- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 28 May 2023 17:49
- Hits: 1641
ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.เอพี (ไทยแลนด์)’เป็น ‘A’ จาก ‘A-‘
ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ‘A’ จากเดิมที่ระดับ ‘A-‘ และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น’Stable’หรือ ‘คงที่’ จาก ‘Positive’ หรือ ‘บวก’
โดยอันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการเงินเอาไว้ได้ตามเกณฑ์
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งในตลาดบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ตลอดจนการมีสินค้าที่อยู่อาศัยจำนวนมากที่มีความหลากหลายในทุกระดับราคา และส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากจากโครงการร่วมทุน
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและความกังวลเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออุปสงค์ที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง
บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น โดยบริษัทมีรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งท่ามกลางปัญหาโรคระบาด ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 3.87 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 2.38 หมื่นล้านบาทในปี 2562
ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็เพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 4.5 พันล้านบาทในปี 2562 ในขณะที่ EBITDA Margin ของบริษัทก็ค่อนข้างสม่ำเสมอโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มโครงการบ้านจัดสรรรวมถึงส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากจากการลงทุนในโครงการร่วมทุน โดยส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมทุนอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาทในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 1.0 พันล้านบาทในปี 2564
ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังทำผลงานได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป รายได้ต่อปีของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.2-4.7 หมื่นล้านบาทโดยมี EBITDA อยู่ที่ 7.5-8.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ ซึ่งการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจะมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบใหม่จำนวนมากและมูลค่ายอดขายรอการรับรู้รายได้ที่มีนัยสำคัญ
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มูลค่ายอดขายโครงการของบริษัทที่รอรับรู้เป็นรายได้อยู่ที่ระดับ 1.63 หมื่นล้านบาทซึ่งเกือบทั้งหมดจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2566 ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้โครงการร่วมทุนซึ่งมียอดขายรอรับรู้เป็นรายได้มูลค่า 1.34 หมื่นล้านบาทนั้นคาดว่าจะทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าที่มูลค่าประมาณ 9.2 พันล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 1.9 พันล้านบาทในปี 2567 ในขณะส่วนที่เหลือจะส่งมอบได้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการร่วมทุนที่ประมาณ 1.0-1.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
มีสถานะเป็นผู้นำตลาดที่อยู่อาศัยที่มีสินค้าหลากหลาย
ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการ ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทในปี 2565 อยู่ที่ระดับ 13.9% ของรายได้รวมจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการ 25 รายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง
โดยเพิ่มขึ้นจากที่ระดับเพียง 8%-9% ในช่วงก่อนปี 2563 โดยมูลค่ายอดขายของบริษัท (รวมยอดขายจากโครงการภายใต้กิจการร่วมทุน) ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 5.04 หมื่นล้านบาทจาก 3.50 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการมีสินค้าที่หลากหลายช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัยให้เข้ากับความพึงพอใจของผู้บริโภคได้อย่างคล่องตัว ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความผันผวนน้อยกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ
บริษัทมีสินค้าที่อยู่อาศัยครอบคลุมตลาดที่ราคาระดับล่างไปจนถึงสูง โดยแบรนด์หลักๆ ในกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรประกอบด้วย ‘Pleno’ ‘บ้านกลางเมือง’ ‘The Centro’ ‘The City’ และ ‘The Palazzo’ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายโครงการบ้านจัดสรรไปในต่างจังหวัดภายใต้แบรนด์’อภิทาวน์’อีกด้วย
และในปีที่แล้วบริษัทยังได้ขยายสินค้าบ้านจัดสรรไปยังกลุ่มราคาระดับล่างภายใต้แบรนด์ ‘MODEN’และ’Pleno Town’ โดยมีราคาอยู่ในช่วง 1.7-5.0 ล้านบาทต่อยูนิต ในขณะที่แบรนด์ในกลุ่มคอนโดมิเนียมซึ่งประกอบด้วย “Aspire’ ‘Life’ ‘Rhythm’ และ ‘The Address’ ก็เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ประกอบไปด้วยโครงการบ้านเดี่ยวจำนวน 47 แห่ง โครงการทาวน์เฮ้าส์จำนวน 74 แห่ง และโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 13 แห่ง (รวมโครงการภายใต้กิจการร่วมทุน 9 แห่ง) โดยสินค้าเหลือขายทั้งหมดซึ่งรวมทั้งที่สร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้างคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยวในสัดส่วน 33% ทาวน์เฮ้าส์ 37% และคอนโดมิเนียม 30%
สามารถรักษาอัตราส่วนทางการเงินได้ตามเป้าหมาย
แม้จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่บริษัทก็ยังสามารถรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมายของทริสเรทติ้งเอาไว้ได้ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัท (รวมภาระหนี้ 51% จากโครงการภายใต้กิจการร่วมทุน) ลดลงต่ำกว่า 50% มาตั้งแต่ปี 2563
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 43.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 41.3% ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากบริษัทซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับแผนการเติบโต ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทเมื่อประกอบกับการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือที่มีประสิทธิภาพน่าจะช่วยรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 45% เอาไว้ได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการ
ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของบริษัทเองคิดเป็นมูลค่า 4.5-6.0 หมื่นล้านบาทต่อปีและโครงการภายใต้กิจการร่วมทุนมูลค่า 0.8-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทได้ตั้งงบประมาณสำหรับซื้อที่ดินใหม่ (ทั้งสำหรับโครงการของบริษัทเองและของโครงการภายใต้กิจการร่วมทุน) ไว้ที่จำนวน 1.8-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 40% ในช่วงเวลาประมาณการ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 4 เท่าในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินก็คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
เงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 0.7 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งทำให้หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ในระดับต่ำ
ผลกระทบในเชิงลบจากการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
การปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้อุปสงค์ที่อยู่อาศัยลดลงในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา ธนาคารต่างๆ จำเป็นต้องจำกัดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันให้อยู่ที่ระดับ 80%-90% สำหรับสัญญาจำนองที่ 2 และระดับ 70%
สำหรับ สัญญาจำนองที่ 3 ทริสเรทติ้งมองว่าเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงระดับบนเนื่องจากผู้ซื้อเหล่านี้อาจมีสัญญาจำนองมากกว่า 1 สัญญา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยถูกบรรเทาลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีสินค้าที่มีความหลากหลายกระจายในทุกระดับราคา
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการระดมทุนของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 ครั้งในปี 2566 นี้ ซึ่ง ธปท. ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้คือ 0.25% ในเดือนมกราคม และอีก 0.25% ในเดือนมีนาคม
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.9 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีกจำนวน 1.13 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2566
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 5.5-5.7 พันล้านบาท ในขณะที่เงินทุนที่บริษัทจะต้องใช้จ่ายนั้นประกอบด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.26 หมื่นล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5-6 พันล้านบาท และเงินปันผลจ่ายอีกประมาณ 1.8-2.0 พันล้านบาทต่อปี
ส่วนภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 5.0 พันล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 7.1 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้โครงการและหนี้สินตามสัญญาเช่า โดยบริษัทใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นส่วนใหญ่เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเป็นเงินกู้ชั่วคราวเพื่อใช้ในการซื้อที่ดิน ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนเป็นเงินกู้โครงการต่อไป ในขณะที่หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระนั้นบริษัทมักใช้วิธีออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทนหรือรีไฟแนนซ์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- บริษัทจะเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยที่บริษัทพัฒนาเองมูลค่าประมาณ 4.5-0 หมื่นล้านบาทและโครงการที่พัฒนาภายใต้โครงการร่วมทุนอีกประมาณ 0.8-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
- รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 4.2-4.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.0-1.1 พันล้านบาทต่อปี
- งบประมาณในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการของบริษัทเองจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปีและอีกประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปีสำหรับโครงการภายใต้กิจการร่วมทุน
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ’คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในตลาดบ้านจัดสรรและตลาดคอนโดมิเนียมเอาไว้ได้ รวมถึงบริษัทจะยังคงรักษารายได้และระดับการเติบโตของกำไรเอาไว้ได้ตามแผนการที่วางไว้
และแม้จะมีแผนขยายธุรกิจแบบเชิงรุก ทริสเรทติ้ง ก็ยังคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ที่ระดับ 40%-45% ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 20% ต่อไปได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยมี EBITDA เกินกว่า 1 หมื่นล้านบาทและ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเกินกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญจนเป็นผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่เกินกว่า 45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงต่ำกว่า 20% เป็นเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย, 12 มกราคม 2566
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AP)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
AP238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,230 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A |
AP238B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A |
AP241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A |
AP247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A |
AP248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 770 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A |
AP251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A |
AP251B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A |
AP257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A |
AP258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A |
AP261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
A |
AP262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
A |
AP267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
A |
AP26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
A |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html