- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 17 December 2022 20:38
- Hits: 2338
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘กฟภ.’ ที่ ‘AAA’ แนวโน้ม’Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ระดับ ‘AAA’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของ กฟภ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทย’ในระดับสูง’ และมีบทบาทสำคัญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศไทย
ซึ่งทริสเรทติ้ง มองว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนที่ กฟภ. จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในยามจำเป็น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดการณ์ได้ ตลอดจนการได้รับเงินชดเชยด้านการลงทุนผ่านทางโครงสร้างค่าไฟฟ้า และนโยบายทางการเงินที่รอบคอบของ กฟภ. อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูง
กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น 100% โดยผ่านทางกระทรวงการคลังและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ รัฐบาลมีส่วนเป็นอย่างมากในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและนโยบายด้านการเงินของ กฟภ. ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการและผู้ว่าการของ กฟภ. นั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี
ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ของ กฟภ. นั้นมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบ ส่วนแผนค่าใช้จ่ายและการลงทุนของ กฟภ. นั้นจะขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ กฟภ. ยังต้องเสนอแผนการกู้เงินและการชำระคืนเงินกู้ให้แก่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังเพื่อการพิจารณาเห็นชอบอีกด้วย
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า กฟภ. จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ที่ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟภ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟภ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้
มีบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ
กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 2 รายที่รับผิดชอบในการจ่ายและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตภูมิภาคซึ่งครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี
กฟภ. จำหน่ายไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 75% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทย โดยในปี 2564 กฟภ. ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 510,000 ตารางกิโลเมตรซึ่งมีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 21.2 ล้านรายโดยประมาณ กฟภ. ทำหน้าที่ดำเนินงานโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 853,819 วงจรกิโลเมตร
ทั้งนี้ ในปี 2564 รายได้ของ กฟภ. อยู่ที่ประมาณ 5.09 แสนล้านบาทและมียอดจำหน่ายไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 139,687 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยที่ กฟภ. ซื้อไฟฟ้าส่วนใหญ่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในเขตพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ
กำไรที่คาดการณ์ได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า
กฟภ. มีความเสี่ยงที่จำกัดจากความผันผวนของต้นทุนการซื้อไฟฟ้า เนื่องจากได้รับประโยชน์จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ได้รับการควบคุม ซึ่งสามารถส่งผ่านต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านกลไกการปรับปรุงค่าเชื้อเพลิงหรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) จากกลไกดังกล่าว ทำให้ กฟภ. มีกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพที่ระดับเฉลี่ย 0.56-0.59 บาทต่อหน่วยในช่วงปี 2558-2564
กระแสเงินสดกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19
การดำเนินงานของ กฟภ. ได้กลับคืนสู่ระดับปกติเป็นส่วนใหญ่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) คลี่คลายลง โดยการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 109,785 กิกะวัตต์-ชั่วโมงซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19
ทั้งนี้ กฟภ. ยังคงมีหน้าที่ในการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบในด้านการเงินที่ กฟภ. ได้รับจากการดำเนินมาตรการของรัฐบาลดังกล่าวจะได้รับการดูแลจากเงินชดเชยอย่างเต็มจำนวนและรวดเร็วจากรัฐบาล
ทริสเรทติ้ง คาดว่า กระแสเงินสดของ กฟภ. ในปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจาก กฟภ. จะไม่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 เหมือนกับในปี 2564 แต่อย่างใด โดย กฟภ. มีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ที่จำนวน 4.41 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตที่ 18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่ กฟภ. มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ฟื้นตัวมาอยู่ที่จำนวน 3.31 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 โดยเพิ่มขึ้น 61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของ กฟภ. น่าจะอยู่ที่ระดับ 4.5-5.0 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงระยะยาวจากผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนด้วยกัน
แนวโน้มที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะผันตัวไปเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumer) นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อบทบาทในการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ในระยะยาว โดยแนวโน้มที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนแผงโซลาร์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานของประเทศไปสู่พลังงานสีเขียวและเน้นให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ กฎระเบียบที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตก็จะเอื้อให้ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองสามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การพึ่งพาไฟฟ้าที่จำหน่ายจาก กฟภ. นั้นลดลง อย่างไรก็ตาม กฟภ. ก็ได้เตรียมแผนในการปรับตัวผ่านการสร้างรูปแบบธุรกิจและการบริการใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว
โดยแหล่งรายได้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นอาจมาจากบริการรวบรวมโหลดไฟฟ้า (Load Aggregator Service) รายได้จากค่าผ่านสายไฟฟ้า (Wheeling Charge) จากการใช้โครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ. รวมไปถึงรายได้จากการเก็บสำรองไฟฟ้า (Electricity Backup Fee) เพื่อกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เป็นต้น
มีนโยบายด้านการเงินที่รอบคอบและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรง
ทริสเรทติ้ง มองว่า นโยบายทางการเงินที่รัดกุมรอบคอบของ กฟภ. น่าจะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยรักษาให้สถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟภ. ยังคงแข็งแรงต่อไป โดย กฟภ. มีเป้าหมายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 1.5 เท่า รวมถึงรักษาอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Raito) ไม่ให้ต่ำกว่า 25% และรักษาอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ให้น้อยกว่า 1.5 เท่า
นอกจากนี้ กฟภ. ยังมีแนวปฏิบัติภายในองค์กรในการจัดสรรเงินสำรองสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ล่วงหน้าก่อนที่จะครบกำหนดในช่วง 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
กฟภ. ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้และมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 3.5 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับประมาณ 40% ในเดือนกันยายน 2565
นอกจากนี้ สภาพคล่องของ กฟภ. ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ดีอีกด้วย โดย ณ เดือนกันยายน 2565 กฟภ. มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวม 2.56 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 ซึ่งสภาพคล่องโดยรวมของแหล่งเงินทุนดังกล่าวนั้น ถือว่าเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้พันธบัตรที่จะครบกำหนดจำนวนประมาณ 8.7 พันล้านบาทถึง 1.05 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568
เงินลงทุนได้รับการชดเชยผ่านโครงสร้างค่าไฟฟ้า
การกำหนดค่าไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศได้อย่างมั่นคง กกพ. จึงได้มีการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าโดยให้ครอบคลุมทั้งเงินลงทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าและการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับทั้งประเทศ รวมทั้งให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพียงพอสำหรับรัฐวิสาหกิจการด้านไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งอีกด้วย
ทั้งนี้ กฟภ. มีแผนลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.2-4.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2568 โดยส่วนใหญ่จะใช้ไปในการลงทุนขยายระบบจำหน่ายเป็นหลักเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงเพื่อปรับปรุงความมั่นคงของโครงข่ายระบบไฟฟ้า และเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่สู่การเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid Introduction)
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- การจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. จะเติบโตที่ระดับ 0%-4.5% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2568
- กฟภ. จะมี EBITDA ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 5.0 หมื่นล้านบาทในปี 2568
- เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.2-4.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2568
- อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ระดับ 40%-45% ตลอดช่วงเวลาประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ’คงที่’สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ว่า กฟภ. จะยังคงดำรงบทบาทที่มีความสำคัญในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทยและความเชื่อมโยงในระดับสูงที่ กฟภ. มีกับรัฐบาลจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้นี้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานภาพของ กฟภ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญด้านพลังงานซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูงนั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565 |
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563 |
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)
อันดับเครดิตองค์กร: |
AAA |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html