- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 09 December 2023 15:29
- Hits: 2667
IRPC เปิดแผนกลยุทธ์แตกไลน์ต่อยอดธุรกิจ ศึกษาตั้งโรงงาน Recycle Polypropylene (PP)
IRPC เปิดแผนกลยุทธ์แตกไลน์ต่อยอดธุรกิจหลักทั้งน้ำมัน ปิโตรเคมี ท่าเรือและอสังหาฯ ด้วยนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษที่มีโอกาสเติบโตสูง รุกขยายพอร์ตลงทุนใหม่พุ่งเป้าธุรกิจโรงพยาบาลและที่พัก เพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) สีและสารเคลือบ (Paint & Coating) เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด พร้อมมาตรการภายในเข้มแข็ง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2060 และเดินหน้าศึกษาธุรกิจ ตั้งโรงงาน Recycle Polypropylene (PP)
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) IRPC เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยทั้งในและต่างประเทศที่ท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บริษัทฯ ได้วางแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง
โดยเพิ่มประสิทธิภาพเสริมขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน ที่ยึดหลักสร้างความแข็งแกร่งต่อยอดจากธุรกิจหลักปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ท่าเรือและอสังหาริมทรัพย์ ขยายการลงทุนไปในกลุ่มธุรกิจใหม่ ด้วยมาตรการควบคุมภายในและสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง
“เศรษฐกิจไทยภาพรวมยังไม่ดี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2566 นี้โตต่ำกว่าคาดการณ์ คาดเพียง 2.8% และปี2567 มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่าปีนี้ คาดจะเติบโตเพียง 2.5% เนื่องจากไทยเป็นประเทศส่งออกหลักถึง 60% ของ(GDP) ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาจากสถานการณ์และปัจจัยทั้งในและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้านเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่”
ทั้งนี้ การสร้างความแข็งแกร่งต่อยอดจากธุรกิจหลัก (Core Uplift)ธุรกิจปิโตรเลียม (Domestic first)
1. ขยายระบบโลจิสติกส์ขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยขยายคลังน้ำมันแห่งใหม่ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยระบบขนส่งน้ำมันทางท่อความยาว 99 กิโลเมตร ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิง ทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด หรือ BFPL เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานภาคขนส่งในภาคกลางและภาคเหนือ ช่วยให้การดำเนินงาน และการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่ง
2. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project หรือ UCF) มีความพร้อมผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หรือน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายใน 1 มกราคม 2024 ตามนโยบายของภาครัฐ ช่วยสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับบริษัทฯ
โดยธุรกิจปิโตรเคมี (Specialty Boost) ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ 'POLIMAXX' ได้แก่
1. เม็ดพลาสติก พีพี เมลต์โบลน (PP Melt Blown) สำหรับผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่มีคุณภาพ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่างๆ
2. เม็ดพลาสติก พีพีอาร์ (PPR: PP random copolymer pipe) มีคุณสมบัติที่แข็งแรงทนต่อแรงขีดข่วนและแรงดัน ทนต่อสารเคมีได้มากกว่าท่อน้ำประปาทั่วไป มีความปลอดภัยสูง ผลิตจากเทคโนโลยีแบบไร้สารทาเลต (Non Phthalate) เหมาะสำหรับผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นในครัวเรือนและในโรงงานอุตสาหกรรม
3. เม็ดพลาสติก HDPE 100-RC สำหรับ ผลิตท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกได้ดีมาก มีอายุการใช้งานนานกว่า 100 ปี ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาก่อสร้าง
สำหรับ ธุรกิจท่าเรือและอสังหาริมทรัพย์ (Maximize Infrastructure & Asset Utilization) บริษัทฯ มีความพร้อมให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึกเพื่อขนถ่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รองรับการขนส่งของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือคอนเทนเนอร์และสินค้าทั่วไป (Bulk & Container Terminal) ท่าเรือปิโตรเคมีและปิโตรเลียมเหลว (Liquid & Chemical Terminal)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงโครงการตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ โครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จ.ระยอง โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHAIER) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และที่ดินพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
ส่วนแผนธุรกิจในการรุกขยายพอร์ตลงทุนใหม่ (Step up and beyond) บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ไปสู่การลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลและที่พักเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) ร่วมกับโรงพยาบาลบางปะกอกและโรงพยาบาลปิยะเวท ศึกษาการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลและที่พักเพื่อสุขภาพ ในพื้นที่ศักยภาพของบริษัทฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จ.ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง
ธุรกิจสีและสารเคลือบ (Paint & Coating) ร่วมกับ บริษัท เบเยอร์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบมาตรฐานโลกเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยส่วนผสม Polytetrafluoroethylene (PTFE) ที่มีคุณสมบัติพิเศษมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรง ช่วยยืดอายุการใช้งานโครงสร้างเหล็กถึงสามเท่า เพื่อใช้เคลือบโครงสร้างเหล็กในโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมีสนามบิน ท่าเรือและสะพาน เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยและอาหารเสริมพืช ‘ปุ๋ยหมีขาว’ ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘REINFOXX’ เพิ่มอีก 4 สูตร เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ต่อผลิตผลและสิ่งแวดล้อม โดยได้ขยายตลาดในประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า “บริษัทฯ ยังคงดำเนินนโยบายธุรกิจแบบระมัดระวัง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการลดต้นทุนพลังงานจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ จึงจำเป็นที่บริษัทฯ พร้อมทบทวนการลงทุนและสร้างโอกาสที่คุ้มค่า มุ่งเน้นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ขณะเดียวกันก็รักษาวินัยและสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างเพียงพอ
บริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดขยายกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ลอยน้ำหรือ Floating Solar เพิ่มขึ้นอีก 8.5 เมกะวัตต์ และบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ปี 2030 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2060 เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ ปี 2065
ส่วนการศึกษาทำธุรกิจ Recycle Polypropylene (PP) เพื่อจัดการขยะพลาสติกในกระบวนการผลิต IRPC Eco Solution Model นำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต (ระบบปิด) และสร้างแพลตฟอร์มขยะพลาสติกเพื่อรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ของขยะพลาสติกจากโรงงานคู่ค้าแต่ละราย แพลตฟอร์มนี้สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้การจัดการขยะพลาสติกมีประสิทธิภาพและส่งเสริมหลัก 3Rs ผู้บริโภคทุกคนสบายใจได้เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีเมอร์รีไซเคิลที่ได้รับการรับรองคุณภาพ เพื่อนำประเทศ สู่ Zero Plastic Waste Society
จากศึกษาพบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์จาก Polypropylene (PP)ใน 1 ปี มีประมาณ 1.4 ล้านตัน ถ้าเทคโนโลยีใหม่สามารถสกัดสารปนเปื้อนในการนำกลับใช้ใหม่ได้ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีการใช้ถุงพลาสดิก ประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานจัดเก็บขยะพลาสติก (PP) ไม่มีตลาดรองรับ ถ้า IRPC ก่อตั้งโรงงาน Recycle มารองรับขยะเหล่านี้ จะทำให้ขบวนการจัดการเป็นไปตามแผนการลดขยะได้อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ วันที่ 19 ธันวาคม 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร IRPC จะมีการสรุปแผน และเงินลงทุนปี 2567 และอนาคต เบื้องต้นจะวางแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน ต่อยอดจากธุรกิจหลักปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ท่าเรือและอสังหาริมทรัพย์ และขยายการลงทุนไปในกลุ่มธุรกิจใหม่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว