- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Tuesday, 29 March 2022 09:21
- Hits: 8843
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.ไฟฟ้าน้ำงึม 2’ ที่ ‘A’,แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ‘A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างสัญญาที่แข็งแกร่งของบริษัทตลอดจนกระแสเงินสดรับที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิต ‘AAA’ แนวโน้ม ‘Stable’ หรือ’คงที่’ จากทริสเรทติ้ง)
นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำในแม่น้ำงึมและความเสี่ยงระดับประเทศ (Country Risk) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตของบริษัทที่ระดับ ‘A’ อยู่บนพื้นฐานที่อันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทอยู่ในระดับ ‘a’ และจากมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลัก (Core Subsidiary) ของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP, ได้รับอันดับเครดิต ‘A’ แนวโน้ม ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จากทริสเรทติ้ง) ในการนี้ บริษัทได้รับการคาดหมายว่าจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้แก่กลุ่มที่ระดับราวๆ 60%-70%
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 ของบริษัทนั้นตั้งอยู่ในเขตภาคกลางของ สปป.ลาว บนฝั่งแม่น้ำงึม โดยมีกำลังการผลิตที่ขนาด 615 เมกะวัตต์ แม้ว่า โรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีที่ตั้งและดำเนินการอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง แต่อันดับเครดิตของบริษัทก็อยู่บนพื้นฐานการมีกระแสเงินสดที่มีความแน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้านาน 25 ปีกับ กฟผ. ซึ่งความแข็งแกร่งด้านเครดิตของ กฟผ. บ่งบอกถึงการที่บริษัทมีความเสี่ยงจากคู่สัญญาที่อยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่อยู่บนพื้นฐานของการจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งสามารถเรียกรับไฟฟ้าส่วนที่ขาดให้ครบได้ในภายหลัง (Take-or-Pay) นั้นยังช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านการตลาดของบริษัทได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่ง กฟผ. จะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,310 ล้านหน่วย (Gigawatt-hour -- GWh) ต่อปี ปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี ซึ่งจำแนกเป็นปริมาณไฟฟ้าหลัก จำนวน 2,218 ล้านหน่วยและปริมาณไฟฟ้ารอง จำนวน 92 ล้านหน่วย
สัญญาสัมปทานที่บริษัทมีกับรัฐบาล สปป. ลาว ยังช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการโอนเงินและการแปลงสกุลเงินตราอีกด้วย โดยสัญญาสัมปทานให้สิทธิ์บริษัทในการรับรายได้และพักเงินในบัญชีเงินฝากที่อยู่นอก สปป. ลาว ดังนั้น รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ได้รับจาก กฟผ. จึงใช้วิธีจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทในประเทศไทย
มีประวัติการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ
การดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นต้องการความเชี่ยวชาญในหลายด้านๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การซ่อมบำรุง และการวางแผนการผลิต ในการนี้ บริษัทได้ทำสัญญาเดินเครื่องและบำรุงรักษากับ กฟผ. ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
โดย กฟผ. นั้นเป็นผู้มีความชำนาญและมีประสบการณ์ที่ยาวนานในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทยังมอบหมายให้ กฟผ. ทำหน้าที่ให้บริการซ่อมบำรุงใหญ่ให้แก่บริษัทอีกด้วย
นับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงาน โรงไฟฟ้าของบริษัทมีค่าความพร้อมอยู่ในระดับที่สูงกว่า 94% มาโดยตลอด ยกเว้นในช่วงปี 2561-2562 ที่ความพร้อมโรงไฟฟ้าของบริษัทอยู่ที่ระดับ 92%-93% เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงตามวาระในปี 2561 และปัญหาปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอสำหรับการผลิตในปี 2562
ความไม่แน่นอนของทรัพยากรน้ำ
ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นขึ้นอยู่กับความพอเพียงของปริมาณน้ำเป็นหลักซึ่งอาจมีความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละปี ทั้งนี้ ความผันผวนของปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้ามีความไม่แน่นอนและอาจทำให้รายได้ลดลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจส่งผลต่อความพอเพียงของกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายคงที่ในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ แม้ปริมาณน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำของบริษัทจะสามารถช่วยบรรเทาความผันผวนของปริมาณน้ำได้ในระยะสั้น แต่ภาวะภัยแล้งที่ยืดเยื้อก็อาจส่งผลให้บริษัทผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงและทำให้มีรายได้ลดลงในช่วงดังกล่าว
โครงสร้างสัญญาช่วยบรรเทาความเสี่ยงหลักๆ ลงได้
สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีกลไกที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากปริมาณน้ำให้แก่บริษัทในแต่ละปี โดยเงื่อนไขในสัญญาจะอนุญาตให้บริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้มากเกินกว่าปริมาณเป้าหมายในปีที่มีน้ำมาก ในขณะที่ปีที่มีน้ำน้อยบริษัทจะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้ และในกรณีที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี ปริมาณไฟฟ้าในส่วนที่ขาดนี้ก็สามารถนำไปทบกับปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายของปีถัดๆ ไปได้
นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า บริษัทยังมีสิทธิ์ที่จะประกาศให้ปีนั้นเป็นปีแล้งสำหรับการดำเนินงานได้อีกด้วย ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นบริษัทมีข้อผูกผันที่จะต้องดำรงความพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้มีไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันในแต่ละเดือน และไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันในแต่ละปี
การประกาศให้เป็นปีแล้งจะทำให้บริษัทไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาได้ชั่วคราว ซึ่งบริษัทจะสามารถประกาศได้ 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งกินเวลานาน 25 ปี โดยบริษัทได้ประกาศปีแล้งครั้งแรกในปี 2563 แม้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะให้โอกาสแก่บริษัทในการประกาศให้เป็นปีแล้ง แต่หากบริษัทยังคงประสบกับภาวะความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน
แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่มากขึ้น
แม้ว่าบริษัทจะประสบกับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา แต่ปริมาณน้ำไหลเข้าก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 3,934 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในปี 2563 และ 4,301 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2564 จากระดับต่ำสุดที่ 3,689 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำไหลเข้าในปี 2564 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ระดับ 6,262 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี (เฉลี่ยปี 2492-2564) การที่ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของบริษัทอยู่ที่ 361.1 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ณ สิ้นปี 2564 นั้นทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างระมัดระวังเพื่อที่จะบริหารจัดการระดับน้ำที่มีอยู่และยังสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ในปี 2565
ผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่คาดหมาย
หากไม่คำนึงถึงปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2564 ผลการดำเนินงานของบริษัทถือว่าเป็นไปตามที่ทริสเรทติ้ง คาดหมายไว้ โดยบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นรวม 101% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ระดับ 1,841 ล้านหน่วย ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการประกาศภัยแล้งในปี 2563 การผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 ของบริษัทประกอบด้วยปริมาณไฟฟ้าหลักจำนวน 1,743 ล้านหน่วย
และปริมาณไฟฟ้ารองจำนวน 99 ล้านหน่วย ในการนี้ ปริมาณไฟฟ้าหลักบรรลุเป้าหมายที่ระดับประมาณ 79% ของปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปีซึ่งสะท้อนถึงปริมาณน้ำไหลเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ โดยปริมาณน้ำไหลเข้านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
ในปี 2564 EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้น 111% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA ที่สูงขึ้นนั้นส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 3.8 เท่าจากระดับ 9.1 เท่าในปี 2563
ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งใช้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของต้นปี 2565 และสมมติฐานอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับปริมาณน้ำไหลเข้าเป็นพื้นฐานในการคาดการณ์ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะผลิตไฟฟ้าได้ที่ประมาณ 1,600-1,650 ล้านหน่วยในปี 2565 ซึ่งจะคิดเป็น EBITDA ที่ระดับประมาณ 2.3-2.5 พันล้านบาท
ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.7-4.0 เท่าในปี 2565 ส่วนในปี 2566-2567 นั้น ทริสเรทติ้ง คาดว่า ปริมาณน้ำไหลเข้าจะฟื้นตัวมาใกล้เคียงระดับค่าเฉลี่ย
ดังนั้น ทริสเรทติ้ง จึงคาดการณ์ว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.0-3.2 พันล้านบาทต่อปี จากสมมติฐานที่บริษัทจะผลิตไฟฟ้าได้ที่ประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565-2567 รวมเป็นเงินจำนวน 3.1 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับหนี้สินค่อยๆ ลดลงและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8-2.0 เท่าในปี 2567
โครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะดีขึ้น
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยจะลดลงไปสู่ระดับที่ต่ำกว่า 40% ในปี 2567 และคาดว่า บริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ใดๆ ในอนาคตอันใกล้นี้นอกจากการซ่อมบำรุงตามแผนงานเท่านั้น
ทั้งนี้ การลงทุนครั้งล่าสุดของบริษัทคือการขยายสถานีไฟฟ้าย่อยนาบงซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จไปในปี 2561 ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 3.12 พันล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่จำนวน 1.09 หมื่นล้านบาทและมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 51.2%
มีเงินสดเพียงพอสำหรับภาระหนี้ระยะสั้น
บริษัทยังคงมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังในการสำรองเงินสดอย่างน้อย 1 พันล้านบาทสำหรับการชำระคืนหนี้เงินกู้ในงวดถัดๆ ไป นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามที่จะคงเงินสดเอาไว้ไม่ต่ำกว่าประมาณ 700 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานในระยะเวลาประมาณ 12 เดือนข้างหน้าอีกด้วย
บริษัทได้ชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 500 ล้านบาทไปแล้วในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวังตลอดช่วงเวลาประมาณการ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 1.8-2.0 พันล้านบาทในปี 2565
ในขณะที่บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 1.6 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 หลังจากหักชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว โดยที่เงินสดในมือเมื่อรวมกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานแล้วน่าจะมีเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้หุ้นกู้มูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านบาทในปี 2566 ได้
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นปี 2564 หนี้สินของบริษัทจำนวน 1.29 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันทั้งหมด ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) แต่อย่างใด
อันดับเครดิตมาจากสถานะของกลุ่ม
บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ โดยบริษัท ซีเค พาวเวอร์ มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจำนวน 46% และมีการควบคุมทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและการเงินของบริษัทโดยตรง ทั้งนี้ โดยปกติแล้วบริษัทจะสร้าง EBITDA ให้แก่การลงทุนด้านไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ที่ระดับประมาณ 60%-70%
ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่กลุ่ม ทริสเรทติ้งจึงถือว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของกลุ่ม ดังนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจึงเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ซึ่งเป็นไปตาม ‘เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ’ (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,600-1,650 ล้านหน่วยในปี 2565 และ 2,000 ล้านหน่วยต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
- ค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าในระหว่างปี 2565-2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 96%
- อัตราค่าไฟฟ้าที่จะได้รับเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
- ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและซ่อมบำรุงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปีในช่วงปี 2565-2567
- ในช่วงปี 2565-2567 บริษัทจะชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องต่อไปและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยในระยะเวลายาว
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังคงบริหารจัดการการดำเนินงานโรงไฟฟ้าและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปีได้ตลอดระยะเวลาที่เหลือของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดในระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้และส่งผลให้กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่เสื่อมถอยลงอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากการมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ตาม ‘เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ’ ของทริสเรทติ้ง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของอันดับเครดิตของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จะมีผลกระทบโดยตรงต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2PC)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
NNPC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A |
NNPC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A |
NNPC24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A |
NNPC253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A |
NNPC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A |
NNPC273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
A |
NNPC27OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
A |
NNPC303A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 |
A |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html