบริษัทฯ มีราคาขายต่อราคาประเมินทรัพย์เฉลี่ยลดลงที่ร้อยละ 84.6 (ไตรมาส 2/2566 : ร้อยละ 87.4 และปี 2566 : ร้อยละ 90.0)
สำหรับ ครึ่งปีแรก บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจ านวน 880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีผลเรียกเก็บรวม 7,493 ล้านบาท จากส่วนงานบริหารหนี้ NPLs จำนวน 4,142 ล้านบาท และงานบริหาร NPAs จำนวน 3,351 ล้านบาท โดยแม้ว่า ภาพรวมผลเรียกเก็บจะเติบโตจากปีก่อนไม่มากนัก แต่ความสามารถในการทำกำไรของงานบริหาร NPLs ยังเป็นผลดีต่อกำไรสุทธิของครึ่งปีแรก ในขณะที่งานบริหาร NPAs การใช้กลยุทธ์ราคาพิเศษเพื่อจูงใจผู้ซื้อทรัพย์ ยังส่งผลดีต่อยอดจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายในช่วงนี้
ในด้านการลงทุนซื้อ NPLs บริษัทฯ ลงทุนซื้อ NPLs ในครึ่งปีแรก ภาระหนี้รวม 20,365 ล้านบาท ราคาซื้อคิดเป็นร้อยละ 35.3 ของราคาประเมิน (ปี 2566 : ร้อยละ 43.0) ซึ่งสถาบันการเงินยังคงนำ NPLs ออกมาขายอย่างต่อเนื่อง แต่ AMCs บางส่วนชะลอการลงทุนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลต่อราคาซื้อขาย NPLs ในตลาดมีแนวโน้มลดลง และทำให้ธนาคารยกเลิกการขายหนี้บางส่วนเมื่อไม่ได้ราคาที่ต้องการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นนโยบาย Selective Investment เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน และสอดคล้องกับแนวโน้มการจัดเก็บหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวในช่วงนี้
สำหรับ การจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ อารีย์ จำกัด (บบส. อารีย์) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และธนาคารออมสิน มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50:50 และมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 25 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการเพิ่มทุนเป็น 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่า บบส. อารีย์ จะเริ่มรับซื้อรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันของธนาคารออมสินได้ในไตรมาส 3/2567
บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีแผนการบริหารงานสภาพคล่อง โดยในปี 2567 บริษัทฯ ได้ออกหุ้นกู้แล้ว 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 7,240 ล้านบาท ซึ่งได้รับการการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เท่ากับ 2.23 เท่า (ปี 2566: 2.15 เท่า)
ไตรมาส 2/2567 เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีแรงหนุนหลักจากภาคบริการ รวมถึงความต้องการสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตโลก ขณะที่การทยอยลดลงของอัตราเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางหลักหลายแห่งเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการกีดกันทางการค้า ด้านเศรษฐกิจไทย ได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกและภาคการผลิตยังขยายตัวต่ำจากการแข่งขันสูง ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังทรงตัว แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับสูงยังสร้างความกังวลต่อเนื่อง
แนวโน้มครึ่งหลังปี 2567 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะเติบโตใกล้เคียงปี 2023 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2567 และร้อยละ 3.3 ในปี 2568 ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อโลกจะทยอยปรับตัวลงส่งให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ ต้องจับตาการเลือกตั้งของหลายประเทศ
โดยเฉพาะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในส่วนของเศรษฐกิจไทย IMF คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ และร้อยละ 3.1 ในปี 2568 โดยภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการต่างๆ อาทิ การยกเว้นวีซ่า การส่งเสริม การท่องเที่ยวเมืองรอง ขณะที่การลงทุนภาครัฐและการส่งออกมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอจากภาวะหนี้ครัวเรือน และปัญหาสภาพคล่องของทั้งระบบครัวเรือนและ SMEs
More Articles