- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Friday, 25 February 2022 09:48
- Hits: 7659
‘โอสถสภา’ โชว์ผลการดำเนินงานปี 64 ยอดขายโตสวนกระแส
รักษากำไรและสถานะการเงินแข็งแกร่งแม้เผชิญปัจจัยลบ
ไตรมาส 4 กำไรฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนถึง 47%
พร้อมจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังอีก 0.65 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีจ่าย 1.1 บาทต่อหุ้น
‘บมจ.โอสถสภา (OSP)’ โชว์ผลการดำเนินงานปี 2564 เติบโตต่อเนื่อง แม้เจอปัจจัยลบจากโควิด-19 โดยทำยอดขาย 26,762 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,255 ล้านบาท ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มภายในประเทศจากพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดต่างประเทศยังขยายตัวได้ดี พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังและกำไรสะสมอีก 0.65 บาทต่อหุ้น ส่งผลทั้งปีจ่ายเงินปันผลรวม 1.1 บาท สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ส่วนปี 65 ชูกลยุทธ์สร้างการเติบโต พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจในทุกมิติ พัฒนาสินค้าตอบโจทย์นิวนอมอลไลฟ์สไตล์ จับมือพันธมิตรใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจ ควบคู่การบริหารงานภายใต้หลัก ESG เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศ เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2564 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายในเชิงบริหารจัดการท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ สามารถผลักดันผลการดำเนินงานปี 2564 ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ มียอดขายรวม 26,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% สะท้อนศักยภาพการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวให้เข้ากับภาวะตลาดโดยใช้ข้อได้เปรียบจากการมีพอร์ตโฟลิโอสินค้าที่แข็งแกร่ง และเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเชื่อถือ โอสถสภาคงความเป็นผู้นำและมีส่วนแบ่งตลาดเติบโตสวนกระแสตลาด มีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 54.6% จากแบรนด์อันดับ 1 อย่างเอ็ม-150 รวมถึง ลิโพ และโสมอินซัม เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ ที่ประสบความสำเร็จสามารถผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก และมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 37.3%
ขณะเดียวกัน โอสถสภายังคงรักษาสถานะการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง มีสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ต่ำ และด้วยศักยภาพในการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย อาทิ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น การล็อคดาวน์ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทั้งปีที่ 3,255 ล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการปลดล็อคดาวน์แล้วนั้น มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 47% จากไตรมาสก่อน ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเสนอจ่ายเงินปันผลการดำเนินงานในปี 2564 ในอัตรา 1.1 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนเงิน 3,304 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินปันผลระหว่างกาลครึ่งปีแรกในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น คงเหลือที่ต้องจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังและกำไรสะสมอีก 0.65 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินปันผลในวันที่ 6 เดือนพฤษภาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เดือนพฤษภาคม 2565 โดยจะขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นต่อไป
นอกจากนี้ โอสถสภายังตอกย้ำความเป็นเลิศในการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการบริหารงานภายใต้ ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน จากการได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในดัชนีหลักทรัพย์ด้านความยั่งยืน และคว้ารางวัลในหลากหลายด้าน ทั้งการดำเนินธุรกิจ การตลาด การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Thailand Sustainability Investment: THSI) รางวัล “องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของประเทศไทย” ประจำปี 2564 (Thailand’s Top Corporate Brand 2021 Award) ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รางวัล “องค์กรที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย” ประจำปี 2021 (Best Companies to Work for in Asia 2021) จาก HR Asia รางวัล “องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ ระดับดีเด่น” ประจำปี 2564 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะเดียวกัน เอ็ม-150 แบรนด์ Flagship ของโอสถสภา ก็ยังได้รับความนิยมและครองใจผู้บริโภคจนได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “สุดยอดแบรนด์ทรงพลัง” (The Most Powerful Brands of Thailand) แบรนด์ทเวลฟ์ พลัส ได้รับรางวัล Superbrands 2021 สุดยอดแบรนด์ชั้นนำของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OSP กล่าวว่า “ปี 2565 เป็นปีที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย และสภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัว กลับมาสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้ง จึงต้องเตรียมแผนการไว้ให้พร้อม เพราะเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น บรรยากาศการบริโภคจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว หากใครเตรียมพร้อม เตรียมการณ์มาดี ก็จะได้เปรียบ สำหรับโอสถสภานั้น ได้มีการวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้มีความพร้อมและสามารถตอบรับสภาวะการฟื้นตัวของตลาดได้อย่างทันที”
แผนงานปี 2565 โอสถสภามุ่งเน้นบริหารด้านต้นทุนผ่านโครงการ Fast Forward 10X เพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโต ครอบคลุมทุกมิติ
1) การบริหารจัดการด้านต้นทุน 2) การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ 3) จัดการด้านกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว คล่องตัว 4) พัฒนาการบริหารบุคลากร ให้มีทักษะความรู้หลากหลาย มีความยืดหยุ่น ไม่หยุดเรียนรู้ และ 5) บริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมุ่งปรับ Ecosystem ขององค์กรให้พร้อมรับมือกับโอกาสและความท้าทายในอนาคต ได้แก่ สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ (Health & Wellbeing) ประชากรสูงอายุ พฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภค เช่น พฤติกรรมของเจเนอเรชั่นใหม่ๆ (เจนเอ็กซ์ เจนวาย เจนซี เจนอัลฟา) และการใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดการขายให้แข็งแรงมากขึ้น เน้นการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เอา Data มาช่วยในการตัดสินใจ ปรับการทำงานให้มี Efficiency มากขึ้น เร็วขึ้น ต้นทุนลดลง มองหา Inorganic Growth เพื่อต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพ ลดต้นทุน โดยล่าสุด บริษัทฯ สร้างโอกาสทางธุรกิจ ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างกลุ่มยันฮี บุกตลาดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชงกัญชา รวมถึงใช้เครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง ดูแลการจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวแบรนด์คารามูโจ้ และ สคอร์น ผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) และแม็คโคร รวมกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ
A2669