- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 11 June 2023 19:27
- Hits: 1264
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.เมืองไทย แคปปิตอล’ ที่ ‘BBB+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ระดับ’BBB+’ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’หรือ ‘คงที่’
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Title Loan) ฐานเงินทุนที่แข็งแรง รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและเพียงพอ ซึ่งรวมถึงสภาพคล่องที่มีมากพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มถดถอยลง ซึ่งอาจเป็นข้อจํากัดความสามารถในการทํากําไรของบริษัทใน 2-3 ปีข้างหน้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันอย่างต่อเนื่อง
ความชำนาญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันและการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทช่วยทำให้บริษัทยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอันดับต้นๆ ของธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันต่อไปได้ ทั้งนี้ บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 1.26 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566
ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และอัตราการเติบโตที่ 4% จากสิ้นปีก่อนหน้า โดยมีการเติบโตสอดคล้องกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
การเติบโตของสินเชื่อของบริษัทได้รับแรงสนับสนุนหลักมาจากเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 จำนวนสาขาของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6,962 แห่งจากเป้าหมายที่จะขยายให้ครบ 7,200 แห่งภายในสิ้นปี 2566
ในช่วงปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะดำเนินการเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 600 สาขาต่อปี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อใหม่จะชะลอลงสู่ระดับ 5%-10% จากเดิมที่มีอัตราการเติบโตที่ระดับ 20%-30% อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทอย่างระมัดระวังมากขึ้น
จากสมมติฐานดังกล่าวส่งผลให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ระดับ 17% ในปี 2566 และเติบโตในระดับเลขหลักเดียวในปี 2567-2568 แม้จะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลงแต่บริษัทยังคงมีแนวโน้มที่จะรักษาการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ที่สุดเนื่องจากยังมีความแตกต่างของขนาดสินทรัพย์และจํานวนสาขาของบริษัทและคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันค่อนข้างมาก
ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 สินเชื่อคงค้างของบริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อที่มีหลักประกันในสัดส่วน 75% สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันซึ่งรวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในสัดส่วน 18% และที่เหลืออีก 7% เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (Hire Purchase -- HP) และ Buy Now Pay Later (BNPL)
ในระยะยาวการเติบโตของสินเชื่อยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปสําหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทอีกด้วย
คุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลงแต่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งอยู่ในระดับที่มากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าเป็นผลมาจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วของบริษัทท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
รวมทั้งการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้คงที่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งสนับสนุนมุมมองของแนวโน้มอันดับเครดิตที่ ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’
อัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 (NPL) ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ณ สิ้นปี 2565 และ 3.2% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 นอกจากการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ในกลุ่มของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์)
และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่นั้น ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของสินเชื่อที่มีหลักประกันก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่ คาดว่า จะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 2.7% ในปี 2565 และ 3.5% ในไตรมาสแรกของปี 2566 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) จากระดับปกติที่ประมาณ 1% หรือต่ำกว่า
ในระยะยาวบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะรักษาอัตราส่วน NPL ให้ต่ำกว่า 3.5% ดังนั้น บริษัทจะต้องมีการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บหนี้และเร่งตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตให้เร็วขึ้น บริษัทจะต้องเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งยังคงมีอัตราการค้างชำระหนี้ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น
ทั้งนี้ ในการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่นั้นบริษัทมีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคงรักษานโยบายในการขยายสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันให้กับลูกค้าปัจจุบันที่มีประวัติการชําระเงินที่ดีเท่านั้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ของบริษัทที่ระดับ 2%-3% ในช่วงปี 2566-2568 ในขณะที่อัตราส่วน NPL Write-offs ต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยในระดับสูงขึ้นที่ระดับ 2%
เมื่อเทียบกับในอดีตที่ต่ำกว่าระดับ 1% นั้น NPL Ratio ของบริษัทจึงน่าจะอยู่ในระดับเป้าหมายที่วางไว้ที่ไม่เกิน 3.5% จากนโยบายในการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังของบริษัทนั้น บริษัทจึงน่าจะยังต้องเพิ่มอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยขึ้นมาเพื่อรักษาอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) ที่ระดับอย่างน้อย 100%
ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากประมาณการของทริสเรทติ้ง บริษัทจึงน่าจะยังต้องเพิ่มอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยขึ้นมาอยู่ในช่วง 2%-3% ในช่วงปี 2566-2568 ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 NPL Coverage Ratio ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105%
รักษาระดับความสามารถในการทำกำไร
ถึงแม้ว่า ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.9% ในปี 2565 แต่บริษัทยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate) เอาไว้ได้
ทริสเรทติ้ง คาดว่า EBT/ARWA จะอยู่ที่ระดับ 4% ในช่วงปี 2566-2568 ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทั้งนี้ อยู่ในเงื่อนไขว่าบริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในแง่ของรายได้นั้น กําไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าถึงแม้ว่ารายได้จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2566 นั้น
ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งยังคงมาจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่ยังคงสูงอยู่ ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างปี 2566-2568 จะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีสัญญาณการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์
ทริสเรทติ้ง คาดว่า กำไรสุทธิของบริษัทจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในปี 2567-2568 ทั้งนี้มาจากสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่ว่าปริมาณสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแรงและอัตราดอกเบี้ยรับจะคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันประมาณ 17%-18%
ในปี 2566-2568 จากระดับ 20% ก่อนปี 2564 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลงนั้นเนื่องมาจากการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมและนโยบายของบริษัทที่จะชะลอการปล่อยสินเชื่อที่ได้รับอัตราผลตอบแทนสูง อันได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อซื้อก่อนผ่อนทีหลัง ซึ่งนโยบายดังกล่าวน่าจะมีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ด้วยต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 13% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง คาดว่า ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานมีแนวโน้มที่จะยังคงสามารถควบคุมได้ โดยบริษัทจะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมไว้ในระดับที่ควบคุมได้ที่ระหว่าง 40%-41% เนื่องจากการเปิดสาขาใหม่ในอนาคตจะใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่าเดิม
มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนรวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อได้
โดย ณ ไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4.13 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 16% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่มีการเบิกใช้ ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 หนี้สินทางการเงินระยะสั้นของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 32% ของหนี้สินทางการเงินรวม ซึ่งลดลงจากระดับ 41% ในปี 2564
ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคม 2566 บริษัทมีหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างจำนวน 6.88 หมื่นล้านบาทซึ่งหุ้นกู้ 1.29 หมื่นล้านบาทจากจำนวนดังกล่าวจะถึงกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 และบริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเก่าแล้ว
ยังคงมีความท้าทายและความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน
อัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อที่มีหลักประกันนี้น่าจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะปานกลางจากปัจจัยสนับสนุนในเรื่องการขยายเครือข่ายสาขา เป้าหมายการเติบโตเชิงรุกของผู้ประกอบการในปัจจุบัน การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ และความต้องการสินเชื่อที่ยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้ง สังเกตเห็นการพัฒนาและความท้าทายที่สําคัญหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินเชื่อและจําเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง ประการแรก ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเนื่องจากการแข่งขันทางด้านราคาและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นส่งผลต่อแรงกดดันความสามารถในการทํากําไร
ความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์การเติบโตเชิงรุก ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่อ่อนแอลงของลูกค้าเป้าหมายได้ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เป้าหมายในการขยายสินเชื่อในเชิงรุกก็อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีฐานทุนอ่อนแอลง ซึ่งหากยังคงดำเนินต่อไปก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตของบริษัทได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
- ยอดสินเชื่อจะเติบโตในช่วง 7%-17%
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในช่วง 18%-13.9%
- อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 2.5%-3.1%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ’คงที่’ อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ว่า บริษัทจะสามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสถานะเงินทุนที่ยังคงแข็งแรงเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทไม่มีสัญญาณการปรับปรุงที่ดีขึ้น โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยังคงอยู่ในระดับสูงและความสามารถในการทํากําไรที่วัดโดย EBT/ARWA ลดลงต่ำกว่า 3.5% แนวโน้มอันดับเครดิตและอันดับเครดิตอาจอยู่ภายใต้แรงกดดัน
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตคาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตอาจได้รับการสนับสนุนจากการปรับปรุงสถานะเงินทุนอย่างมีนัยสําคัญโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 25% ในขณะที่ความสามารถในการสร้างรายได้และสถานะทางการตลาดของบริษัทยังคงแข็งแรง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB+ |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
MTC237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,756.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
MTC23NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,319.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
MTC23NC: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,836.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
MTC243B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,486 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
MTC248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,641.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
MTC248C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,728.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
MTC248D: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,328.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
MTC24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,902 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
MTC24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,367 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
MTC252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,609 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
MTC253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,969.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
MTC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
MTC258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,361.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
MTC258B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,124.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
MTC25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,598 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
MTC262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,391 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
MTC263A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,995.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
MTC264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,634.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
MTC266A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,831.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
MTC268A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 996.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
MTC26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
MTC272A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
MTC273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 927.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
MTC276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 933.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
MTC283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,121.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
BBB+ |
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี 1 เดือน |
BBB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html