- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 22 June 2024 00:46
- Hits: 8532
GPSC - Doosan ร่วมศึกษาพัฒนา การใช้เชื้อเพลิงร่วมแอมโมเนียและเทคโนโลยี CCUS ลดการปลดปล่อยคาร์บอน ปูทางสู่เป้าหมาย Net Zero
GPSC จับมือ Doosan Enerbility ประเทศเกาหลี ลงนาม MOU เดินหน้าศึกษาพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงร่วมแอมโมเนีย เทคโนโลยี CCUS และโซลูชั่นพลังงานปลอดคาร์บอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ วางเป้าหมายร่วมศึกษา 3 ปี มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ สอดคล้องกลยุทธ์หลักในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต สู่แผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2603
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันที 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567 GPSC ได้ลงนามบันทึกความข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Mr. Jung-kwan Kim รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท Doosan Enerbility Co, Ltd. ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ดำเนินธุรกิจ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโซลูชั่นพลังงานปลอดคาร์บอนต่างๆ จากสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Sang-jun Lim ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOE) สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานภายในพิธีลงนามฯ เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงร่วม (Fuel Shifts & Hybridization) เทคโนโลยี CCUS (Carbon, Capture, Utilization & Storage) หรือการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งโซลูชั่นพลังงานปลอดคาร์บอน (Carbon Free Energy Solutions) อื่นๆ เพื่อการนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นและพันธกิจหลักของบริษัทฯ เพื่อมุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีแผนการศึกษาร่วมกันระหว่างปี พ.ศ. 2567-2569 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี
Mr. Jung-kwan Kim รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Doosan Enerbility กล่าวว่า การศึกษาร่วมกันในครั้งนี้ ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงของ Doosan Enerbility ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำแอมโมเนียมาเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้าซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร และเทคโนโลยี CCUS ที่มีความเหมาะสมในการติดตั้งและเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าของ GPSC ในการดักจับคาร์บอนให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของ GPSC
“นับเป็นโอกาสที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาเพื่อต่อยอดขยายการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดของ GPSC ตามแผนการเพิ่มสัดส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ GPSC ที่พร้อมแสวงหาโอกาส และขยายแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนในขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ นำไปสู่ศักยภาพการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดของ GPSC พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ต้องมีปรับให้เข้ากับบริบทของโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของ GPSC ในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ดังนั้นการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก Doosan Enerbility และการได้รับการสนับสนุนจาก MOE จะผลักดันให้ GPSC สามารถบรรลุเป้าหมายแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2603” นายศิริเมธ กล่าว
จากความร่วมมือดังกล่าว ทั้งสององค์กรจะร่วมศึกษาการนำแอมโมเนีย ไฮโดรเจน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า และเทคโนโลยี CCUS รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมติดตั้งระบบ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ต้องใช้การศึกษาเฉพาะทางเพื่อนำมาปรับใช้กายในโรงไฟฟ้าดั้งเดิมที่มีอยู่ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการพัฒนาโครงการพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยการนำโซลูชั่นที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการป้อนพลังงานให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องการพลังงานสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ GPSC ในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดและธุรกิจแห่งอนาคต หรือ S-Curve เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในนวัตกรรมพลังงานสะอาด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำมาสู่การพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในระดับประเทศต่อไป
6656