- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Thursday, 30 June 2022 17:46
- Hits: 1572
‘ทีวี ไดเร็ค’ เริ่มจัดโครงสร้างสู่ซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี ซื้อหุ้น ‘ทีวีดี โบรกเกอร์ - ฟู้ด ออเดอรี่’ จาก เอบีพีโอ บริษัทในเครือ ได้กำไรล้างขาดทุนสะสมและเตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
บมจ.ทีวี ไดเร็ค เดินหน้าเข้าซื้อกิจการ “ทีวีดี โบรกเกอร์” 100% และซื้อหุ้น 10.10% ใน “ฟู้ด ออเดอรี่” จากเอบีพีโอที่เป็นบริษัทในเครือ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจทรานส์ฟอร์มสู่ “ซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี” และต่อยอดธุรกิจกลุ่มประกันและอาหาร ส่งผลให้เอบีพีโอเตรียมบันทึกกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้และล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด เตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต
นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ให้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด 100% ในบริษัท ทีวีดี โบรกเกอร์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันภัย และซื้อหุ้น 10.10% ในบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด เพื่อต่อยอดธุรกิจกลุ่มอาหาร จากบริษัท เอบีพีโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่จะปรับเปลี่ยนให้ TVD เป็นซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯ ได้ขออนุมัติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 เพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVDH อีกด้วย ดังนั้นบริษัทฯ จะเริ่มต้นการบริหารงานทั้งสามบริษัทนี้ (เอบีพีโอ, ทีวีดี โบรกเกอร์ และฟู้ด ออเดอรี่) ให้มีความชัดเจนทั้งแผนธุรกิจและการสร้างกลยุทธ์ โดยการเข้าดำเนินการครั้งนี้จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 245.1 ล้านบาท และว่าจ้างบริษัทประเมินราคาที่เหมาะสมตามขั้นตอน ซึ่งเอบีพีโอจะมีกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้ตามงบการเงินเฉพาะกิจการรวม 174.7 ล้านบาท และยังล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมดอีกด้วย
การเข้าซื้อสองบริษัทนี้จากเอบีพีโอจะเป็นขั้นตอนแรกของ ซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี เพราะสามารถดำเนินการได้ทันทีด้วยมติของคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งได้เตรียมแผนงานสนับสนุนทั้งสามบริษัทไว้แล้ว โดยเฉพาะบริษัท เอบีพีโอ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจ B2B Business Process Improvement ให้บริการ 3 ประเภท ได้แก่ 1) การให้บริการ Contract Center ครบรูปแบบทั้ง Insource (เตรียมพนักงานให้ไปทำงานในพื้นที่และ Facility ของลูกค้า) Outsource (รับงานทั้งหมดออกมาทำในพื้นที่ของเรา) และ Facility Rental (มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดให้เช่าใช้โดยลูกค้ามีบุคลากรอยู่แล้ว) ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะความต้องการของลูกค้า 2) การให้บริการด้าน Software และ IT เป็นการให้บริการเขียนโปรแกรม ปรับปรุงโปรแกรม สร้าง Application การให้บริการออกแบบระบบ IT การวางระบบรักษาความปลอดภัย การออกแบบระบบการทำงาน จนถึง IT Architecture (สถาปัตยกรรมระบบการบริหารและใช้ประโยชน์จากข้อมูล) และที่สำคัญคือการบริหารฐานข้อมูลพร้อมนโยบายในเรื่อง PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ซึ่งโปรแกรมของบริษัทฯ อนุญาตให้เจ้าของข้อมูลกำหนดสิทธ์ได้ด้วยตนเอง 3) การให้บริการไดเร็ค เรสพร้อนส์เอเจนซี่ (Direct Response Agency) ที่จะทำงานในการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักต่างๆ และการสร้าง CUSTOMER LIFE TIME VALUE ซึ่งเป็นแก่นของการตลาดแบบตรงอีกด้วย
สำหรับการซื้อหุ้นทีวีดี โบรกเกอร์ ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท Capital Advantage ทำการประเมินราคาที่เหมาะสม (Fair Value) ตามหลักการซื้อทรัพย์สิน ซึ่งมีมูลค่ากิจการสูงสุดอยู่ที่ 717 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาราคาเข้าซื้อกิจการที่เหมาะสมอยู่ที่ 210.7 ล้านบาท ทำให้เอบีพีโอจะบันทึกกำไรในงบการเงินเฉพาะกิจการ 155.7 ล้านบาท โดยบริษัท ทีวีดี โบรกเกอร์ จำกัด มีรายได้จากประกันภัย 3 กลุ่ม ได้แก่ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยรถ และประกันภัยกลุ่ม โดยมีจุดแข็งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และปิดการขายผ่านคอลล์เซ็นเตอร์ และมีแผนขยายจำนวนคอลล์เซ็นเตอร์และฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนงานการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ ได้ว่าจ้าง APM หรือบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงินและอยู่ในระหว่างการดำเนินการต่างๆ เช่น การปรับระบบบัญชีเป็น PEA (PUBLIC Entity Accounting) จัดเตรียมระบบงาน IA (Internal Auditor) ตลอดจนการเตรียมคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้พร้อมในการขอยื่นไฟลิ่งในปีหน้า
ส่วนการเข้าซื้อหุ้น 10.10% ในบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด จะใช้เงินลงทุน 34.34 ล้านบาท ตามการประเมินมูลค่ากิจการที่เหมาะสมอยู่ที่ 340 ล้านบาท โดยบริษัท สินวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทระดมทุน Crown Funding ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเอบีพีโอจะมีกำไรในงบการเงินเฉพาะกิจการประมาณ 19 ล้านบาท บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด เป็นสตาร์ตอัพผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม eatsHUB ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับชาติเพื่อให้บริการรับส่งอาหาร ที่เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จุดเด่นคือการที่มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เป็น Strategic Partner ทำให้เข้าถึงทรัพยากรที่ไม่ใช่เงินได้อย่างมากและรวดเร็ว และการเก็บค่าบริการ GP ต่ำกว่ารายอื่นในตลาดเพื่อให้ร้านอาหารที่ไม่สามารถจ่าย GP ให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ได้มีโอกาสยกระดับการทำงานได้อย่างมีระบบและไม่สูญเสียจิตวิญญาณของการทำอาหาร โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มได้รับสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบ Matching Fund เป็นโครงการแรกจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) 45 ล้านบาท และมีเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นหุ้น 20% ภายในระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันได้จัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อแนะนำแพลตฟอร์มแก่ประชาชน และมีแผนขยายคลาวด์คิชเช่น (ครัวปรุงอาหารในแต่ละพื้นที่) รวมถึงขยายพื้นที่ให้บริการมากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแรงและสร้างยอดขายให้ร้านอาหารได้อย่างยั่งยืน
A6959