- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 20 March 2022 17:57
- Hits: 8096
BPP ปี 2564 มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โรงไฟฟ้าทุกแห่งเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ เร่งขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน เดินหน้าลงทุนกิจการโซลาร์ฟาร์มเพิ่มอีก 2 แห่งในเวียดนาม
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เดินหน้าขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ Greener & Smarter
ล่าสุด ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (SPA) ผ่านบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd. (BRES) เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกียลาย (Gia Lai) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนินห์ถ่วน มูลค่าการลงทุนรวม 26.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 883 ล้านบาท
โดยมีสัดส่วนการลงทุนจาก BPP และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 50 ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนส่วนของ BPP 13.35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 442 ล้านบาท ส่งผลให้ BPP มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 25 เมกะวัตต์ เป็นการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนผ่านการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเป็นครั้งที่สองต่อจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญที่ลงนามสัญญาซื้อขายไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “BPP ยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่าน บริษัทฯ ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่ BPP ลงทุนในเวียดนาม
โดยเวียดนามนับเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์ที่ BPP มุ่งขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงและมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนจากภาครัฐอีกด้วย ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนี้ มีจุดเด่นหลายประการ เช่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับดีเยี่ยมและยาวนาน มีราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 9.35 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดี รวมทั้งมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลถึงกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับอย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที”
โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกัน 50 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ BPP 25 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก ตั้งอยู่ในจังหวัดเกียลาย บริเวณพื้นที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม มีกำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ ตั้งอยู่ในจังหวัดนินห์ถ่วน อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคกลางตอนใต้ของเวียดนาม มีกำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ การลงทุนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และการรอได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 2/2565
นอกจากนี้ ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4/2564 ที่ผ่านมา BPP ยังได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคเซนนุมะ (Kesennuma) ขนาดกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นิฮอนมัสซึ (Nihonmatsu) ขนาดกำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิราคาวะ (Shirakawa) ขนาดกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 3,389 เมกะวัตต์เทียบเท่า ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะ COD ในไตรมาส 1/2565 อีกด้วย
การลงทุนต่อเนื่องในเวียดนามครั้งนี้ เป็นตอกย้ำการเติบโตตามแผนกลยุทธ์ที่มุ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนความมุ่งมั่นในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ โดยมาจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และสอดคล้องตามหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี) เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ
ผลประกอบการบ้านปู เพาเวอร์ปี 2564 แข็งแกร่งต่อเนื่อง เน้นเติบโตด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ และขยายการลงทุนในประเทศศักยภาพ
- • ปี 2564 มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โรงไฟฟ้าทุกแห่งเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ
- • มุ่งขยายกำลังผลิตจาก 3,242 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter และการผสานความร่วมมือในกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem)
- • เดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศศักยภาพ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี และเทคโนโลยีพลังงานในเวียดนาม
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2564 มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 3,487 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,127 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา BPP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 85 และร้อยละ 91 ตามลำดับ
ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน สามารถสร้างรายได้จากปริมาณการขายไอน้ำที่เพิ่มขึ้น รองรับความต้องการของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังรับรู้ผลกำไรจากโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ (Quality Megawatt) สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
ด้านความสำเร็จในการสร้างการเติบโตของเมกะวัตต์คุณภาพ (Quality Megawatt) นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน BPP สามารถขยายกำลังผลิตและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าในพอร์ตธุรกิจตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้น 580 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) รวม 457 เมกะวัตต์
โดยมาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา และโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นรวม 123 เมกะวัตต์ จากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในออสเตรเลีย
การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง และธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในเวียดนาม และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่งในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังเตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม ในไตรมาส 1/2565 อีกด้วย ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตรวม 3,242 เมกะวัตต์เทียบเท่า
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “BPP เร่งเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยเน้นการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) ที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกลยุทธ์ Greener & Smarter, มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์
โดยลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น เวียดนาม โดยนอกจากการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแล้ว ล่าสุดยังได้ลงทุนในธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป
โดยได้ลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นในอัตราร้อยละ 49.04 ของ Solar Esco Joint Stock Company ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนามที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร ตอกย้ำการขยายเมกะวัตต์ผ่านการผสานความร่วมมือในกลุ่มบ้านปู, สร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น พร้อมมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในโรงไฟฟ้า HELE ในประเทศที่มีศักยภาพ,
รวมทั้งเดินหน้าการขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกาจากระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) หาโอกาสการลงทุนตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี (Energy Trading) พร้อมศึกษาการผสานห่วงโซ่อุปทานในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ของบ้านปูมาใช้ในโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนและเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.65 บาท โดยกําหนดจ่ายเงินปันผลคงเหลือในงวดนี้อีกหุ้นละ 0.35 บาทในวันที่ 27 เมษายน 2565 และกําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 11 เมษายน 2565
BPP มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนที่ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, and Governance: ESG) เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน พิสูจน์ด้วยรางวัล Rising Star Sustainability Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และล่าสุดยังได้รับการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนจากสถาบัน S&P Global ด้วยคะแนนประเมินในระดับสูงมาก (Very High) และได้รับการคัดเลือกอยู่ใน Sustainability Yearbook 2022 พร้อมทั้งได้เข้าไปอยู่ใน SET100 และ SETHD สะท้อนความเชื่อมั่นในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียในระยะยาว
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจของบ้านปู เพาเวอร์ได้ที่ www.banpupower.com
ข้อมูลโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565 โรงไฟฟ้าและ โครงการโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการ เชิงพาณิชย์ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน (แห่ง/โครงการ) 38 36 2 กำลังผลิตตามสัดส่วน การลงทุน (เมกะวัตต์) 3,242 3,124 91
เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ด้วยจุดยืนการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน (We ARE Power for the Sustainable World)
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 74,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,304 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมปีก่อน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563