- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Wednesday, 20 July 2022 12:18
- Hits: 1704
PIMO-ไพโม่ กางแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง ดันรายได้ทะลุเป้า 1,200 ล้านบาท หลังดีมานด์มอเตอร์ปั๊มน้ำล้น-ตุนออเดอร์ล่วงหน้าเต็มมือ
PIMO-ไพโม่ กางแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง ดันรายได้ทะลุเป้า 1,200 ล้านบาท หลังดีมานด์มอเตอร์ปั๊มน้ำล้น-ตุนออเดอร์ล่วงหน้าเต็มมือ ด้านหัวเรือใหญ่ ‘วสันต์ อิทธิโรจนกุล’ ปลื้ม!! เนื้อหอมกองทุนจ่อคิวเจรจาขอเข้าร่วมลงทุน พร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO-ไพโม่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning Motor) มอเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป (Induction Motor) เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ มอเตอร์สำหรับปั๊มบ้าน (Submersible Pump, Pool Spa Pump and Home Pump) เปิดเผยว่าแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มผลประกอบการยังคงมีทิศทางที่ดี หลังบริษัทฯ มีลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามาสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่นออสเตรเลีย ที่บริษัทฯ ส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกและบริษัทฯ ยังได้ล็อกราคาต้นทุนวัตถุดิบไว้ที่ 32.5 ดอลลาร์สหรัฐ
“ต้นทุนวัตถุดิบที่ผ่านมาเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ เช่น ทองแดง เมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้วน่าจะเป็นราคาที่สูงสุดคือ 9,500 เหรียญต่อตัน หลังจากนั้นราคาได้ปรับลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,300 เหรียญต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าบริษัทฯ คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนวัตถุดิบที่จะปรับขึ้นบ้างเล็กน้อยคือซิลิคอนคือปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนไตรมาส 2 ผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป้าหมายรายได้ทั้งปีนี้สำหรับภายนอกบริษัทฯ ยังไม่ได้ปรับขึ้น แต่ข้อมูลภายในองค์กรบริษัทฯ ประกาศปรับเป้าสูงขึ้นจากรายได้ 1,200 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย” นายวสันต์ กล่าว
สำหรับสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ จะมาจากปั๊มน้ำหรือมอเตอร์สระว่ายน้ำ ซึ่งมีดีมานด์จากอเมริกาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยลูกค้าของบริษัทฯ ทั้ง 3 ราย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ปัจจุบันพึงพอใจกับการบริการและคุณภาพของสินค้าและลูกค้าทั้ง 3 ราย ต้องการให้บริษัทฯ ขยายกำลังการผลิตโดยรวมเป็น 500-600 ลูกต่อวัน ซึ่งบริษัทฯ ผลิตได้อยู่ที่ 140 ลูกต่อวันเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาหลักมาจากพาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะถูกจำกัดจากต่างประเทศคือต่างประเทศไม่สามารถซัพพลายได้ บริษัทฯ จึงแก้ไขปัญหาด้วยการหาพาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถหาได้เร็วขึ้นมาทดแทน ซึ่งหากสามารถแตกคอขวดในเรื่องดังกล่าวได้ จะทำให้บริษัทฯ สามารถขยายกำลังการผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้าและส่งผลให้รายได้ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบัน ไพโอเนียร์ มอเตอร์ ถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่ใน Blue Ocean โดยสินค้ามอเตอร์ชนิดพิเศษ (BLDC) มีคู่แข่งเพียง 2 รายเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวออกมาว่าในปี 2567 โรงงานปั๊มน้ำทั้งหมดในออสเตรีย จะต้องเปลี่ยนจาก AC มาเป็น BLDC ทั้งหมด ดังนั้นจึงคาดว่า BLDC ยังเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีมากสำหรับไพโอเนียร์ มอเตอร์ ต่อไปในอนาคต
นายวสันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไพโอเนียร์ มอเตอร์ ไม่ได้แข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว โดยบริษัทฯ ออกไปแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ เดินหน้าปูธงเรื่องคุณภาพของสินค้าที่ดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับเรื่องอินโนเวชั่น แทนที่จะสู้กันในเรื่องของราคา ส่วนปัจจุบันบริษัทฯ มีกองทุนต่างประเทศหลายกองทุนให้ความสนใจที่จะมาลงทุนใน ไพโอเนียร์ มอเตอร์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตของ ไพโอเนียร์ มอเตอร์ ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
A7569