- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Monday, 03 April 2023 09:22
- Hits: 1778
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ซีเค พาวเวอร์’ ที่ ‘A’ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่’A-‘ แนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A’ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ‘A-‘ หุ้นกู้ของบริษัทมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากหุ้นกู้นี้มีลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้างเมื่อเทียบกับเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดรับที่เชื่อถือได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิต ‘AAA/Stable’) และประวัติการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท
อันดับเครดิตยังรวมถึงความคาดหวังว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะค่อยๆ ลดลงถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการใหม่ก็ตาม ในทางกลับกัน อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำและความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่เชื่อถือได้
อันดับเครดิตนั้นมีรากฐานมาจากกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้ที่บริษัทได้รับจากสินทรัพย์ในธุรกิจไฟฟ้าซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง 2 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,003 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีกำลังการผลิตคิดเป็น 83% ของกำลังการผลิตทั้งหมดหรือ 829 เมกะวัตต์
โดยบริษัทถือหุ้นใหญ่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 และโครงการไซยะบุรี กำลังการผลิตที่เหลือมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 2 แห่งขนาด 155 เมกะวัตต์ (15%) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 เมกะวัตต์ (2%)
กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการชำระเงินและความเสี่ยงด้านตลาด ทั้งนี้ กฟผ. เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ โดยรับซื้อประมาณ 96% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือรับซื้อโดย Electricite Du Laos (EDL) กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
บริษัทมีประวัติการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โครงการน้ำงึม 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักของบริษัทมีความพร้อมในการดำเนินงานอยู่ในระดับสูงตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการจากการที่บริษัทได้ทำสัญญาเดินเครื่องและบำรุงรักษากับ กฟผ. ซึ่งครอบคลุมตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะอิน (Bangpa-in Cogeneration Power Plant -- BICPP) ก็สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ กฟผ. ได้อย่างสม่ำเสมอ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำสร้างกำไรเป็นส่วนใหญ่
โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงสร้างกำไรให้แก่บริษัทเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2565 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท โดยประมาณ 2.7 พันล้านบาท (หรือประมาณ 66%) มาจากโครงการน้ำงึม 2 และ 205.5 ล้านบาท (หรือประมาณ 5%) มาจากโครงการไซยะบุรี
โดยทั่วไปแล้วโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีอัตรากำไรที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอย่างมากเนื่องจากไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงจากการที่รายได้หลักของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จึงทำให้บริษัทมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อความเสี่ยงด้านปริมาณน้ำ กล่าวคือ ความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำที่ไหลเข้า
ความเสี่ยงถูกลดทอนจากโครงสร้างของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ดี
ความเสี่ยงที่สำคัญของการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคือความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำ ปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตได้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากในแต่ละปี ปริมาณน้ำที่ผันผวนสูงจะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้ามีความไม่แน่นอนและอาจทำให้รายได้มีความแกว่งตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทมีโครงสร้างสัญญาที่ช่วยทำให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพตลอดอายุสัญญา โดยสัญญาจะมีกลไกที่เอื้อให้บริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้เกินกว่าปริมาณเป้าหมายในปีที่มีน้ำมาก ในขณะที่ปีแล้งบริษัทก็จะได้รับค่าตอบแทนชดเชย
และในกรณีที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี ปริมาณไฟฟ้าในส่วนที่ขาดนี้ก็สามารถนำไปทบกับปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายของปีถัดๆ ไปได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า บริษัทจะมีโครงสร้างสัญญาที่ดีแล้ว แต่การผลิตไฟฟ้าและกระแสเงินสดของบริษัทอาจได้รับผลกระทบหากเผชิญกับช่วงระยะเวลาแล้งที่ยาวนาน
กำไรที่น้อยกว่าคาดของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม
กำไรของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในปี 2565 บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมด้วยส่วนลดจากราคาค่าไฟฟ้าที่ กฟภ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft
อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะล่าช้ากว่าและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะปรับในช่วงเวลาไหนและที่อัตราเท่าใด
ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิติที่ระดับเกิน 550 บาทต่อล้านบีทียูในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ในขณะที่การปรับเพิ่มค่า Ft นั้นยังคงต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้ EBITDA ของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมอยู่ที่ระดับ 800 ล้านบาทในปี 2565 ลดลง 31% จาก 1.1 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า
โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโต
โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของบริษัท ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนา ‘โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง’ (โครงการหลวงพระบาง) ในจังหวัดหลวงพระบางของ สปป. ลาว โครงการนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-river) ขนาดใหญ่ในแม่น้ำแม่โขง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 1,460 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน บริษัทได้ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 8% ในบริษัทที่ทำโครงการคือ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ทำให้บริษัทถือหุ้นในโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 50% และส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 1,733 เมกะวัตต์
การก่อสร้างโครงการหลวงพระบาง คาดว่า จะเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และจะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2573
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการหลวงพระบางทั้งสิ้น 2.16 หมื่นล้านบาท ตลอดการช่วงพัฒนาโครงการ ปัจจุบัน บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 3.9 พันล้านบาท และจะต้องเพิ่มเงินลงทุนจำนวน 2 พันล้านบาทในปี 2567 จำนวน 2.4 พันล้านบาทในปี 2568 และ 3 พันล้านบาทในปี 2569
นอกจากส่วนของเงินลงทุนข้างต้นแล้ว บริษัทยังได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการในรูปแบบของเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นจำนวนมากหากโครงการมีต้นทุนการก่อสร้างเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ นอกจากนี้บริษัทยังตกลงที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ถือหุ้นอีกรายหนึ่ง ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวไม่สามารถหาเงินมาลงทุนในโครงการได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมเงินที่บริษัทอาจต้องสนับสนุนดังกล่าวในประมาณการกรณีพื้นฐาน
มีความเสี่ยงของประเทศใน สปป. ลาว
การที่โรงไฟฟ้าหลักๆ ของบริษัทตั้งอยู่ใน สปป. ลาว ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศใน สปป. ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบริษัทถูกตั้งขึ้น
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาว เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้มายังประเทศไทย โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่งมีสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล สปป. ลาว และสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ซึ่งภายใต้สัญญา กฟผ. จะชำระค่าซื้อไฟฟ้าโดยตรงเข้าบัญชีรายได้ของโรงไฟฟ้าในประเทศไทย
นอกจากนี้ EDL-Generation Public Company (EDL-Gen) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป. ลาว ก็ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของทั้งโครงการน้ำงึม 2 และโครงการไซยะบุรีอีกด้วย ทริสเรทติ้ง คาดว่า โคงการหลวงพระบางจะดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน และคาดว่า รัฐบาล สปป. ลาว จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการหลวงพระบางด้วยเช่นกัน
คาดว่ากำไรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
EBITDA ของบริษัทลดลง 13% จากปีก่อนหน้าเป็น 4.2 พันล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ในประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งได้ตั้งสมมติฐานอย่างระมัดระวังสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากรูปแบบของกระแสน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงปีก่อนหน้านี้
โดยให้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 1,650 ล้านหน่วย (Gigawatt-hour -- GWh) ในปี 2566-2567 และ 1,800 ล้านหน่วยในปี 2568 จากการคาดการณ์ว่ากระแสน้ำจะปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากำไรของโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมบางปะอินจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากค่า Ft ที่เพิ่งปรับเพิ่มขึ้นและราคาก๊าซธรรมชาติที่จะกลับไปอยู่ที่ระดับปกติในระยะยาว
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังคาดว่า บริษัทจะได้รับเงินปันผลจากโครงการไซยะบุรีประมาณ 170-255 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 ส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ราว 4.2-4.8 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2568 และคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ราว 3.1-3.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาระหนี้คาดว่าจะลดลง
การคงอันดับเครดิตมาจากความคาดหวังว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงถึงแม้ว่าบริษัทมีข้อผูกพันที่จะต้องใส่เงินลงทุนในโครงการหลวงพระบางในอีกหลายปีต่อจากนี้ก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะลดลงต่ำกว่า 5 เท่าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
โดยบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนทั้งสิ้น 4.6 พันล้านบาทระหว่างปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งตั้งความหวังว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงหลายปีต่อจากนี้จากการที่บริษัทมีข้อผูกพันในการลงทุนและการให้เงินสนับสนุนในโครงการหลวงพระบาง ในประมาณการกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% ในปี 2566-2568 โดยทริสเรทติ้งมองว่าหากบริษัทจำเป็นที่จะต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้กับโครงการหลวงพระบาง จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทไม่สามารถปรับตัวลดลงได้
โครงสร้างหนี้สิน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีหนี้สินทั้งหมด (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) จำนวน 3.01 หมื่นล้านบาท โดยจำนวน 1.76 หมื่นล้านบาทถูกพิจารณาว่าเป็นหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบไปด้วยหนี้มีหลักประกันและหนี้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย
โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดเท่ากับ 58% ทำให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทนั้นด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญในกรณีที่ต้องเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินของบริษัท ดังนั้นหุ้นกู้ของบริษัทจึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ขั้น
สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอ ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดซึ่งรวมถึงเงินสดที่มีภาระผูกพันสำหรับเงินกู้โครงการอยู่ที่ประมาณ 7.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 6.5 พันล้านบาท
ดังนั้น เงินสดในมือรวมทั้งวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และเงินทุนจากการดำเนินงานจึงน่าจะเพียงพอที่จะใช้ชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวนรวมประมาณ 3.4 พันล้านบาท
จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้เพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้ทั้งหุ้นกู้และเงินกู้โครงการ นอกจากนี้ บริษัทย่อยเหล่านี้ยังต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินสำรองสำหรับใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ด้วย โดยบัญชีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงให้แก่ผู้ให้กู้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ปริมาณไฟฟ้าที่โครงการน้ำงึม 2 จำหน่ายให้ กฟผ. เท่ากับ 1,650 ล้านหน่วยต่อปีในปี 2566-2567 และ 1,800 ล้านหน่วยในปี 2568
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 1,452-1,564 ล้านหน่วยต่อปี
- โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจำหน่ายไอน้ำประมาณ 77,000-80,000 ตันต่อปี
- เงินลงทุนรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุน และคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะค่อยๆ ลดลง โดยกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ในระดับเดียวกับประมาณการของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
โอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นนั้นมีค่อนข้างจำกัด ในทางกลับกัน ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัทที่อ่อนแอกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดจากที่โรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ด้อยกว่าที่คาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ หรือเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินกู้เป็นหลักหรือมีรายจ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการหลวงพระบาง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565 |
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564 |
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
CKP23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A- |
CKP245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A- |
CKP265A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
A- |
CKP27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
A- |
CKP285A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
A- |
CKP286A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
A- |
CKP31OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 |
A- |
CKP32NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 |
|
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html