- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Friday, 26 April 2024 15:39
- Hits: 10370
ผถห.TPCH อนุมัติจ่ายปันผลปี 66 อัตรา 0.40 บ./หุ้น เตรียมรับทรัพย์ 20 พ.ค.67-มั่นใจผลงานปี 67 โตแกร่ง ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีก 4 โปรเจค
ผู้ถือหุ้น บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) โหวตอนุมัติจ่ายปันผลปี 66 เป็นเงินสด 0.40 บาท/หุ้น ขึ้น XD 30 เม.ย.67 กำหนดจ่าย 20 พ.ค.นี้ ฟากแม่ทัพหญิง ‘กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี’ มั่นใจแนวโน้มผลงานปี 67 โตแกร่ง จากการเร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีก 4 โครงการ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SPNK คาดเซ็น PPA ภายในปีนี้ พร้อมเดินหน้าขายคาร์บอนเครดิต เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สนับสนุนรายได้ปี 67 โต 10% ตามแผน
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันที่ 24 เมษายน 2567 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลงวดประจำปี 2566 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.40 บาท/หุ้น เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 160,480,000 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 30 เมษายน 2567 และกำหนดวันที่จ่ายปันผลวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
“ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถทำรายได้รวม 2,893.34 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 288.44 ล้านบาท และสามารถจ่ายปันผลเป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นได้ ตามนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ซึ่ง TPCH ต้องขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เรามุ่งมั่นที่จะบริหารงานให้เป็นไปตามแผนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่องและสร้างการเติบโตให้ TPCH ได้อย่างยั่งยืน” นางกนกทิพย์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2567 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดยในปีนี้ บริษัทฯ ประเมินว่า ยังสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์
ล่าสุด โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) ซึ่งดำเนินการภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถ SCOD ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มอีกประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ประกอบด้วย SP4-SP7 ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ และขณะนี้ จำนวนขยะชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่า จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับ TPCH
ขณะเดียวกัน การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ
สำหรับการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าการมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จดทะเบียนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ทุกโครงการสำหรับคาร์บอนเครดิต โดยคำนวณจำนวนคาร์บอนเครดิตได้รับต่อปีและได้ลงนามในสัญญาขายคาร์บอนเครดิต เพื่อหารายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัทฯ แล้ว สำหรับโครงการที่กำลังพัฒนานั้น มีการศึกษาการลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานต่างๆ มาตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการ เพื่อหาโอกาสและประโยชน์ของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด มูลค่าของรายได้คาร์บอนเครดิตไม่ได้ถูกนำมาคำนวณในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากแพลตฟอร์มและความผันผวนของราคา อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มั่นใจว่า คาร์บอนเครดิตจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้ในอนาคต
สำหรับโครงการต่างประเทศก็จะมีการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในรูปแบบมาตรฐานสากลเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่สนใจอยากร่วมลงทุนโครงการในอนาคต เป็นแบบอย่างโครงการที่ดีที่มีส่วนช่วยเหลือสังคม และอีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทไปพัฒนาโครงการต่อไป
“ในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตที่ระดับ 10% จากธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.4 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอีกหลายโครงการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569” นายเชิดศักดิ์กล่าวในที่สุด
4792