- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 21 August 2022 19:25
- Hits: 1788
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค’ที่ ‘BB’ หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่ ‘B’แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BB’และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกัน และไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ’B’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของบริษัททั้งในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจโรงแรมจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนระดับหนี้สินที่สูง และสภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัว นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแบรนด์สินค้าของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงการที่บริษัทถือครองที่ดินรอการพัฒนาจำนวนมากและมีโรงแรมที่มีคุณภาพดีอีกด้วย
ในการพิจารณาอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้ง ยังคำนึงถึงแผนการขายที่ดินและสินทรัพย์บางส่วนของบริษัทออกไปอีกด้วย ซึ่งหากบริษัททำได้สำเร็จก็น่าจะช่วยลดภาระหนี้และคลายความกังวลด้านสภาพคล่องของบริษัทลงได้
นอกจากนี้ ประเด็นกังวลสำคัญที่มีต่ออันดับเครดิตยังได้แก่ระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านในระยะสั้นถึงปานกลางและทำให้ต้นทุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนเงินกู้ยืมของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนนั้น ทริสเรทติ้งจัดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 3 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกตราสารสามารถขอเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้เป็นอย่างมาก ระดับของส่วนทุนที่กำหนดให้แก่ตราสาร PF17PA ลดลงจากเดิมที่มีระดับความเป็นทุนปานกลาง (Intermediate)
พิจารณาให้เป็นส่วนของทุน 50% เปลี่ยนเป็นไม่มีระดับความเป็นทุน (Nil) ซึ่งพิจารณาให้เป็นส่วนของทุน 0% เนื่องจากตราสารหนี้ดังกล่าวมีอายุคงเหลือที่แท้จริง (Effective Maturity) น้อยกว่า 20 ปี ในขณะที่ตราสาร PF18PA ยังคงมีระดับความเป็นทุนปานกลาง (Intermediate) ซึ่งพิจารณาให้เป็นส่วนของทุน 50%
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ยอดขายที่อยู่อาศัยต่ำกว่าที่คาดการณ์
บริษัทมียอดขายที่อยู่อาศัยต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้ง เคยคาดการณ์ไว้เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลต่ออุปสงค์ด้านที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคอนโดมิเนียม โดยในปี 2564 ยอดขายที่อยู่อาศัยของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 8.1 ล้านบาทซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้ถึง 20%
ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากคอนโดมิเนียมลดลงเหลือ 2.5 พันล้านบาทในปี 2563 และ 1.5 พันล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2560-2562 ในขณะที่รายได้จากโครงการบ้านจัดสรรก็ลดลงเช่นกันโดยเหลือ 6.6 พันล้านบาทในปี 2564 จาก 7.5-8.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2560-2563 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการปิดพื้นที่ก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2564 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งจำกัดกิจกรรมการขาย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ยอดขายโครงการบ้านจัดสรรของบริษัทจะทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์โรคโควิด 19 คลี่คลายลงในขณะที่ยอดขายคอนโดมีเนียมน่าจะยังคงอ่อนแอต่อไป ทริสเรทติ้งคาดว่าในระหว่างปี 2565-2566 รายได้จากการขายที่อยู่อาศัยของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรคาดว่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับราว ๆ 7.2-8.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567
อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายคอนโดมีเนียมน่าจะยังคงอ่อนตัวอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปีเนื่องจากอุปสงค์ที่ยังคงชะลอตัว และบริษัทไม่มีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีคอนโดมิเนียมที่สร้างแล้วเสร็จคงเหลือมูลค่า 8.2 พันล้านบาท ซึ่งทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการขายคอนโดมีเนียมคงเหลือเหล่านี้
แบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับ
ทริสเรทติ้ง ยังคงมองว่า แบรนด์ที่อยู่อาศัยของบริษัทนั้นเป็นที่ยอมรับในตลาดระดับกลางไปจนถึงระดับบน บริษัทมีรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ใน 10 อันดับแรกของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยแบรนด์ที่อยู่อาศัยของบริษัทประกอบด้วย ‘Lake Legend’ ‘Perfect Masterpiece’ ‘Perfect Residence’ ‘Perfect Place’ ‘Perfect Park’ ‘Modi Villa’ และ ‘The Metro’ ส่วนมูลค่าการขายโครงการบ้านจัดสรรนั้นอยู่ระหว่าง 7-9 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 3%-5% ของยอดขายบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 55 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 18 โครงการซึ่งเป็นโครงการของบริษัทเองและเป็นโครงการภายใต้การร่วมทุน มูลค่าโครงการคงเหลือทั้งหมด (รวมยูนิตที่สร้างแล้วเสร็จและยังไม่ได้สร้าง) อยู่ที่จำนวน 55 พันล้านบาท
โครงการรอส่งมอบของบริษัทมีมูลค่า 5.5 พันล้านบาท (ประกอบด้วยโครงการของบริษัทที่มูลค่า 2.6 พันล้านบาทและโครงการร่วมทุนที่มูลค่า 2.9 พันล้านบาท) ในการนี้ บริษัทวางแผนจะส่งมอบโครงการส่วนใหญ่ให้แก่ลูกค้าภายในปี 2565 นี้
ธุรกิจโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2565 ตามการผ่อนคลายของมาตรการจำกัดการเดินทางโดยจะฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงเวลาก่อนการระบาดของของโรคโควิด 19 ได้ภายในปี 2567
ในช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในปี 2563 กิจการโรงแรมของบริษัทมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ลดลงเหลือประมาณ 42% เมื่อเทียบกับในปี 2562 และในปี 2564 ลดลงเหลือ 19%
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัทเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2565 เมื่อรัฐบาลทยอยผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทาง โดยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนฟื้นตัวเป็นประมาณ 28% เมื่อเทียบกับในปี 2562
ภายใต้การคาดการณ์กรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งมองว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของโรงแรมของบริษัทในปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 45% เมื่อเทียบกับในปี 2562 และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 73% ในปี 2566 ก่อนที่จะกลับไปใกล้เคียงกับในปี 2562 ภายในปี 2567 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์กรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งยังคงมีความเสี่ยงในด้านลบอยู่เช่นเดิม
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของของโรคโควิด 19 ยังคงมีความไม่แน่นอนและการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่รุนแรงกว่าหรือการระบาดระลอกใหม่ล้วนอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมทั้งสิ้น และนอกเหนือจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศก็อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอีกด้วย
คาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะฟื้นตัวจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจโรงแรม
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงเหลือ 7% ในปี 2563 และ 9% ในปี 2564 จาก 15%-18% ในระหว่างปี 2560-2562 ซึ่งเกิดจากผลกระทบที่รุนแรงของการระบาดของโรคโควิด 19 ต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมเป็นหลักประกอบกับอัตรากำไรที่ลดลงจากการขายคอนโดมิเนียมด้วย
ในการนี้ บริษัทต้องลดราคาคอนโดมิเนียมลงเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งทำให้อัตรากำไรขั้นต้นจากการขายคอนโดมิเนียมหดตัวลงเหลือประมาณ 23%-25% จากที่ระดับสูงกว่า 33% ในช่วงหลายปีก่อนหน้า
ในอนาคตทริสเรทติ้ง คาดว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและการไม่มีผลขาดทุนจาก’โรงแรมคิโรโระ’ (Kiroro Hotel) ในประเทศญี่ปุ่นที่บริษัทได้ขายกิจการออกไปในปี 2564
โดยในปีนี้อัตรากำไรจากธุรกิจที่อยู่อาศัยของบริษัทคาดว่าจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยเนื่องมาจากความกังวลเรื่องต้นทุนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม บริษัทน่าจะสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้ในปีต่อๆ ไป ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 10%-16% ในระหว่างปี 2565-2567
ระดับหนี้สินจะปรับตัวดีขึ้นแต่จะยังคงอยู่ในระดับสูง
ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของบริษัทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ระดับหนี้สินของบริษัทซึ่งสูงอยู่แล้วต้องปรับตัวสูงขึ้นไปอีก โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ -5% ในปี 2563 จนถึงช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 70% ในปี 2564 จาก 72% ในปี 2563 จากการขายกิจการโรงแรมคิโรโระ ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนก็ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 67% ณ เดือนมีนาคม 2565 อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้นจากการเปลี่ยนวิธีการวัดมูลค่าที่ดินจากวิธีต้นทุนในอดีตมาเป็นวิธีมูลค่ายุติธรรมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญเกี่ยวกับเงินกู้และหุ้นกู้ของธนาคารกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.63 เท่า
ในอนาคตทริสเรทติ้ง คาดว่า ระดับหนี้สินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นแต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นและบริษัทได้ขายที่ดินและสินทรัพย์ออกไปบางส่วน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่จะยังคงติดลบในระหว่างปี 2565-2566
ก่อนที่จะปรับตัวเป็นบวกที่ระดับประมาณ 3%-4% ในปี 2567 และคาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับประมาณ 60% ในช่วงปี 2565-2567 ในอนาคตบริษัทวางแผนจะเปิดโครงการใหม่เฉพาะโครงการบ้านจัดสรรในระหว่างปี 2565-2566 และจะเน้นการขายคอนโดมิเนียมคงเหลือที่สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยลดความต้องการเงินทุนลงได้
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะเปิดตัวโครงการใหม่ที่เป็นโครงการของบริษัทเองที่มูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาทและโครงการร่วมทุนที่มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยงบประมาณในการซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2565 และ 2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
การขายสินทรัพย์ออกไปอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยให้โครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นและลดความกังวลด้านสภาพคล่อง
บริษัทดำเนินการตามแผนการลดภาระหนี้สินและเพิ่มสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องด้วยการขายที่ดินและสินทรัพย์ออกไปบางส่วน โดยในช่วงปลายปี 2564 บริษัทได้ขายโรงแรมคิโรโระในประเทศญี่ปุ่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติรายหนึ่งในราคาประมาณ 4.4 พันล้านบาท การขายโรงแรมดังกล่าวช่วยลดภาระหนี้สินของกลุ่มบริษัทอีกทั้งยังช่วยลดผลขาดทุนจากธุรกิจโรงแรมของบริษัทลงได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขายที่ดินกรรมสิทธ์และที่ดินที่เป็นสิทธิการเช่ารวมทั้งสินทรัพย์บางส่วนในช่วง 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย ทริสเรทติ้งมองว่าหากบริษัทสามารถขายสินทรัพย์ดังกล่าวได้สำเร็จก็น่าจะช่วยให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นและช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทลงได้
จากข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2565 ระบุว่าบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 8.7 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 8.5 หมื่นล้านบาทรวมทั้งเงินกู้ยืมระยะสั้นและเงินกู้โครงการอีกจำนวนราว ๆ 140 พันล้านบาท
ในขณะที่แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.8 พันล้านบาทและวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกซึ่งสามารถเบิกใช้ได้ทันทีจำนวนประมาณ 500 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินซึ่งไม่ติดภาระค้ำประกันที่มีมูลค่าตามบัญชีจำนวน 1.2 พันล้านบาท และสินค้าคงเหลือที่สร้างแล้วเสร็จในโครงการที่ปลอดภาระหนี้อีกจำนวน 1.4 พันล้านบาท ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักประกันสำหรับการขอวงเงินกู้ใหม่ได้หากจำเป็นอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 67% โดยที่หนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนประกอบไปด้วยหนี้ที่มีประกันจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทและหนี้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทย่อยจำนวน 1.4 พันล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมสูงเกินกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง ที่ 50% ทริสเรทติ้ง จึงพิจารณาว่า เจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันของบริษัทอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2565-2567 มีดังนี้
- บริษัทจะเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรใหม่ทั้งที่เป็นโครงการของบริษัทเองและเป็นโครงการร่วมทุนที่มูลค่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2565
- งบประมาณสำหรับการจัดซื้อที่ดินจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 พันล้านบาทต่อปี
- รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
- อัตรากำไรขั้นต้นอยู่จะที่ระดับ 28%-34% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 10%-16%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะไม่อ่อนแอลงไปจากระดับปัจจุบัน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากมีสัญญาณบ่งชี้ที่ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สภาพคล่องของบริษัทที่ลดลงเร็วกว่าที่ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ไว้ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงด้วยเช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานะทางการเงินปรับตัวดีขึ้นโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 65% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสูงกว่าระดับ 3% อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (PF)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BB |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
PF17PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 447.7 ล้านบาท |
B |
PF18PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 60.3 ล้านบาท |
B |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
12080